สมชาย รัตนซื่อสกุล: ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีสิทธิร้องศาลให้เพิกถอนสิทธิบัตรกัญชาได้
"...ในบางกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้สิ่งประดิษฐ์นั้น อาจมีปัญหา ไม่พอ ราคาแพง หรือเกิดเหตุฉุกเฉิน จำเป็นต้องใช้เดี๋ยวนี้ แต่กลับติดปัญหาที่ว่ามีใครบางคนถือสิทธิบัตรในสิ่งเหล่านี้อยู่ กลไกเรื่องของการบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรได้เปิดช่องให้ภาครัฐบังคับได้เลย เพียงบอกว่า จะขอนำสิ่งประดิษฐ์มาใช้ แล้วเจรจาให้ค่าตอบแทน แม้เจ้าของสิทธิบัตรจะไม่อนุญาต รัฐไม่สนใจ เพราะสามารถบังคับใช้สิทธิดังกล่าวได้..."
วันที่ 29 พ.ย. 2561 ผศ.ดร.สมชาย รัตนซื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงสิทธิบัตรกัญชา ในเวทีโครงการอภิปรายทางวิชาการด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง “สิทธิบัตรกัญชา ใครได้ใครเสีย” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแห่ง ณ ห้อง 1303 ชั้น 3 อาคาร 1 คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.สมชาย เริ่มต้นอธิบายถึงหลักการทั่วไปของสิทธิบัตร คือ การที่ใครสักคนหนึ่งคิดค้นสิ่งใหม่ขึ้นมา ไม่เคยมีอยู่มาก่อนในโลกใบนี้ และเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกคน เพราะฉะนั้นจึงเกิดกฎหมายสิทธิบัตรขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการใช้ตอบแทนใครก็ตามที่ได้คิดสร้างสรรค์หรือคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้คิดค้นสิ่งใหม่ โดยการรับสิทธิบัตรไป จะมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์นั้นได้
จึงกล่าวได้ว่า เมื่อได้รับสิทธิบัตรแล้ว นั่นหมายความถึง “ใครก็ตามไม่สามารถใช้สิ่งประดิษฐ์นั้นได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายคุ้มครองอยู่”
ดังนั้น ผลตามมา คือ คนนั้นจะมีสิทธิผูกขาดในสิ่งประดิษฐ์นั้นได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าวว่า สิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุการคุ้มครองนานถึง 20 ปี ทำให้สิทธิผูกขาดนี้เป็นสิทธิที่กฎหมายมอบให้แก่ผู้นั้น ซึ่งแน่นอนว่า หลังจากพ้นระยะเวลาการคุ้มครองแล้ว สิ่งที่คิดค้นขึ้นจะตกเป็นสมบัติของสาธารณะ
“ใคร ๆ ก็สามารถนำไปใช้หรือต่อยอดได้ ไม่มีปัญหา แต่ระหว่างที่อยู่ในอายุการคุ้มครอง 20 ปี ผู้คิดค้นจะเป็นคนเดียวที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่คิดค้นขึ้น”
แต่ทั้งนี้ เนื่องจากมีผลกระทบจากการผูกขาดที่เป็นระยะเวลาค่อนข้างนานพอสมควร จึงทำให้กฎหมายสิทธิบัตรต้องวางกฎเกณฑ์ไว้หลายขั้นตอนในการให้สิทธิผูกขาดกับผู้ใดสักคนหนึ่ง หลักเกณฑ์สำคัญ
ต้องเป็นผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์นั้น ซึ่งการประดิษฐ์ หมายถึง ต้องคิด ทำขึ้นมา ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ
ดังเช่น ประเด็นกัญชา จะเห็นว่า “กัญชา” มีอยู่ก่อนแล้ว ไม่มีใครคิดหรือประดิษฐ์ต้นกัญชาขึ้นมา เพราะฉะนั้นอยู่ดี ๆ ใครหยิบต้นกัญชามาจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์
แตกต่างจากการผลิตไมโครโฟน ผศ.ดร.สมชาย ระบุในอดีตไม่เคยมีไมโครโฟน แล้วอยู่ดี ๆ มีคนคิดขึ้นมา อย่างนี้จึงเรียกว่า สิ่งประดิษฐ์
ฉะนั้นกฎหมายสิทธิบัตรจึงกำหนดกฎเกณฑ์ที่ละเอียดไปกว่านั้น “สิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นใช่ว่าจะได้รับการคุ้มครองเสมอไป”
เพราะมีเงื่อนไข 3 ข้อ ที่กฎหมายต้องการมาเกี่ยวข้อง ได้แก่
1.สิ่งประดิษฐ์ต้องใหม่ ไม่เคยมีการปรากฎขึ้นมาก่อน
2.ต้องมีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ดีขึ้นกว่าของเดิม
และ 3. นำไปประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ได้
นักวิชาการด้านกฎหมายจึงย้ำไม่ได้หมายความว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นประเด็นที่หยิบไปขอสิทธิบัตรได้ทั้งหมด”
ทั้งนี้ กรณี “กัญชา” ผศ.ดร.สมชาย บอกว่า พืชชนิดนี้ไม่สามารถขอจดสิทธิบัตรได้อยู่แล้ว เพราะไม่ใช่การประดิษฐ์
“ไม่มีใครประดิษฐ์ต้นกัญชาได้อยู่แล้ว แต่ประเด็นลึกและซับซ้อนไปอีก คือ ไม่ได้นำต้นกัญชาทั้งต้นไปจดสิทธิบัตร แต่นำสิ่งบางอย่างที่เป็นสารออกฤทธิ์ทางยาได้จากในต้นกัญชาไปจดสิทธิบัตร หรือสามารถนำสารนี้ไปผสมกับตัวอื่น เพื่อเป็นยาได้”
ปัญหา คือ เรื่องของสารสกัดจากพืช จะสามารถจดสิทธิบัตรได้หรือไม่?
ในหลักทั่วไปของกฎหมายสิทธิบัตรแล้ว เมื่อจะให้ใครได้รับสิทธิบัตร คนนั้นจะมีสิทธิผูกขาด ดังนั้นกฎหมายจะมีกลไกบางอย่างเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผูกขาดนี้ได้ ซึ่งมีเขียนไว้ในกฎหมายสิทธิบัตร
กลไกที่ว่านี้ เรามักได้ยินหรือคุ้นเคยกัน คือ “การบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตร”
ผศ.ดร.สมชาย อธิบายหมายความว่าในบางกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้สิ่งประดิษฐ์นั้น อาจมีปัญหา ไม่พอ ราคาแพง หรือเกิดเหตุฉุกเฉิน จำเป็นต้องใช้เดี๋ยวนี้ แต่กลับติดปัญหาที่ว่ามีใครบางคนถือสิทธิบัตรในสิ่งเหล่านี้อยู่ กลไกเรื่องของการบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรได้เปิดช่องให้ภาครัฐบังคับได้เลย
เพียงบอกว่า จะขอนำสิ่งประดิษฐ์มาใช้ แล้วเจรจาให้ค่าตอบแทน แม้เจ้าของสิทธิบัตรจะไม่อนุญาต รัฐไม่สนใจ เพราะสามารถบังคับใช้สิทธิดังกล่าวได้
แน่นอนเอกชนสามารถทำในลักษณะนี้ได้เช่นกัน โดยไปเจรจาขอใช้ แต่ติดปัญหาแพงเกินหรืออย่างอื่น ก็สามารถร้องขอบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรในลักษณะนี้ได้เช่นเดียวกัน
จึงเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาผลกระทบชัดเจนที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจหรือใช้สิทธิบัตรที่กฎหมายให้ไป
ส่วนกระบวนการได้มาของสิทธิบัตรนั้น นักวิชาการด้านกฎหมาย ระบุต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน จนกระทั่งท้ายที่สุด รัฐจะรับจดสิทธิบัตรได้ ถึงตอนนั้นสิทธิเหนือสิ่งประดิษฐ์จะมีอยู่เต็มภาคภูมิ
อย่างไรก็แล้วแต่ กระบวนการกว่าจะได้มาซึ่งสิทธิบัตรนั้น ค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร โดยเฉพาะในประเทศไทย
แม้ว่าปัจจุบันได้มีการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบให้รวดเร็วขึ้นแล้วก็ตาม ผศ.ดร.สมชาย พบว่าในหลายคำขอ กลับยังมีข้อจำกัดในเรื่องผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือไม่ เป็นสิ่งใหม่หรือไม่ มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นหรือไม่
ยกตัวอย่างสิทธิบัตรกัญชา คำขอระบุนำไปพัฒนาเป็นยา เพราะฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยา เพื่อทราบว่า มียาแบบนี้แล้วหรือไม่
“สิ่งประดิษฐ์แต่ละอย่างต้องการผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ไปนั่งดูคำขอแต่ละคำขอ” นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าว และว่า การตรวจสอบความใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากหลักจะต้องตรวจสอบความใหม่จากทั่วโลก นั่นหมายความว่าฐานข้อมูลในการตรวจสอบจะเยอะ
ทั้งนี้ มีหลายสิทธิบัตรใช้เวลาค่อนข้างนาน อย่างกรณีสิทธิบัตรกัญชาที่กำลังเป็นปัญหา มีการยื่นคำขอมาแล้วเป็นปี จนกระทั่งปรากฎข่าวคราวขึ้นมา พบยังตรวจสอบไม่เสร็จ กระบวนการยังไม่จบ ซึ่งสิทธิบัตรบางคำขอ ล่าสุด อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ปฏิเสธคำขอไปบ้างแล้ว
แต่ยังคงมีคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชามากพอสมควรที่ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ กรณีนี้ในแง่กระบวนการราชการ เชื่อว่า คงต้องใช้เวลาหรือมีระเบียบขั้นตอนพอสมควร
“พอเข้าใจได้ บางครั้งอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ ฟังข่าว มีคนโต้แย้งมาก เลยยกคำขอสิทธิบัตรกัญชาทิ้งทั้งหมด ทั้งนี้ อาจมีปัญหาตามมาว่ามีอำนาจทำได้ตามกฎหมายอย่างนั้นหรือไม่”
เพราะนั้นเข้าใจว่า เป็นประเด็นสังคมที่กำลังให้ความสนใจ และเชื่อว่ากรมทรัพย์สินฯ รู้เช่นกันว่า อาจต้องพยายามหาทางทำอย่างไรที่จะตรวจสอบสิทธิบัตรกัญชาให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วกระบวนการตรวจสอบต้องตามลำดับคิว
ผศ.ดร.สมชาย กล่าวด้วยว่า กระบวนการตรวจสอบจะมีหลายช่วงหลายขั้นตอนมาก ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตรวจพบไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ไม่ใช่การประดิษฐ์ หรือไม่เป็นสิ่งใหม่ หรือเป็นสารสกัดจากพืช กฎหมายให้สิทธิบัตรไมได้
ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ตรวจพบ ตามขั้นตอนจะทำรายงานให้อธิบดีกรมทรัพย์สินฯ เพื่อปฏิเสธคำขอหรือยกเลิกคำขอนั้น และระหว่างแต่ละขั้นตอนจะมีอำนาจทำให้คำขอตกลงไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในท้ายที่สุด สิทธิบัตรจะถูกออกให้ นักวิชาการด้านกฎหมายยืนยันว่า ยังมีขั้นตอนสุดท้ายให้สิทธิใครก็ได้ที่มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นได้ เหตุสิทธิบัตรนั้นออกมาไม่สมบูรณ์
ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมเกี่ยวกับกระบวนการออกสิทธิบัตรโดยสังเขป .