การยกระดับ”โขน” เป็น”มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม”ของมนุษยชาติ
"...สรุปว่า การขึ้นทะเบียน ich ทั้ง 7 สาขาของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเรื่องภายในประเทศไทย เป็นการขึ้นทะเบียนเพื่อส่งเสริมและสืบสานมรดกภูมิปัญญาของชาติและท้องถิ่น ส่วน ich ที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนนั้น เป็นระดับนานาชาติ เป็นการประกาศให้โลกและนานาชาติได้รู้ว่าแต่ละประเทศมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญอะไรบ้าง ซึ่งก็คงจะได้รับความคุ้มครองตามเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนดต่อไป..."
จะขอเล่าประสบการณ์ของตัวเองจากที่ได้เคยช่วยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมขึ้นทะเบียน ICH ของไทยในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา
1. คำว่า ICH ย่อมาจาก Intangible Cultural Heritage เป็นคำที่ UNESCO คิดขึ้นเอง ไม่มีในสาระบบของวิชามานุษยวิทยาอันว่าด้วยการศึกษาวัฒนธรรมมาก่อน เพราะในวิชามานุษยวิทยา culture ก็คือ culture. แต่ยูเนสโกแยกเป็น tangible cultural heritage (tch) กับ intangible cultural heritage (ich). หลังจากที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลก (tch) ซึ่งคือโบราณสถานต่างๆ เมืองโบราณต่างๆ ในโลกไปแล้ว ก็มาถึง ich
2. จำได้ว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว สวช. (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ก็พยายามจะใช้คำว่า ich เป็นคำไทยว่า "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" หรือ "มรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพ" แต่นักวัฒนธรรมและนักวิชาการไทยทั้งหลายไม่เห็นด้วย เพราะคำไทยที่แปลแบบนั้นไม่ตรงกับความหมายของคำเท่าไรนัก ท้ายสุดจึงมีมติให้ใช้คำว่า "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" แทน ich ในภาษาอังกฤษ
3. หลังจากที่ยูเนสโกประกาศอนุสัญญา 2003 (2546) ว่าด้วยการ Safeguarding ICH ตอนนั้นประเทศไทยเราก็ยังลังเลว่าจะสมัครเป็นภาคีอนุสัญญานี้ดีหรือไม่ บางคนบอกว่า "ไม่ต้องสนใจยูเนสโกนักก็ได้" บางคนบอกว่า "เราเป็นอิสระจากยูเนสโกจะดีกว่า"
4. จำได้ว่าในที่ประชุม คณะกรรมการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาของชาติในขณะนั้นก็ไม่ได้สนใจยูเนสโกเท่าไร ทำนองว่า เราก็ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของเราไปก่อน อย่างน้อยก็เพื่อบันทึกไว้ว่าเรามีมรดกภูมิปัญญาที่น่าสืบทอดและส่งเสริมอย่างไร
5. อย่างไรก็ตาม ในการขึ้นทะเบียน เราก็แยกสาขาตามที่ยูเนสโกจำแนกเอาไว้ คือ
- สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน
- สาขาศิลปะการแสดง
- สาขางานช่างฝีมือเดิม
- สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
- สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล
- สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย
-สาขาภาษา
6. กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ขึ้นทะเบียน ich ของไทยทุกปีในช่วง พ.ศ. 2552-2558. ทุกสาขารวมกันได้ 318 รายการ
7. ในปีแรก พ.ศ. 2552 สาขาศิลปะการแสดง (รศ. ดร. ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์ เป็นประธานสาขา) ได้ขึ้นทะเบียนประเภทนาฏศิลป์และละคร - โขน หนังใหญ่ ละครชาตรี โนรา หนังตะลุง, และประเภทดนตรีและเพลงร้อง - สะล้อ ซอ ปิน ซอล้านนา หมอลำพื้น หมอลำกลอน ลำผญา เพลงโคราช ดิเกร์ฮูลู และวันนี้ โขน ซึ่งเป็นรายการที่ขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ในปีแรกได้รับการนำเสนอต่อยูเนสโกในฐานะ ich ของมนุษยชาติ
8. ในแต่ละสาขาจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดสรรมาจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาประชุมระดมสมองกันว่าในปีนั้นๆ ควรขึ้นทะเบียนรายการใด.
9. ข้าพเจ้าเองเป็นประธานสาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน ใน พ.ศ. 2553-2558 ได้ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 58 รายการ. ปี 2553 เช่น นิทานสังข์ทอง ศรีธนญชัย ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช บททำขวัญข้าว ตำราเลขยันต์, ปี 2554 เช่น ตำนานผาแดงนางไอ่ ตำนานนางเลือดขาว, ปี 2555 เช่น นิทานตาม่องล่าย ตำนานพระร่วง, ปี 2556 เช่น ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว, ปี 2557 เช่น เพลงแห่นางแมว, ปี 2558 เช่น นิทานพระรถเมรี ตำนานสงกรานต์
10. ขอยกตัวอย่างรายการขึ้นทะเบียนในสาขาอื่นๆ ด้วย
- สาขางานช่างฝีมือเดิม (ศ. วิบูลย์ ลี้สุวรรณ เป็นประธาน) มีทั้งประเภทผ้า เช่น ซิ่นตีนจก ผ้าแพรวา ประเภทจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องไม้งานสลัก เช่น งานช่างแทงหยวก เป็นต้น
- สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ( ศ. สุกัญญา สุจฉายาSukanya Sujachayaเป็นประธาน) ขึ้นทะเบียนภูมิปัญญาของคนไทยทางด้านอาหารและโภชนากาา การแพทย์พื้นบ้าน การจัดการทรัพยากร เช่น สำรับอาหารไทย น้ำปลาไทย ผัดไทย ต้มยำกุ้ง น้ำพริก ส้มตำ นวดไทย โหราศาสตร์ไทย เป็นต้น
- สาขาพิธีกรรมและเทศกาล (อาจารย์พะนอม แก้วกำเนิด เป็นประธาน) มีรายการขึ้นทะเบียน เช่น ประเพณีทำขวัญข้าว เทศน์มหาชาติ แห่ผ้าขึ้นธาตุ บุญบั้งไฟ พิธีไหว้ครู เป็นต้น
- ส่วนสาขาภาษา (ศ. สุวิไล เปรมศรีรัตน์ เป็นประธาน) จะเลือกขึ้นทะเบียนภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญหายก่อน เช่น ภาษาชอง ภาษามลาบรี ภาษาเลอเวอะ ภาษาญ้อ เป็นต้น
11. คำส่วนใหญ่ที่ขึ้นทะเบียนมักมี "ชุมชนรับรอง" และในทุกๆ ปีในงานประกาศการขึ้นทะเบียนจะมี "เจ้าของชุมชน" มาด้วย เช่น ชุมชนที่ทอผ้าตีนจก ชุมชนที่ทำผ้าย้อมคราม เป็นต้น
12. ในระดับประเทศ รายการใดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ทางกรมส่งเสริมก็จะให้งบประมาณแก่ชุมชนไปจัดกิจกรรมที่จะเป็นการสืบสานสืบทอดต่อ. การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาจึงมีผลทำให้ "เจ้าของชุมชน" หรือ "เจ้าของวัฒนธรรม" ภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของตน
13. ต่อมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้เสนอร่าง "พรบ. ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" และได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 นับเป็นพัฒนาการหลังจากการขึ้นทะเบียนต่อเนื่องมาในช่วง 2553-2558.
14. อนึ่ง ประเทศไทยอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ มิอาจอยู่โดดเดี่ยวได้. ประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา ก็ชิงขึ้นทะเบียน ich กับยูเนสโก.
ท้ายที่สุดประเทศไทยก็เลยต้องยื่นเรื่องขอเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา safeguarding ich ของยูเนสโก และเพิ่งเข้าเป็นภาคีสมาชิกเมื่อ พ.ศ 2559 นี้เอง และรีบขอขึ้นทะเบียน ich ของไทยเพื่อยกระดับให้เป็นที่ยอมรับว่า ich ของไทยเป็น ich of humanity โดยเริ่มที่คำว่า "โขนไทย"
และทั้งหมดนี้คือที่มา กว่าจะมาถึงการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ให้ Khon, masked drama of Thailand, เป็น an ICH of humanity ในวันนี้
15. เนื่องจาก อ. สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ Savitri Suwansathit ได้บอกว่า ยูเนสโกจะขึ้นทะเบียน ich ปีละ 50 รายการ และให้แต่ละประเทศขึ้นทะเบียนได้ปีละ 1 รายการเท่านั้น. ปีหน้า ประเทศไทยเตรียมที่จะขอขึ้นทะเบียนคำว่า "นวดแผนไทย" Thai Massage และ คำว่า "โนรา" ในปีถัดไป
สรุปว่า การขึ้นทะเบียน ich ทั้ง 7 สาขาของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเรื่องภายในประเทศไทย เป็นการขึ้นทะเบียนเพื่อส่งเสริมและสืบสานมรดกภูมิปัญญาของชาติและท้องถิ่น ส่วน ich ที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนนั้น เป็นระดับนานาชาติ เป็นการประกาศให้โลกและนานาชาติได้รู้ว่าแต่ละประเทศมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญอะไรบ้าง ซึ่งก็คงจะได้รับความคุ้มครองตามเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนดต่อไป
ป.ล. แต่ที่เห็นในสื่อต่างๆ และในข่าว นสพ. ก็ยังเรียก ich ว่า "มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" (ตามภาษาอังกฤษ) อยู่ หรือเรียกว่า "โขน เป็น มรดกโลก" ก็มี. คงจะมีแต่นักวิชาการที่พิถีพิถันกับการใช้คำให้ถูกต้องกระมังคะ!
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ศิราพร ณ ถลาง
ที่มา : Siraporn Nathalang