ปรับแต่งพันธุกรรมกับการติดเชื้อเอชไอวี
"...จากความรู้ที่เรามีอยู่นั้น เคสที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้วพบว่าต่อมาตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีอีกเลยจนถึงปัจจุบันมีแค่รายเดียวคือ ผู้ป่วยที่เบอร์ลินซึ่งได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้บริจาคที่มียีน(พันธุกรรม)แบบ CCR5 Δ32/Δ32 (อ่านว่า ซีซีอาร์ไฟฟ์ เดลต้า 32) ซึ่งทำให้เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยนี้มีคุณลักษณะพิเศษ และป้องกันเค้าจากการติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่เซลล์ โดยเคสนี้เราถือว่าเป็น "Sterilizing cure" หรือหายจากการติดเชื้อ ตราบใดที่ยังไม่ตรวจพบว่ามีไวรัสกลับมา แต่จริงๆ แล้วก็ยังหาหนทางพิสูจน์ไม่ได้ว่ายังมีเซลล์ที่มีเชื้อหลบหรือหลงเหลืออยู่ในร่างกาย..."
จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องนี้ แต่มีเหตุการณ์หลายอย่างที่นำพามาให้เอื้อนเอ่ยถึงจนได้ อยากรู้ไหมว่าเพราะอะไร?
เริ่มแรกเมื่อสองวันก่อน ผมขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียนเสร็จแล้วพาภรรยาไปส่งที่ทำงาน ระหว่างที่จอดรถเรียบร้อย ก็มีข่าวในวิทยุเล่าเรื่องจากเมืองจีนที่พยายามปรับแต่งพันธุกรรมให้ทารกหลอดแก้วมีคุณลักษณะที่จะไม่ติดเชื้อเอชไอวี
ภรรยาถามผมว่าเป็นไปได้เหรอ? ผมอึ้งไปชั่วครู่ เพราะยังไม่ทราบรายละเอียดของข่าวเมืองจีนนี้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ และคิดในใจว่าการดัดแปลงพันธุกรรมตัวอ่อนของมนุษย์นั้นไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์เพราะติดปัญหาหนักหน่วงในประเด็นจริยธรรมทางการแพทย์ และผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง
จากความรู้และประสบการณ์ที่ดูแลรักษาคนไข้ที่ติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์มาราวยี่สิบปี ผมได้ตอบภรรยาไปว่า ถ้าเดาเอา เมืองจีนคงจะพยายามดัดแปลงพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับ CCR5 receptor เพราะเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการติดเชื้อเอชไอวีในมนุษย์
และผมก็เล่าต่อไปว่า เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงบทความที่เขียนไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว (2017) เพื่อตอบข้อสงสัยของหลายต่อหลายคนว่า จริงๆ แล้วคนที่ติดเชื้อเอชไอวีนั้นจะหายจากการติดเชื้อได้ไหม?
เราจบบทสนทนากันประมาณนั้น
แต่วันนี้ตอนเย็น ผมได้รับการชวนจากอาจารย์ที่เคารพว่าน่าจะเขียนเรื่องการดัดแปลงพันธุกรรมของเมืองจีนนี้ เพราะสังคมกำลังให้ความสนใจ พร้อมกับท่านได้ส่งลิ้งค์บทความของเพจชีววิทยาเกี่ยวกับเรื่องเมืองจีนนี้มาให้อ่านด้วย
ผมรับปากท่านว่าจะลองดูว่าจะเขียนอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในสังคมได้อย่างเหมาะสม
พออ่านบทความที่เพจชีววิทยาเค้าเขียน ผมพบว่าเค้าเขียนได้ดีมากอยู่แล้ว เพราะชี้ให้เห็นถึงความเป็นมา และอธิบายประเด็นเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดัดแปลงพันธุกรรมได้อย่างครอบคลุม
ประกอบกับการที่ดูวันเวลาแล้วพบว่าอีกสองวันก็จะถึงวันเอดส์โลก (World AIDS Day) 1 ธันวาคมของทุกปี จึงตัดสินใจถือโอกาสนำบทความที่เคยเขียนนั้นมาเล่าให้ฟังเสียเลย เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประเด็นคำถามที่ว่า "ติดเชื้อเอชไอวีแล้วจะหายได้ไหม?"
คำถามนี้โดนถามจากผู้ป่วยบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
จากความรู้ที่เรามีอยู่นั้น เคสที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้วพบว่าต่อมาตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีอีกเลยจนถึงปัจจุบันมีแค่รายเดียวคือ ผู้ป่วยที่เบอร์ลินซึ่งได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้บริจาคที่มียีน(พันธุกรรม)แบบ CCR5 Δ32/Δ32 (อ่านว่า ซีซีอาร์ไฟฟ์ เดลต้า 32) ซึ่งทำให้เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยนี้มีคุณลักษณะพิเศษ และป้องกันเค้าจากการติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่เซลล์ โดยเคสนี้เราถือว่าเป็น "Sterilizing cure" หรือหายจากการติดเชื้อ ตราบใดที่ยังไม่ตรวจพบว่ามีไวรัสกลับมา แต่จริงๆ แล้วก็ยังหาหนทางพิสูจน์ไม่ได้ว่ายังมีเซลล์ที่มีเชื้อหลบหรือหลงเหลืออยู่ในร่างกายตั้งแต่ก่อนปลูกถ่ายไขกระดูกหรือไม่ หรือทางการแพทย์เราเรียกว่าเซลล์ที่เป็น latent reservoir
แต่ที่เคยออกข่าวกันครึกโครม เช่น เด็กแรกเกิดในมิซซิซิปปี้ที่ติดเชื้อจากแม่แล้วได้ยาต้านไวรัส จนตรวจไวรัสไม่พบ เลยทำให้หลายคนดีใจว่ามีโอกาสหาย แต่สุดท้ายก็มาตรวจพบไวรัสกลับมา ณ เดือนที่ 26 และมีเคสอีกสองรายในบอสตันที่ติดเชื้อและได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก หลังลองหยุดยาต้านไวรัสไปแล้ว พบว่าไวรัสก็กลับมา ณ เดือนที่ 3 และ 8 ตามลำดับ กลุ่มนี้เราเรียกว่า "ART-free remission" หรือกลุ่มที่ตรวจไวรัสไม่พบและไม่ต้องได้รับยาต้านไวรัสเพียงช่วงเวลาหนึ่ง
ในขณะที่มีอีกกลุ่มที่มีลักษณะที่ร่างกายสามารถกดจำนวนไวรัสให้อยู่ในระดับที่ตรวจไม่พบโดยวิธีมาตรฐาน แต่พิสูจน์ได้ว่ายังมีอยู่ มีรายงานว่าพบในบางคนที่ระบบภูมิต้านทานของเค้าจัดการกับไวรัสได้เอง หรือในกลุ่มที่เคยได้รับยาต้านไวรัสตั้งแต่เพิ่งเริ่มรับเชื้อเข้ามา กลุ่มเหล่านี้เราเรียกว่า "Functional cure"
3 กลุ่มข้างต้นคือ ลักษณะการหายจากการติดเชื้อเอชไอวี โดยมีความหมาย/คำจำกัดความที่แตกต่างกันไปในวงการแพทย์ปัจจุบัน
ความยากของการรักษาเอชไอวีให้หายขาดจริงๆ ก็คือ การที่ไวรัสบางส่วนฝังยีนเข้าไปในเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 แล้วสงบนิ่ง หรือที่เราเรียกว่า latent infection นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เราจะทราบกันดีในปัจจุบันว่า การติดเชื้อเอชไอวีนั้นถือว่าเป็นโรคติดเชื้อที่รักษาได้ แม้ไม่หายขาด เราประสบความสำเร็จในการทำให้สังคมเริ่มเข้าใจได้มากขึ้นว่า เอชไอวี/เอดส์นั้นเหมือนโรคเรื้อรังทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น เบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง ฯลฯ โดยต้องการการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง กินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ ผู้ติดเชื้อก็จะมีสุขภาพแข็งแรงดีเหมือนคนอื่นๆ สามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างปกติและมีประสิทธิภาพ ไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่จะต้องมีการตั้งแง่รังเกียจ หรือหวาดกลัว และไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่ที่ทำงานต่างๆ จะต้องมาใช้การบังคับตรวจเลือดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณารับเข้าทำงาน เพราะจะกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน นี่คือหลักการที่สากลโลกยอมรับกัน แต่เชื่อไหมว่า จากการที่ผมไปช่วยทางสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในด้านสาธารณสุข ก็พบว่า ยังมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจเรื่องนี้อยู่เนืองๆ ดังนั้นเราจึงหวังว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบกันเสียที
นอกจากนี้ คงจะดีที่สุด หากทุกคนในสังคมจะหมั่นดูแลตนเอง ป้องกันมิให้ตัวเองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี ความเสี่ยงที่ว่านั้นคือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การมีคู่นอนมากหน้าหลายตา การใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้น การรับเลือด และการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
จะป้องกันอย่างไรล่ะ...ตรงไปตรงมาครับ รักเดียวใจเดียว มีเพศสัมพันธ์ก็ควรป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ชั้นเดียวพออย่าใส่หลายชั้นเพราะจะทำให้ฉีกขาดง่ายขึ้น หากเป็นชายรักชาย ก็ควรใช้ถุงยางทุกครั้ง และ/หรือรับประทานยาต้านไวรัสป้องกันการติดเชื้อก่อนมีพฤติกรรมเสี่ยง อย่าริลองยาเสพติดใดๆ และระมัดระวังการรับเลือดจากแหล่งที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนคุณแม่ที่พลาดพลั้งติดเชื้อ เวลาตั้งครรภ์ก็ควรที่จะรับยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปสู่ลูก
หากใช้หลักปฏิบัติดังที่กล่าวมา ก็จะป้องกันตัวเราและคนที่เรารักได้ครับ ไม่ใช่แค่เรื่องเอชไอวี/เอดส์นะ แต่รวมถึงโรคอื่นที่มักติดต่อได้ในทางเดียวกัน ทั้งไวรัสตับอักเสบบี ตับอักเสบซี ซิฟิลิส ฯลฯ
ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง พร้อมฉลองคริสต์มาสและปีใหม่ครับ
ด้วยรักต่อทุกคน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Bumrungrad International Hospital