ค้าน อย. งุบงิบปรับลดสถานะควบคุมยาลดอาการแพ้
เภสัชกร หวั่น อย.ปรับลดสถานะยา “ยาลอราทาดีน” จากยาอันตราย เหลือเพียงยาบรรจุเสร็จฯ ส่งผลให้สามารถวางขายได้โดยไม่ต้องมีเภสัชกรควบคุม หนำซ้ำยังเปิดช่องให้โฆษณาได้ คาดประชาชนจะใช้ยาไม่สมเหตุสมผลอื้อ เสี่ยงรับผลกระทบเพียบ
จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมปรับลดสถานะควบคุมยาลอราทาดีน (Loratadine) ซึ่งเป็นยาลดอาการแพ้ จากเดิมที่อยู่ในประเภทยาอันตรายที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น มาเป็นยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ตามร้านขายยาทั่วไปได้นั้น
ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรชำนาญการ รพ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงยาลอราทาดีนเป็นยาอันตราย และที่ผ่านมาก็มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา รวมถึงการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นๆ ได้มาก โดยข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (HPVC) อย. ในปี 2561 หรือระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียว พบรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลอราทาดีนมากถึง 501 เคส
ภญ.สุภาวดี กล่าวว่า เดิมยาลอราทาดีนถูกกำหนดให้เป็นยาอันตราย จำหน่ายได้เฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) ที่มีเภสัชกรประจำร้านควบคุมเท่านั้น แต่หากมีการปรับลดสถานะให้เหลือเพียงยาบรรจุเสร็จฯ จะทำให้สามารถวางขายในร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ (ขย.2) ซึ่งไม่ต้องใช้ใบสั่งยา และไม่ต้องมีเภสัชกรดูแลแต่อย่างใด
“ถ้าเหตุผลของการปรับลดสถานะของยาคือเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นนั้น ข้อมูลจากฐานใบอนุญาตด้านขายยา ปี 2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีร้านขายยา ขย.1อยู่ 18,900 แห่ง ขณะที่ ขย.2 มีเพียง 2,940 แห่งเท่านั้น นั่นหมายความว่าร้าน ขย.1 มีสัดส่วนมากกว่า ขย.2 อยู่ถึง 6.4 เท่าอยู่แล้ว” ภญ.สุภาวดี กล่าว
ทั้งนี้ หาก อย.ปรับลดสถานะยาลอราทาดีนลงเหลือเพียงยาบรรจุเสร็จฯ ยาลอราทาดีนจะถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อโดยไม่สมเหตุสมผลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการถูกซื้อมารับประทานเพื่อลดน้ำมูกในโรคหวัด ทั้งที่ยาดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพกับการลดน้ำมูกสักเท่าใด
นอกจากนี้ ขนาดของยาลอราทาดีนที่เหมาะสมคือ 1 เม็ด ซึ่งจะออกฤทธิ์ครอบคลุมระยะเวลา 1 วัน แต่ประชาชนทั่วไปมักจะคุ้นชินกับการรับประทานยาเช้า เที่ยง เย็น ก่อนนอน หรือทุกๆ 4-6 ชั่วโมง หรือรับประทานตามอาการ นั่นจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยา อาทิ ง่วงซึม ปากแห้ง รวมไปถึงหากมีการใช้ร่วมกับยาที่เกิดปฏิกิริยากันด้วยแล้ว จะก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
“ที่น่ากังวลก็คือการโฆษณา เพราะตามกฎหมาย พ.ร.บ.ยา ระบุว่า ไม่สามารถโฆษณายาอันตรายได้ แต่หากมีการปรับลดสถานะลงมา จะทำให้ผู้ผลิตสามารถโฆษณาแสดงสรรพคุณของยาผ่านสื่อต่อประชาชนทั่วไปได้ ซึ่งตรงนี้จะยิ่งทำให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลขึ้นอย่างแน่นอน คำถามก็คือหาก อย.ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้น แต่การเข้าถึงนั้นเป็นการเข้าถึงอย่างไม่สมเหตุสมผล จะมีประโยชน์อะไร” ภญ.สุภาวดี กล่าว
ภญ.สุภาวดี กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยและคัดค้านการปรับลดสถานะควบคุมยาลอราทาดีน โดยที่ผ่านมา อย.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวในช่วงสั้นๆ จากนั้นก็ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวใดๆ จนล่าสุดทราบมาจากหนึ่งในคณะกรรมการยาแห่งชาติว่า ขณะนี้การปรับลดสถานะยาผ่านมติคณะกรรมการยาแห่งชาติแล้ว แต่ อย.ยังไม่ได้ประกาศออกมา