ร่างกม. 5 ฉบับ ให้อำนาจหน่วยงานดำเนินการทางวินัยผู้ออกจากราชการ ผ่านกฤษฎีกา-ครม.แล้ว
ครม.ผ่านร่างกฎหมาย 5 ฉบับ การดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ซึ่งออกจากราชการหรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ กรณีที่มีการกล่าวหาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ให้ดำเนินการทางวินัยต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ซึ่งออกจากราชการหรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่
1. รับทราบผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เรื่อง การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ซึ่งออกจากราชการหรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ซึ่งออกจากราชการหรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ดังนี้
1.1 กรณีที่มีการกล่าวหาหรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาไว้ก่อนออกจากราชการ ให้ดำเนินการทางวินัยต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ
1.2 กรณีที่มีการกล่าวหาหรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาภายหลังจากที่ออกจากราชการแล้ว ให้ดำเนินการทางวินัยต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ และต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ แต่ในกรณีที่เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งซึ่งสามารถดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องสอบสวนก็ได้นั้น จะต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ
1.3 กรณีที่มีการเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่ผู้ที่ออกจากราชการไปแล้ว เพราะเหตุกระบวนการดำเนินการทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ หรือองค์กรพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย หรือองค์กรตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือมีมติให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ แล้วแต่กรณี
1.4 กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) มีมติชี้มูลความผิดผู้ซึ่งออกจากราชการแล้ว การดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษแก่ผู้นั้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
1.5 การดำเนินการทางวินัยที่ส่วนราชการดำเนินการเองหรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูลความผิด ถ้าปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็ให้ 'งด' ลงโทษ
2. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับสำนักงาน ก.พ. พิจารณาวางแนวทางเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือข้อบังคับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ซึ่งออกจากราชการหรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับข้าราชการฝ่ายพลเรือน
สำหรับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ซึ่งออกจากราชการหรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ 5 ฉบับประกอบด้วย
1.ร่างพระราชบัญญัตติระเบียบราชการพลเรือน (ฉบับที่...) พ.ศ....
2.ร่างพระราชบัญญัตติระเบียบข้าราชการรัฐสภา(ฉบับที่...) พ.ศ....
3.ร่างพระราชบัญญัตติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ....
4. ร่างพระราชบัญญัตติระเบียบตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ....
5.ร่างพระราชบัญญัตติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ....
ส่วนขั้นตอนต่อไปเมื่อครม.เห็นชอบแล้ว จะมีส่งส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ซึ่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 5 ฉบับ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ ร่างพระราชบัญญัติ ดังกล่าว
ที่มาภาพ:https://www.ocsc.go.th