สัมผัสเสน่ห์ ‘นัท-ชโยดม’ มิสเตอร์เกย์ 2019 กับมิติขับเคลื่อนสิทธิ LGBT
“เวลาเจอเพื่อน ๆ จะถูกแซวว่า ว่าไงว่าที่มิสเตอร์เกย์ฯ เรามองว่า ไม่ใช่ เพราะทุกคนที่มาสมัครล้วนแต่เป็นว่าที่มิสเตอร์เกย์ทั้งนั้น ทั้งนี้ ใครถามจะตอบเหมือนกันเป็นครั้งที่แสนว่า ใครได้ก็สมมง เพราะทุกคนดูดีในแบบฉบับของตัวเอง เวทีนี้ไม่ได้ต้องการหาคนหล่อ ต่อให้คุณออกตุ๊ด ถือว่าสวยในแบบของเขา หรือคุณผิวคล้ำ ถือว่าสะอาดเนียนในแบบของเขาเช่นกัน ดังนั้น กรณีที่เอาภาพลักษณ์ภายนอกเป็นเกณฑ์ ทุกคนถือว่าดูดีในแบบฉบับของตนเอง”
รูปร่างสูงโปร่ง...ผิวขาวดังหยวกกล้วย...ดวงตากลมเล็ก...ริมฝีปากบาง ชมพู
ทั้งหมดที่กล่าวถึงคือรูปลักษณ์ของผู้ชายที่ชื่อ ‘นัท’ ชโยดม สามิบัติ หนุ่มวัย 35 ปี เจ้าของตำแหน่ง มิสเตอร์เกย์เวิลด์ไทยแลนด์ 2019 ซึ่งจะเป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมประกวดในเวทีมิสเตอร์เกย์เวิลด์ ณ ประเทศแอฟริกาใต้ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
‘อิศรา’ เป็นสื่อสำนักแรกที่นัทให้เกียรติสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟหลังจากได้รับตำแหน่ง โดยเรานัดเจอกันในร้านกาแฟแห่งหนึ่งใจกลางเมือง
เขามาในชุดยูนิฟอร์ม ลุคสบาย ๆ แต่ดูภูมิฐาน เห็นรอยยิ้มประดับบนใบหน้ามาแต่ไกล ท่าทาง ลีลาการพูด เป็นกันเอง ไม่ถือตัว นี่กระมังที่น่าจะเป็นคุณสมบัติหนึ่งทำให้เขาคว้าชัยในการประกวดครั้งนี้
นัทเป็นคน จ.มหาสารคาม จบการศึกษาจากระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ก่อนจะบินไปเรียนต่อที่ประเทศสวีเดน 6 ปี ปัจจุบันเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
“หลายคนเข้าใจผิดว่า มิสเตอร์เกย์ฯ เป็นเวทีการประกวด แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะเวทีนี้คือการทำงานในฐานะเอ็นจีโอ เฟ้นหาคนอยากทำอะไรสักเรื่องหนึ่ง อาสามาทำ เหมือนจิตอาสา ไม่มีอะไรตอบแทน”
นั่นคือประโยคแรกที่ ‘นัท’ อธิบายจุดประสงค์ของการจัดประกวดเวทีนี้ ซึ่งแน่นอน หลายคนยังเข้าใจว่า มิสเตอร์เกย์ฯ เป็นเวทีการประกวด เฟ้นหาหนุ่มหล่อสวย มากความสามารถ มีเงินรางวัลเป็นเดิมพัน และผลงานที่จะตามมา เฉกเช่นการประกวดในเวทีอื่น ๆ หากว่าสำหรับเขากลับไม่คิดเช่นนั้น
นัท บอกเล่าความรู้สึกหลังจากรับตำแหน่ง ถ้าคิดว่าชีวิตเปลี่ยนก็เปลี่ยน แต่ย้ำว่า ตัวเองไม่ใช่ม้ามืด ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ตัวเก็ง
“เคยเรียน รด.มั้ย เราเป็นเด็กกลางแถว ไม่มีทางโดนซ่อม แต่เด็กหัวแถวและปลายแถวจะตายตลอด ดังนั้น เราจึงเป็นคนกลาง ๆ ไม่ใช่ตัวเก็งที่หล่อสุดหรือเก่งสุด
เราเพียงคิดว่า ผ่านออดิชั่น สนุกก็ทำต่อ มองโจทย์ต่อไป คืออะไร ทำได้ ก็ทำต่อ ถามว่า ชีวิตเปลี่ยนมั้ย ก็เหมือนเดิม งานประจำต้องทำ และเวทีนี้เป็นจิตอาสา ดังนั้นระหว่างทางที่มีการทำกิจกรรม ถือเป็นการเก็บเกี่ยวความรู้
เขาเปรียบเทียบว่า เราเหมือนนักศึกษาเสียค่าเทอมเท่ากัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครอ่านหนังสือมากกว่า ได้ความรู้เยอะกว่า ซึ่งอันนี้ส่วนหนึ่งได้นำมาสนับสนุนตัวเอง ฉะนั้นไม่ได้ความว่าชีวิตจะเปลี่ยน แต่ต้องทำหน้าที่ของเรา
“จะเปลี่ยนในแง่ที่ว่า วันหยุดแทนที่เราจะนอนดูซีรีส์ อาจต้องอ่านหนังสือมากขึ้น เพื่อให้ได้ความรู้ที่ควรจะรู้ หรือมีงานที่ไปช่วยได้ก็ไปช่วย หรือมีบ้างมีคนเข้ามาทัก แต่ไม่ได้เปลี่ยนเลยชัดเจน”
ไม่คิดว่าเป็นตัวเก็ง
อย่ากระนั้นเลย กูรูต่างพูดกันว่า นัท ชโยดม เป็นตัวเก็ง : มิสเตอร์เกย์ฯ ตอบว่าทุกคนมองภาพคาแรกเตอร์ของเวทีต้องเฟ้นหาคนหล่อ เก่ง รูปร่างดี ซึ่งวันแรกตัวเองสนุกและตื่นเต้นด้วยซ้ำไป เพราะมีโอกาสได้เจอกับนายแบบที่เราเคยอ่านในหนังสือ
“ดีจังเลย สนุก ต่อไปจะได้ทำงานกับน้อง ๆ กลุ่มนี้”
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้คิดว่า ตัวเองจะเป็นตัวเก็ง มีโจทย์ก็ทำต่อ และไม่ได้คิดถึงเหมือนเข้าบ้านเอเอฟ (อะคาเดมี แฟนเทเชีย) ตัวเองต้องรอด แต่กลับคิดตัดก็ตัด ถ้าเผื่อไปได้แค่นี้ก็จบแค่นี้ จริง ๆ บนเวทีคิดแค่นี้ ผ่านก็ยืนต่อ ไม่ผ่านก็เชียร์เพื่อน
ทั้งนี้ ใครที่ติดตามชมการประกวด จะทราบว่า นอกจากนัทจะได้รับรางวัลชนะเลิศแล้ว เขายังได้รับรางวัลชุดว่ายน้ำอีกด้วย
“เราตั้งใจในรอบชุดว่ายน้ำมาก” เขาเน้นย้ำกับเรา ก่อนอธิบายเหตุผลว่า ก่อนหน้านี้ในการถ่ายรูปโปรไฟล์กองประกวด ตัวเองทำได้แย่มาก เพราะเป็นคนถ่ายรูปไม่ขึ้น แล้วตอนถ่ายนั้นมีผู้เข้าประกวดทั้งหมด 31 คน แต่ละคนจะได้เวลา 3-5 นาที บางคนขึ้นไปยืนได้รูป แต่เราต้องบิดซ้าย บิดขวา ทำนู้นทำนี่ ถูกโค้ชชิ่งตลอด
“ทุกคนต้องมาเหนื่อยกับเรา มารอเรา ทำให้รอบชุดว่ายน้ำต้องใช้ความตั้งใจมาก ไม่ใช่เพราะอยากสวยหรือชนะ แต่เพราะไม่อยากให้ทุกอย่างมาหยุดรอที่เรา แม้จะมีคนชื่นชมว่า เดินรอบชุดว่ายน้ำดี แต่ความจริงแล้ว ซ้อมเดิน หยุด เดิน หยุด เหมือนรับปริญญา เพราะทราบดีว่า ไม่ใช่งานที่เราถนัด”
ทำเรื่องใหญ่ ใจต้องมั่นคง
นัท ยังเผยเคล็ดลับหุ่นลีน บาดหัวใจหลายคนว่า หุ่นดีแบบนั้นได้ ทำเรื่องใหญ่ ใจต้องมั่นคง ดังนั้นเมื่อตัดสินใจเข้าประกวด ได้ค้นหาข้อมูลในเฟซบุ๊ก หาเทรนเนอร์สอนฟิตหุ่น โดยยื่นข้อเสนอไปว่า
“มีเงินเท่านี้ ดังนั้นจะมานัดเจออีเรื่อยเฉื่อยแฉะ แล้วคิดเงินไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ มีเงินเท่านี้ เจอได้เท่านี้ครั้ง ครั้งหนึ่งเท่านี้ชั่วโมง และถ้าออกตารางให้ทำ วันหนึ่งทำได้เท่านี้ เพราะมีงานประจำ”
เทรนเนอร์กำหนดตารางมาให้ เราก็ทำ จนผลลัพธ์ออกมาดี ที่เป็นเช่นภาพเห็น เพราะส่วนตัวเป็นคนทำอะไรจะตั้งใจ แล้วค่อนข้างสำเร็จ
“ช่วงไม่เก่งก็มี ตอนเข้าเรียนวิศวะ ปรากฎว่า เละมาก เพราะมัวแต่สนุก ซึ่งไม่ใช่เรียนไม่ได้ แต่เหมือนเด็กสอบเอ็นทรานซ์พอเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว ต่อไปคิดว่า จะทำได้แค่พอผ่าน แทนที่จะได้เกียรตินิยม”
แล้วคิดว่าสิ่งใดที่คณะกรรมการตัดสินใจให้นัทชนะเลิศ เขาออกตัวก่อนว่า เป็นคำถามที่ไม่อยากตอบ
“เวลาเจอเพื่อน ๆ จะถูกแซวว่า ว่าไงว่าที่มิสเตอร์เกย์ฯ เรามองว่า ไม่ใช่ เพราะทุกคนที่มาสมัครล้วนแต่เป็นว่าที่มิสเตอร์เกย์ทั้งนั้น ทั้งนี้ ใครถามจะตอบเหมือนกันเป็นครั้งที่แสนว่า ใครได้ก็สมมง เพราะทุกคนดูดีในแบบฉบับของตัวเอง
เวทีนี้ไม่ได้ต้องการหาคนหล่อ ต่อให้คุณออกตุ๊ด ถือว่าสวยในแบบของเขา หรือคุณผิวคล้ำ ถือว่าสะอาดเนียนในแบบของเขาเช่นกัน ดังนั้น กรณีที่เอาภาพลักษณ์ภายนอกเป็นเกณฑ์ ทุกคนถือว่าดูดีในแบบฉบับของตนเอง”
ส่วนเรื่องความสามารถ ทุกคนเหมือนเท่าเทียมกันหมด ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าใครใน 31 คน ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย จับใครมาทำงานได้หมด
เพียงแต่ว่า ตอนนั้นคณะกรรมการ อาจมองว่า ใครพร้อมทำงานได้มากกว่า “เหมือนคณะกรรมการ 13 คน เข้าไปอยู่ในไลน์บุฟเฟต์ของโรงแรม อะไรถูกกินมากที่สุด แสดงว่า ทุกคนชอบอันนั้น แต่ถามว่าอร่อยสุดหรือไม่ อาจจะไม่ก็ได้”
รณรงค์ยอมรับ LGBT ในครอบครัว
อีกหนึ่งจุดเด่นของการประกวดเวทีนี้ คือ ผู้เข้าประกวดจะต้องเสนอแคมเปญรณรงค์ ซึ่งนัทเสนอภายใต้ชื่อแคมเปญที่ว่า #LoveYourGaySon รณรงค์การยอมรับ LGBT ในครอบครัว
นัท เท้าความว่า ปกติผู้ที่มาสมัครเข้าประกวดจะทราบอยู่แล้วว่าจะต้องเตรียมโจทย์นำเสนอแคมเปญรณรงค์ แล้วทุกคนจะมาพร้อมกับปัญหา
เช่น ‘เจส’ เจษฎา ปลอดแก้ว รองชนะเลิศอันดับ 1 ประสบกับปัญหาความไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน จึงได้หยิบยกแคมเปญ Pride at Work การยอมรับและปฏิบัติเท่าเทียมในที่ทำงานมานำเสนอ แล้วได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทนี้ไปครอง
ส่วนตัวเขาเองนั้น แคมเปญไม่ได้มีจุดตั้งต้นจากการมีปัญหา “เรามาจากครอบครัวที่พ่อแม่รักในความเป็นตุ๊ดของเรา และเราไม่ได้รู้สึกว่า โดนเพื่อนแกล้ง หรือโดนครูตี เมื่อครอบครัวรับได้ ทุกอย่างเลยราบรื่น”
นัทกล่าวต่อว่า เมื่อเข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีผู้ชายเข้าเรียนมาก และทุกคนต้องเล่นกีฬา 2 ชนิด ไม่เคยมีปัญหาเลย รุ่นพี่ดูแลเราแบบให้เกียรติ อีกอย่างเราทำอะไรกับเพื่อนผู้ชายทั่วไป ไม่ได้ต้องไปหลบในร่มอย่างที่คิด
พอไม่มีปัญหา จึงคุยกับพี่ ๆ เมนเทอร์ คิดถึงโมเม้นท์มีคนมาแกล้งเรา เมื่อก่อนมีบ้างผู้ใหญ่ล้อว่าตุ๊ด ซึ่งพ่อแม่เราไม่ยอม จึงรู้สึกว่า นั่นอาจเป็นปัญหาแค่นิดเดียว
อย่างไรก็ตาม ถามกลับว่า แล้วคนอื่นที่ไม่มีพ่อแม่ปกป้องล่ะ ทำอย่างไร
“เรากลับไปอ่านข้อมูล อยากทำเรื่องนี้ เพราะคนมักคิดเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องเล็ก แต่จากการอ่านพบว่า การมีพ่อแม่ไม่ยอมรับ ส่งผลกระทบด้านสุขภาพกาย เด็กมีสิทธิป่วยบ่อย สุขภาพจิต รวมไปถึงเรื่องความเชื่อ ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย มีสิทธิติดยาเสพติดได้”
ทำให้เขารู้สึกว่า เรื่องครอบครัวไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่ และหันมามอง ก่อนที่จะออกมาเป็นแคมเปญ คิดว่าทุกคนทำการบ้านเยอะ ผมอ่านข้อมูล ถามเพื่อน ๆ ปรากฎว่า หลายคนมีคนรู้ทั้งประเทศว่าเป็นตุ๊ด แต่เวลากลับบ้านต้องแอ๊บ แล้วความสุขในชีวิตมันจะอยู่ตรงไหน เพื่อนในที่ทำงานยอมรับ แต่กลับบ้านกลับกลายเป็นคนละคน ต้องมาทุกข์กับพ่อแม่ จึงคิดทำเรื่องนี้ดีกว่า เพื่อต้องการสื่อสารกับพ่อแม่โดยตรง
‘กม.คู่ชีวิต’ ยังไม่สื่อถึงความเท่าเทียม
นอกจากนี้ นัทยังแสดงทัศนะถึง ‘กฎหมายคู่ชีวิต’ ในมุมบวกต้องขอบคุณรัฐบาลที่พยายามผลักดัน แต่ส่วนตัวแล้วมองว่า กฎหมายยังไม่ดีพอ
“กฎหมายคู่ชีวิตเริ่มต้นทำจากคนไม่เข้าใจ เมื่อทำออกมา กลับกลายเป็นเหมือนตีกรอบเราเข้าไปอีก ซึ่งสิ่งที่เราต้องการคือความเท่าเทียม อย่ามาแยกกลุ่ม จึงไม่อยากรับร่างฉบับนี้ เพราะถ้ารับไปแล้ว เชื่อว่าจะไม่โดนแก้ไขอีกเลย แล้วเราจะต้องอยู่ในกรอบนี้ไปโดยตลอด”
เขายกตัวอย่างเรื่องมรดกรู้สึกเฉย ๆ แต่ซีเรียสอย่างเช่นกรณีที่เราไม่สามารถตัดสินเรื่องการรักษาพยาบาลหรือการทำศพของแฟนได้ ลองคิดสภาพสิ! มีแฟนแล้วอยู่ด้วยกันจนคนหนึ่งตายจากไป จะฝังหรือเผาต้องกลับไปถามพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ของแฟนอาจตายแล้ว เรื่องพวกนี้อ่อนไหวยิ่งกว่าเรื่องมรดก ถึงย้ำว่า มาจากการทำโดยคนไม่เข้าใจและหวาดระแวง
ตลอดเกือบ 1 ชั่วโมง ที่เราได้พูดคุยกับ ‘นัท ชโยดม’ สัมผัสได้ถึงความตั้งใจในการเข้ามาประกวด เพื่ออาสาขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศในมิติต่าง ๆ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ก่อนจะลาจากกัน เขาโปรยยาหอมให้ชื่นใจว่า ยังโสดสนิท !!!.