รพ.เลิดสิน แจงจ่ายเยียวยาแม่หมันหลุดท้อง ผ่านกองทุนประกันสังคม
รพ.เลิดสิน แจงจ่ายเยียวยาแล้วผ่านกองทุนประกันสังคม หลังถูกแม่ลูก 4 โวยทำหมันแล้วยังท้อง แพทย์ชี้กรณีทำหมันหลุด เกิดขึ้นได้ทั่วโลก ร่างกายเกิดการปรับตัวทำให้ท่อรังไข่มาต่อกันใหม่ จึงเป็นเหตุสุดวิสัย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 น.ส.น้ำมนต์ บุญเสน่ห์ ชาวบ้านเขตคลองเตย ร้องเรียนกับสื่อมวลชน กรณีทำหมันกับแพทย์จากโรงพยาบาลเลิดสิน กรุงเทพฯ แต่ปรากฎว่าหลังผ่านไปประมาณ 1 ปี กลับตั้งครรภ์ ใหม่ โดยไม่ได้รับการเยียวยาจากโรงพยาบาล
น.ส.น้ำมนต์ เปิดเผยว่า หลังจากคลอดลูกคนที่ 3 ได้ทำหมันกับโรงพยาบาล แต่ปรากฎว่าผ่านไปประมาณปีเศษกลับตั้งครรภ์ลูกคนที่ 4 ขึ้นมาอีก โดยปัจจุบันคนที่ 4 ได้คลอดออกมาแล้ว 5 เดือนแล้ว แต่ทางโรงพยาบาลกลับปฏิเสธเยียวยาตามที่เคยรับปากไว้
“ในช่วงแรกที่มีอาการแพ้ท้องนั้น ได้เข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลดังกล่าวและพบว่าตั้งครรภ์ขึ้นมาอีก จึงถามแพทย์ว่าในเมื่อทำหมันแล้วเหตุใดจึงตั้งครรภ์ได้ ทางแพทย์ตอบว่าแม้ทำหมันแล้วแต่ก็ยังมีโอกาส 1 ใน 1,000 ที่จะท้องได้ และบอกว่าตัวหมอเองช่วยได้แค่ฝากครรภ์ฟรี ทำคลอดฟรีเท่านั้น หากต้องการอย่างอื่นมากกว่านี้ต้องไปคุยกับแผนกเยียวยาของโรงพยาบาลเอง”
น.ส.น้ำมนต์ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นจึงได้พูดคุยกับแผนกเยียวยาของโรงพยาบาล ซึ่งในช่วงแรกการพูดคุยก็เป็นไปด้วยดี เจ้าหน้าที่แนะนำว่าจะดูแลระหว่างตั้งครรภ์ให้ อีกทั้งยังถามว่าต้องการให้ทางโรงพยาบาลช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร ตัวเองจึงเสนอความต้องการให้โรงพยาบาลช่วยเหลือหลังคลอดเป็นค่านม ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปทุกเดือนได้หรือไม่
“เจ้าหน้าที่ระบุหากให้เป็นรายเดือนจะยืดเยื้อกับโรงพยาบาลเกินไป จึงให้สรุปเลยว่าต้องการเป็นตัวเลขเท่าใด จึงเรียกร้องไป 1 แสนบาท ซึ่งทางแผนกเยียวยาก็รับปากตกลง โดยไม่มีการเซ็นเอกสารใด ๆ”
อย่างไรก็ดี นอกจากฝากครรภ์ฟรี ทำคลอดฟรีแล้ว การช่วยเหลืออื่น ๆ มีเพียงเงินช่วยเหลือ 1 หมื่นบาทระหว่างที่นอนพักฟื้นหลังคลอดเด็ก โดยเป็นเงินที่ให้ไว้เพื่อซื้อของใช้สำหรับเด็ก แต่ไม่มีการรับผิดชอบอื่นๆ แล้ว โดยบอกว่าที่เหลือให้ไปเบิกเอาที่ประกันสังคม
"ทางประกันสังคมจ่ายมา 60,000 บาท และค่าคลอดบุตรอีก 13,000 บาท แต่ทางโรงพยาบาลเอาเงินจากประกันสังคมมารวมหมดเลย ทำไมระหว่างท้องถึงพูดคุยดีทุกอย่าง แต่พอออกโรงพยาบาลมาถึงปฏิเสธทุกอย่าง ข้อเรียกร้องของหนูคือต้องการให้โรงพยาบาลเยียวยาตามที่เคยรับปากไว้ เพราะตอนนี้ไม่ได้ทำงาน ตอนตั้งครรภ์ หมอบอกว่ามีโอกาสเสี่ยง หนูเลยหยุดทำงานไป ตอนนี้ไม่มีรายได้ ค่าใช้จ่ายก็สูงจึงอยากเรียกร้องให้โรงพยาบาลเยียวยาตามที่เคยรับปากไว้ด้วย” น.ส.น้ำมนต์ กล่าว
ด้าน นพ.สมพงษ์ ตันจริยาภรณ์ ผอ.โรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวชี้แจงว่า ผู้ป่วยมีสิทธิประกันสังคม ซึ่งเข้าใจว่า เงินที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมไม่ใช่เงินโรงพยาบาล แต่ความจริงแล้ว เงินเยียวยานั้นคือเงินของโรงพยาบาล เพียงแต่ต้องจ่ายในนามกองทุนที่อยู่ในสำนักงานประกันสังคม
ส่วนที่โรงพยาบาลช่วยเหลือเบื้องต้น 1 หมื่นบาทนั้น ผอ.โรงพยาบาลเลิดสิน ระบุไม่ใช่เงินเยียวยา แต่เป็นเงินนอกระบบ มาจากสวัสดิการเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่มอบให้ตอนไปเยี่ยม หลังจากผู้ป่วยอ้างมีปัญหาจำนวนมาก ไม่มีเงินดูแลลูกตอนท้อง
นพ.สมพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีทำหมันหลุด เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ซึ่งความจริงไม่ใช่การหลุด แต่ร่างกายเกิดการปรับตัวทำให้ท่อรังไข่มาต่อกันใหม่ ดังนั้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้น
เมื่อถามอีกว่าเป็นไปได้หรือไม่ สาเหตุที่ผู้ป่วยยังเรียกร้อง เพราะเงินที่ได้รับยังไม่ถึง 1 แสนบาท ผอ.โรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า ผู้ป่วยตั้งขึ้นมาเอง เพราะคิดว่าควรจะได้ แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะกองทุนบัตรทอง หรืออะไร ไม่เคยมีใครได้ถึง 1 แสนบาทอยู่แล้ว เพราะมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้อยู่
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เว็บไซด์เจาลึกระบบสุขภาพ ระบุคำให้สัมภาษณ์ของ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา ที่เคยกล่าวถึงมติแพทยสภาที่แสดงจุดยืนให้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หยุดจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากบริการทางการแพทย์กรณีการตั้งครรภ์หลังจากทำหมันหรือคุมกำเนิดชั่วคราว โดยระบุว่า อยากให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าวเพราะการตั้งครรภ์หลังจากทำหมันหรือคุมกำเนิดชั่วคราวไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากไม่มีวิธีการคุมกำเนิดใดๆ ที่ได้ผล 100% นอกจากนี้ฝ่ายกฎหมายของแพทยสภาได้ตรวจสอบข้อกฎระเบียบต่างๆ แล้วคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
พญ.ชัญวลี กล่าวถึงคำว่าสุดวิสัยแปลว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกะทันหันโดยไม่คาดการณ์ แต่การทำหมันแล้วท้องไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เพราะเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้แล้ว แม้แต่วิธีการทำหมันที่ราชวิทยาลัยสูติฯ แนะนำก็ยังมีโอกาสท้อง 0.2% และงานวิจัยที่มีการรีวิวล่าสุดยังพบว่ าเมื่อทำหมันในปีแรกมีโอกาสท้อง 1:1000 แต่ผ่านไป 10 ปีมีโอกาสท้อง 10:1000 หรือ 1% ยิ่งการคุมกำเนิดชั่วคราวด้วยวิธีการฉีดยาคุมก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ถึง 6% ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายคำว่าสุดวิสัยเพราะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ และในกฎหมายก็เขียนนิยามเอาไว้ชัดเจน
ขณะที่พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนแพทยสภา ก็เคยแสดงความเห็น ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 กรณีทำหมันแล้วท้องว่า เป็นความทุกข์ของแพทย์ทั่วประเทศ เราเข้าใจถึงการทำหมันถาวรแล้วท้อง แต่ขณะนี้ได้ลามไปถึงทำหมันไม่ถาวรแล้ว และกลายเป็นกติกาว่าหากทำหมันแล้วท้อง ไม่ว่าถาวรหรือไม่ถาวรก็จะได้การช่วยเหลือตามมาตรา 4
ภาพประกอบ:https://health.mthai.com/hospital/3359.html