เปิดตัวคู่มือนิติวิทย์ชันสูตรศพตามหลักอิสลาม และอีบุ๊คคำพิพากษาคดีดังที่ปลายขวาน
ช่วง 1-2 เดือนมานี้ มีการเปิดตัวหนังสือที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรงถึง 2 เล่ม หนึ่งคือ "หนังสือแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม" และสองคือ "เปิดคำพิพากษาในสถานการณ์ฉุกเฉิน" โดยเล่มแรกเป็นหนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษเหมือนที่เราเห็นกันดาษดื่นตามแผงหนังสือทั่วไป ขณะที่เล่มหลังเป็น "อีบุ๊ค" หรือที่เรียกในภาษาทางการว่า "หนังสืออิเล็คทรอนิกส์" สอดรับกับสังคมสื่อสารออนไลน์
ชันสูตรศพตามหลักอิสลาม
เริ่มจากหนังสือเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพก่อน...คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดสัมมนาในโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่แนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม ที่มัสยิดกลางจังหวัดสงขลา พร้อมเปิดตัวหนังสือ "แนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม"
ในการแถลงเปิดตัวหนังสือ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ปาฐกาถานำ เรื่อง “กรอบแห่งบัญญัติศาสนาอิสลามในการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์” และมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
เพิ่มช่องทางแสวงหาความเป็นธรรม
นางอังคณา นีละไพจิตร อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่า เริ่มมาจาก กสม.ชุดแรกที่มี นายวสันต์ พานิช เป็นกรรมการ และรับผิดชอบดูแลเรื่องงานด้านความยุติธรรม นายวสันต์ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูลคนหายและศพนิรนาม กระทั่งมีข้อสงสัยว่า "ศพนิรนาม" คือ "คนหาย" หรือไม่ จึงสนใจทำเรื่องการขุดศพเพื่อพิสูจน์
แต่การชันสูตรศพของมุสลิมถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่สามนจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนในพื้นที่เสียชีวิตเมื่อใดก็จะทำพิธีฝังทันที เจ้าหน้าที่ไม่ทันได้ตรวจสอบสภาพศพด้วยซ้ำ ฉะนั้นในเหตุการณ์ที่มีประเด็นสงสัยว่าผู้เสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ จึงไม่ได้มีการเก็บวัตถุพยานจากศพไว้เลย ทำให้ที่ผ่านมากรณีลักษณะนี้จึงเกิดปัญหา ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ และผู้ตายเองก็ไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมจากใคร ต้องเป็นหน้าที่ของญาติที่ต้องทำ แต่ก็เกิดปัญหาเรื่องการชันสูตรศพดังกล่าว
"ถ้าชันสูตรศพได้ ก็จะมีช่องทางได้รับความยุติธรรมเพิ่มมากขึ้น ส่วนการจะหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้จริงหรือไม่นั้น มันรับประกันไม่ได้ แต่หากมีการชันสูตรศพแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ของคนที่ยังอยู่เพื่อหาความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต"
ดูงานชันสูตรศพ "อินโดฯ-มาเลย์"
นางอังคณา กล่าวอีกว่า แนวทางตามหนังสือเล่มนี้ คณะทำงานได้ไปดูงานในประเทศมุสลิมเพื่อนบ้านของเรา อย่างอินโดนิเซียและมาเลเซีย เพื่อให้รู้ว่าเขาทำกันอย่างไร ซึ่งก็พบว่าการชันสูตรศพในประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการค้นหาความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต และกระทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยอ้างถึงสมัยที่ศาสดายังมีชีวิต มีคนมาร้องเรียนว่ามีผู้ชายกลืนแหวนทองของเขาลงไปในท้องแล้วเสียชีวิต ศาสดาให้ขุดศพขึ้นมาแล้วผ่าท้องเอาแหวนทองคืนเจ้าของ ซึ่งศาสดามองว่าเรื่องความยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญ
"เพราะฉะนั้นการชันสูตรศพตามแนวทางของหนังสือที่ได้จัดทำขึ้นจึงสามารถทำได้เท่าที่จำเป็น เช่น กรณีถูกยิง ก็ผ่าเฉพาะจุดเพื่อนำกระสุนออกมาเป็นวัตถุพยาน จะได้นำไปใช้ในการพิสูจน์หาข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นกระสุนของใคร ยิงจากปืนกระบอกไหน ก็จะหาความเป็นธรรมได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของญาติผู้เสียชีวิต เพราะอิสลามยึดถือมากเรื่องการเคารพและปฏิบัติต่อศพเสมือนตอนเขายังมีชีวิต" นางอังคณา กล่าว
แนะเร่งทำความเข้าใจชาวบ้านในพื้นที่
นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า อยากให้การชันสูตรศพเป็นช่องทางให้ความเป็นธรรมกับการเสียชีวิตที่ไม่ปกติในพื้นที่ เช่น การเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ที่ผ่านมาความเข้าใจของชาวบ้านยังมองเรื่องการชันสูตรศพว่าเป็นการทำร้ายศพ จึงอยากให้มีการสร้างความเข้าใจให้มากขึ้นว่าการชันสูตรศพนั้นตามหลักการสามารถทำได้ตามความจำเป็น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริง 2 ด้าน ตัวกลางที่จะตัดสินได้คือหลักฐานในการชันสูตรศพตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ แต่ที่ผ่านมามีอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการตรงนี้
"ที่ผ่านมามีหลายคดีที่ไม่ได้ชันสูตรศพ อย่างกรณี 4 ศพที่หนองจิก (กรณีทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพที่ ต.ปุโละปะโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 29 ม.ค.2555 ปัจจุบันทางการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว 7.5 ล้านบาท) ผู้เสียชีวิตถูกฝังไปแล้วโดยไม่ได้มีการเก็บเขม่าดินปืนจากศพ ซึ่งหากมีการชันสูตรและเก็บหลักฐานเอาไว้ ก็จะสามารถคลี่คลายความจริงที่ทั้งสองฝ่ายนำข้อเท็จจริงมาโต้แย้งกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ในทางคดีเมื่อไม่มีการพิสูจน์ตามกระบวนการนี้ก็เรียกได้ว่าคดียังไม่สมบูรณ์"
นายอนุกูล กล่าวด้วยว่า การจะนำแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องสร้างความมั่นใจกับญาติของผู้เสียชีวิตว่าจะอำนวยความเป็นธรรมให้กับพวกเขาได้จริง เพราะบางครั้งยังไม่มั่นใจ เมื่อสงสัยว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ จะทำอย่างไรให้ญาติของผู้เสียชีวิตมั่นใจ เพราะแม้ผู้รู้ทั้งหลายจะมาให้ความเห็นว่าสามารถชันสูตรศพได้ แต่ท้ายที่สุดก็อยู่ที่การตัดสินใจของญาติผู้ตายว่าจะยอมหรือไม่ ฉะนั้นวันนี้ต้องให้ความรู้และทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้มากที่สุด
เปิดคำพิพากษาในสถานการณ์ฉุกเฉิน
อีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสือที่ "มูลนิธิผสานวัฒนธรรม" ร่วมกับ "สภาทนายความ" และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดทำเป็น "อีบุ๊ค" รวบรวมข้อมูลคดีต่างๆ ที่เป็น "คดียุทธศาสตร์" ของแต่ละโครงการในความรับผิดชอบขององค์กรดังกล่าวมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ ในชื่อ "เปิดคำพิพากษาในสถานการณ์ฉุกเฉิน"
สำหรับ "คดียุทธศาสตร์" หรือ Strategic litigation เป็นยุทธวิธีของงานด้านกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยกลุ่มทนายความสิทธิมนุษยชนมีความคาดหวังว่าจะนำคดีตัวอย่างบางคดีมาฟ้องร้องต่อศาลเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบยุติธรรม และสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างต่อสังคม เช่น การปรับเปลี่ยนระเบียบการให้เข้าเยี่ยมผู้ถูกกักตัวตามอำนาจกฎอัยการศึกอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของ นายยะผา กาเซ็ง (อดีตอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส) ซึ่งส่งผลให้จำนวนเรื่องร้องเรียนกรณีการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือการเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้ามามีบทบาทในการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว เป็นต้น
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงที่มาของอีบุ๊คเล่มนี้ว่า มาจากงานและคดีต่างๆ ที่มูลนิธิฯให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้และพื้นที่ชายขอบอื่นๆ ถือเป็นคดียุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรม และเป็นคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วทุกคดี มีทั้งคดีที่เป็นคดีอาญาและคดีแพ่ง เช่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง คดีตากใบ และคดีบุคคลสูญหาย อย่างกรณีคำสั่งไต่สวนการตายคดีตากใบ กลายเป็นประเด็นที่ตอกย้ำถึงความไม่สมบูรณ์ของการแสวงหาความจริงในขั้นตอนการไต่สวนการตาย จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนและผู้ให้ความสนใจต่อความเป็นธรรม ก่อความสะเทือนขวัญไปทั่วโลกที่คำสั่งศาลระบุแต่ว่าสาเหตุการตายเกิดจากการขาดอากาศหายใจ เป็นต้น
"ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้นำกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาคัดเลือกและฟ้องคดีต่อศาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และในกรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบของกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งนำมาซึ่งการเยียวยาด้านความยุติธรรมทางอาญาและทางแพ่งให้กับผู้ได้รับผลกระทบ โดยมุ่งหวังว่าผลลัพธ์ในทางคดีจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบและทัศนคติของบุคคลากรส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่อาจมีส่วนในการกระทำการละเมิดและในส่วนบุคคลากรด้านกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล และสื่อมวลชน"
พรเพ็ญ ยังบอกเล่าประสบการณ์ที่พบมาด้วยตนเองว่า การทำงานของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ฉุกเฉินและในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางความคิดไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายนัก หลายคดีเป็นการทำงานกับข้อมูลที่มีความอ่อนไหวทั้งก่อนฟ้องคดี ระหว่างการดำเนินคดี และหมายรวมถึงความปลอดภัยของผู้เสียหายที่ตกเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พยาน และญาติของผู้เสียหายด้วย นอกจากนั้นยังมีการพยายามนำหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาใช้เพื่อนำเสนอแนวทางในการเขียนคำฟ้อง คำอุทธรณ์ และการนำเสนอพยานในชั้นศาล
"แต่ทั้งหมดก็ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าประสบผลสำเร็จ เพราะผลลัพธ์และความสำเร็จของคดียุทธศาสตร์อาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในระยะเวลาอันใกล้ บางคดียังต้องรอการเข้าสู่การพิจารณาของศาลสูง หรือศาลที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาลทหาร เป็นต้น"
ใช้กฎหมายลดขัดแย้ง-แปลงเปลี่ยนเป็นสันติภาพ
พรเพ็ญ ยังกล่าวถึงเนื้อหาในหนังสือว่า คำพิพากษาที่นำมาเผยแพร่และบทความของนักกฎหมายในเชิงวิเคราะห์ที่บรรจุเป็นวิวาทะต่อกันและกัน จะช่วยกระตุ้นให้สาธารณชนให้ความสนใจกับงานด้านกฎหมายและนิติศาสตร์ในสถานการณ์ความขัดแย้งมากขึ้น ด้วยความหวังว่าบทบาทของนักกฎหมายที่ยึดมั่นต่อคุณธรรมและจรรยาบรรณของตน กับความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ จะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและแปลงเปลี่ยนเป็นสันติภาพที่ปราศจากความอยุติธรรมได้
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของอีบุ๊คเล่มนี้ พรเพ็ญ บอกว่า เมื่อจัดทำขึ้นก็เริ่มมีคนติดตามกันเยอะ เพียงแต่เนื้อหาของแต่ละคดีหากไม่ใช่นักกฎหมายอาจไม่เข้าใจหรือเข้าใจยากบ้าง เนื่องจากเป็นคดียุทธศาสตร์ เป้าหมายสำคัญที่ต้องการให้ได้รับรู้คือนักกฏหมายและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เมื่อได้อ่านหรือรับรู้อาจมองเห็นแนวทางในเรื่องราวของตนเองที่สามารถฟ้องร้องได้และทำได้สำเร็จ เป็นตัวอย่างให้ได้สู้กับความยากลำบากที่ประสบ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นมา
"เรื่องราวที่จัดทำขึ้นมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ บางเรื่องเขาบอกว่าคดีที่สิ้นสุดไปแล้วจะนำมาเผยแพร่อีกทำไม อย่างเช่นคดีตากใบ ถ้าอดทนอ่านจนจบจะเห็นว่ามีการตัดสินว่าขาดอากาศหายใจ (คำสั่งชันสูตรพลิกศพ ในกระบวนการไต่สวนการตาย) เรื่องที่นำมาเผยแพร่นั้นไม่ได้ทำให้คำตัดสินของศาลเสียหาย เนื่องจากการพิจารณาคดีของศาลเป็นการเปิดเผยอยู่แล้ว เป็นสิทธิ์ของผู้เสียหาย และเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้”
"สิ่งที่ทำอยากให้ถึงมือคนที่มีอำนาจตัดสินใจ ตอนนี้รู้สึกว่าข่าวสารที่ส่งไปกำลังแทรกซึมไปได้ เช่น ศ.ดร.คณิต ณ นคร (ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) เสนอให้ยกเลิกหรือทบทวน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ซึ่งเรื่องราวที่เกิดที่กรุงเทพฯ เป็นผลดีที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นทุกวัน หลายคดีที่ตามอยู่ยังไม่สิ้นสุด จึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ให้สังคมได้รับรู้ และเป็นคู่มือการเรียนของนักกฎหมายที่สนใจให้ได้เรียนรู้กฎหมายกับกระบวนการใช้กฎหมายจริงๆ"
ท้ายที่สุด พรเพ็ญวาดหวังว่าอีบุ๊คเล่มนี้จะช่วยให้สังคมได้รับรู้ถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นที่ชายแดนใต้และพื้นที่ชายขอบอื่นๆ กับเรื่องราวอึมครึมที่ได้รับการตัดสินจากศาลว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และหวังให้ความยุติธรรมได้เข้าถึงพี่น้องทุกหย่อมหญ้า...
ผู้สนใจคลิกอ่านได้ที่ www.voicefromthais.wordpress.com