สช. อาสา เปิดเวทีคุยอย่างฉันทามติแก้ปัญหา หยุด-ยั้ง ‘มวยเด็ก’
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอจัดเวทีสาธารณะให้ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหา ‘นักมวยเด็ก’ อย่างสมานฉันท์ ภายใต้กลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อให้มีมาตรการที่ยึดความปลอดภัยของเด็กเป็นศูนย์กลาง
จากกรณีที่ ด.ช.อนุชา ทาสะโก นักมวยเด็กวัยเพียง 13 ปี เสียชีวิตด้วยอาการเลือดคั่งในสมองขณะขึ้นชกบนสังเวียนมวยที่จังหวัดสมุทรปราการ นำไปสู่ความตื่นตัวของทุกภาคส่วนร่วมกันหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีความห่วงใยต่อสุขภาวะของนักมวยรุ่นเยาว์มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เคยมีกระบวนการปรึกษาหารือของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 และนำประเด็นนี้เข้าสู่ “เวทีวิชาการ” ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 โดยพยายามเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมี ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหน่วยงานหลักที่นำเสนอข้อมูล ได้แก่ ผลสำรวจทางการแพทย์จากการติดตามสุขภาพนักมวยเด็กช่วง 5-10 ปี พบว่า การชกส่งผลกระทบต่อศีรษะและสมอง เสี่ยงต่อโรคร้าย อาทิ เยื่อหุ้มสมองฉีกขาด เลือดคั่งในสมองหรืออัมพาต ขาดศักยภาพทั้งด้านการเรียน การใช้ชีวิต และการทำงานในอนาคต
“กระบวนการขับเคลื่อนทางวิชาการและพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพในเรื่องนักมวยเด็กที่ผ่านมา ถือว่ามีความก้าวหน้าเพราะนำไปสู่การยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กีฬามวย ฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.มวย พ.ศ.2542 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนี้ ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าแข่งขันชกมวยอาชีพและออกกฎระเบียบที่ชัดจนในการชกมวยเด็กว่าต้องมีเครื่องป้องกันอันตรายอย่างรัดกุมเหมาะสมอะไรบ้าง”
นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า สำหรับบทบาทของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขณะนี้ พร้อมจัดเวทีสาธารณะหรือเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพื่อประสานความคิดเห็นที่ยังแตกต่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การบังคับใช้กฎหมายให้จริงจัง และติดตามการดำเนินงานของทุกภาคส่วน ให้เร่งรัดขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.กีฬามวย ฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.มวย พ.ศ.2542 อย่างดีที่สุด พร้อมออกแบบกีฬาชนิดนี้ให้ยึดถือความปลอดภัยของเด็กเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ อุปกรณ์สวมใส่ เช่น เฮดการ์ด หรือการให้คะแนนของกรรมการ เป็นต้น
“ทุกฝ่ายสามารถใช้กระบวนการ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เรื่อง ความปลอดภัยของนักมวยเด็ก ให้เป็นเวทีที่ทุกฝ่ายพูดคุยกันอย่างสมานฉันท์ด้วยเหตุผล ไม่ใช่การเปิดเวทีโต้แย้งหรือดีเบตเอาชนะ โดยทาง สช. ยินดีที่จะเป็นหน่วยงานกลางร่วมดำเนินการเพื่อให้สังคมไทยมีทางออกอย่างสมดุลระหว่างการส่งเสริมกีฬา วัฒนธรรม และสุขภาพ ซึ่งเมื่อได้ฉันทามติแก้ปัญหาร่วมกันแล้ว ก็จะนำเสนอต่อ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกลไกที่เกี่ยวข้องต่อไป” นพ.พลเดช ระบุ