ถอดบทเรียนปลากระเบนราหูตายในแม่กลอง สู่การดำเนินคดี-เรียกร้องค่าเสียหาย
การเรียกร้องค่าเสียหาย กรมควบคุมมลพิษ ได้ขอความร่วมมือสำนักงานอัยการจังหวัดราชบุรี ดำเนินการฟ้องคดีเรียกค่าใช้จ่ายและค่าเสียหาย จำนวนทั้งสิ้นกว่า 5.7 ล้านบาท ขณะนี้พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีอยู่ระหว่างการดำเนินการฟ้อง บริษัทราชบุรีเอทานอล จำกัด กับพวก
กรณีการตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองเมื่อเดือนกันยายน - ตุลาคม 2559 โดยบริษัทราชบุรีเอทานอล จำกัด ได้มีการระบายน้ำกากส่าสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่คลองแฉลบและไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลองนั้น
วันที่ 29 พฤศจิกายน คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการรายงานสรุปผลการพิจารณาและผลการดำเนินงานตามรายงานการพิจารณา เรื่อง สาเหตุการตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลอง ต่อที่ประชุม สนช. สาระสำคัญ ที่น่าสนใจ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้สรุปการดำเนินการทางกฎหมาย/เรียกร้องค่าเสียหาย ดังนี้
1.การดำเนินคดีอาญา กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 เพื่อให้สืบสวนหาตัวบุคคลที่กระทำผิดจนต้องเป็นเหตุให้ปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆตายในแม่น้ำแม่กลอง มาดำเนินการตามกฎหมายและพนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทย์ยื่นฟ้องบริษัทราชบุรีเอทานอล จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 7 คน ต่อศาลจังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560
โดยศาลจังหวัดราชบุรีได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2414/2560 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 สรุปได้ว่า
บริษัทราชบุรีเอทานอล จำกัด กับพวกรวม 7 คน มีความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 58 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 119 ทวิ และพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 8 ซึ่งการกระทำของจำเลย ทั้ง 7 เป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษหนักสุดตามนัย มาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับการร้องเรียนการปล่อยน้ำลงสู่แหล่งน้ำมาก่อนและจำเลยที่ 2- จำเลยที่ 7 ก็ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ศาลจึงลงโทษปรับจำเลยทั้ง 7 คนละ 40,000 บาท
แต่เนื่องจากรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษลงกึ่งหนึ่งคงเหลือปรับคนละ 20,000 บาท
2.การเรียกร้องค่าเสียหาย กรมควบคุมมลพิษ ได้ขอความร่วมมือสำนักงานอัยการจังหวัดราชบุรี เพื่อดำเนินการฟ้องคดีเรียกค่าใช้จ่ายและค่าเสียหาย จำนวนทั้งสิ้นกว่า 5.7 ล้านบาท โดยขณะนี้พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีอยู่ระหว่างการดำเนินการฟ้อง บริษัทราชบุรีเอทานอล จำกัด กับพวก เพื่อเรียกค่าสินไหมและค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
และจากรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องสาเหตุการตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลอง กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนช. ยังได้สรุปประเด็นปัญหาหรือบทเรียนที่สะท้อนจากกรณีสัตว์น้ำและปลากระเบาราหูตาย
1.หน่วยงานท้องถิ่นขาดความรอบรู้ ขาดข้อมูล ทำงานแบบตั้งรับไม่ใช่เชิงรุก และไม่ใช่ภารกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงของท้องถิ่น
2.หน่วยงานส่วนกลางมีความล่าช้าในการเข้าถึงพื้นที่ที่เกิดเหตุ ทำให้เกิดความล่าช้าในการตอบสนองต่อปัญหา ขาดการประสารงานระหว่างหน่วยงาน รวมถึงทักษะในการสื่อสาร และขาดการวิเคราะห์พิสูจน์ปัญหาสาเหตุอย่างรอบด้าน
3.ความไม่ชัดเจนของข้อมูลต่างๆ ได้แก่ วันที่เกิดเหตุ ปริมาณการรั่วไหลของน้ำเสีย ปริมาณและชนิดของสัตว์น้ำที่ตายจากเหตุการรั่วไหลของน้ำเสีย ขาดระบบฐานข้อมูลโรงงาน ข้อมูลคุณภาพลำน้ำ ระบบนิเวศลำน้ำ และการใช้แบบจำลองคุณภาพลำน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม คือ การปรับปรุงนิยามของคำว่า "สาธารณภัย" ในพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 4 ให้หมายความรวมถึง "ภัยจากมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง" เพื่อให้มีความชัดเจนและครอบคลุมถึงภัยจากมลพิษด้วย และให้
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่มเติมประเด็นด้านอุบัติเหตุจากมลพิษไว้ในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตามมาตรา 12
- จังหวัดเพิ่มเติมประเด็นอุบัติเหตุจากมลพิษไว้ในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตามมาตรา 15
- และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มเติมประเด็นด้านอุบัติเหตุจากมลพิษไว้ในแผนปฏิบัติการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามมาตรา 16
สำหรับประเด็นการเชื่อมโยงข้อมูลที่จะนำข้อมูลไปใช้ภายใต้สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจากมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่จะนำข้อมูลไปใช้ในสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจากมลพิษ ให้มีความครบถ้วน แม่นยำ และถูกต้องมากขึ้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมมลพิษ ต้องจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปใช้ภายใต้สถานการร์การเกิดอุบัติเหตุจากมลพิษ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ก.ทรัพยฯไม่ตั้ง กก.ระงับอุบัติเหตุจากมลพิษ หลังศาลปรับเอกชนทำปลากระเบนราหูตาย
กรมควบคุมมลพิษ แถลงปลากระเบนราหูตาย เกิดจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า
คพ. พบสารพิษโลหะหนัก 5 จุด น้ำแม่กลอง ยังไม่ฟันธงทำปลากระเบนราหูตาย
เปิดหนังสือ รง.ราชบุรีเอทานอล ทำน้ำกากส่ารั่วลงแม่กลอง
ก.อุตฯ ระดมเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งทุก รง.ริมแม่น้ำแม่กลอง
ปลากระเบนราหูแม่น้ำแม่กลอง ลามถึงดอนหอยหลอด เจอตายอื้อ