ปลดแอกตุลาการ
หมายเหตุ:บทความเรื่อง ปลดเเอกตุลาการ เขียนโดย นายเสรี เพศประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
จากเหตุการณ์แต่งตั้งประธานศาลฎีกาเมื่อปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60) ที่ประธานศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นผู้พิพากษามีอาวุโสสูงสุดตามระบบอาวุโสควรได้เป็นประธานศาลฎีกาแต่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมหรือ ก.ต กลับมีมติแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีอาวุโสลำดับ ถัดไปขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาแทน เมื่อไม่ได้เป็นประธานศาลฎีกาก็ต้องอยู่ในตำแหน่งเดิมคือ ประธานศาลอุทธรณ์ต่อไปอีก1ปีก่อนครบวาระ ต้องเป็นผู้พิพากษาอาวุโสเรื่องควรจบแค่นั้นแต่ ก็ไม่จบ ก.ต.กลับมีมติให้ย้ายไปอยู่ในตำแหน่งลอยที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจรองรับการย้ายครั้งนี้เพื่อให้ พ้นจากการเป็นประธานศาลอุทธรณ์ แล้วตามด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจน ต้องลาออกจากราชการ
ปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.61) มีวาระที่ ก.ต.ต้องพิจารณาแต่งตั้งผู้พิพากษาระดับสูงใน ศาลฎีกา อีกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็น ก.ต.ที่ได้รับเลือกด้วยคะแนนอันดับ 1 จากผู้พิพากษาในศาลฎีกาให้เป็น ก.ต.ศาลชั้นฎีกาขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกาตามระบบอาวุโสเกิดเหตุการณ์ในลักษณะ เดียวกันกับการแต่งตั้งประธาน ศาลฎีกาในปีงบประมาณ 2561 อีกโดย ก.ต. เสียงข้างมากมีมติแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีลำดับอาวุโสถัดไปแซงขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกา เรื่องไม่จบแค่นั้น มีการดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ก.ต.ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ ฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 42 แล้วตามด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระแต่มีรูปแบบหรือแพทเทิร์นเดียวกันคือ เริ่มจากช่วงใกล้ฤดูโยกย้ายเปลี่ยนถ่ายตำแหน่งมีการนำข้อกล่าวหาของผู้พิพากษาในระดับศาลชั้นต้นหรือ ศาลชั้นอุทธรณ์ที่มีอยู่ก่อนแต่ไม่มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาขึ้น พิจารณา แล้วนำเข้าที่ประชุม ก.ต. ลงมติเสียงข้างมากเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำไม่เหมาะสม ตามข้อกล่าวหา ไม่ให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับอาวุโส จากนั้นก็ตั้งผู้มีอาวุโสลำดับถัดไป ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนแล้วนำผลของมติไม่แต่งตั้งตามข้อกล่าวหาดังกล่าวไปดำเนินการถอด ถอนออกจากตำแหน่งเดิมที่ครองอยู่พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหา สภาพเหมือนเป็นการตัดสินก่อนแล้วสอบสวนข้อเท็จจริงภายหลังผิดขั้นตอนจากระบบปกติ ของการรักษาวินัยส่วนที่ 2 และการลงโทษส่วนที่ 3 ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่าย ตุลาการศาลยุติธรรม หมวด 5 วินัยการรักษาวินัยการลงโทษและการร้องทุกข์ที่ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาแล้วนำผลการสอบไปใช้พิจารณาเลื่อนหรือไม่เลื่อนตำแหน่ง
โดยเฉพาะกรณีหลังเป็นเรื่องที่ผู้พิพากษาระดับสูงของศาลชั้นฎีกาสวมหมวก 2 ใบ ใบหนึ่งเป็นกรรมการตุลาการหรือ ก.ต. ศาลชั้นฎีกาผู้บังคับบัญชาของผู้พิพากษาทั้งประเทศ อีกใบหนึ่งเป็นสามีของทายาทคนหนึ่งของเจ้ารับมรดกไปนั่งฟังการสืบพยานของผู้พิพากษา ศาลชั้นต้นในคดีพิพาทเกี่ยวกับมรดกของภริยาแล้วเห็นว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่จดคำเบิก ความของพยาน บุคคลหรือจดไม่ครบใจความซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานที่มักจะเกิดโต้แย้งทักท้วง จากคู่ความระหว่างสืบพยานในศาลชั้นต้นอยู่เป็นประจำ และเป็นสาเหตุให้ผู้พิพากษาศาลชั้น ต้นถูกร้องเรียนเป็นหนังสือหรือบัตรสนเท่มาตลอด ตามข่าว ก.ต. ศาลฎีกาได้ทักท้วงเกี่ยวกับเรื่อง ดัง กล่าวในระหว่างสืบพยานนั้นเองแล้วเรื่องก็จบไปในวันนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวหากเกิดก่อนเปลี่ยนโครงสร้างศาลยุติธรรมใน ปี 2543 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคงถูกย้ายใน 24 ชั่วโมงและคงถูกตั้งกรรมการสอบวินัย เพราะ ก.ต.ระดับสูงเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง แต่เรื่องกลับเป็นตรงกันข้าม ก.ต. ศาลฎีกากลับเป็นฝ่าย ถูกผู้พิพากษาศาลชั้นต้นกล่าวหาว่าแสดงกิริยาไม่เคารพผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขณะนั่งพิจารณาเป็นเหตุให้ไม่ได้ขึ้นตำแหน่งรองประธานศาลฎีกาตามลำดับ อาวุโส ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ก.ต.และถูกตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจนน่าวิตกว่า อาจกระทบกระเทือนระบบควบคุมดูแลการรับข้อมูลและพยานหลักฐานเข้าสำนวนของศาลชั้น ต้นซึ่งเป็นฐานรากของการบริการความยุติธรรมในชั้นศาลสูง ทั้งสองเหตุการณ์ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญทำให้ผู้เขียนอยากรู้เหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดทั้งสองเหตุการณ์ จึงศึกษาปัญหาดังกล่าวและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นที่มาของบทความนี้
1.โครงสร้างศาลยุติธรรม
ศาลยุติธรรมจัดตั้งขึ้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในลักษณะเดียว กับรัฐธรรมนูญเป็นแม่บทของกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ใช้ในองค์กรศาลยุติธรรมที่ ตราไว้ก่อนปี2477 มีการแก้ไขอีก หลายครั้ง จนถึงปัจจุบันเป็นฉบับปี 2543 มีประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 1 แบ่งศาลยุติธรรมออกเป็น 3 ชั้นตามแนวดิ่งในลักษณะเครื่องกรองน้ำ คือ
- ศาลชั้นต้น เป็นชั้นหินกรวด
- ศาลชั้นอุทธรณ์ เป็นชั้นทรายหยาบ
- ศาลฎีกา เป็นชั้นทรายละเอียด
2.อำนาจหน้าที่ของเเต่ละชั้นศาลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ศาลชั้นต้น ศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้น กำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น ศาลจังหวัด ศาลแขวงเป็นศาลเริ่มต้นของคดีทั่วไปมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่กฎหมายในการจัดตั้งศาลนั้นๆ กำหนดไว้ ตามมาตรา 15 ถึงมาตรา 20
ศาลชั้นอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ และเขตอำนาจศาล ตามมาตรา 22
ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้เสนอต่อศาลฎีกาได้ โดยตรง และคดีที่อุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยคู่ความไม่มีสิทธิ์ทูลเกล้าฯถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไปตาม มาตรา 23
3.ระบบอาวุโส
ระบบอาวุโส เป็นระบบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมดังปรากฏตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 13 และมาตรา 33
ศาลยุติธรรมถือเอาลำดับอาวุโสตามรุ่นการสอบเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาครั้งแรก รุ่นใดสอบเข้ารับราชการก่อนถือว่ามีอาวุโสกว่ารุ่นที่สอบเข้ามาภายหลัง ภายในรุ่นเดียวกันผู้ที่สอบเข้ามาในลำดับต้นก็ถือว่ามีอาวุโสสูงกว่าผู้สอบได้ในลำดับถัดไป การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งยึดถือตามลำดับอาวุโสดังกล่าวเป็นหลักการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งที่ไม่เป็นไปตามลำดับอาวุโสนั้นเกิดขึ้นน้อยมากถือเป็นข้อยกเว้น และจะได้รับความสนใจ วิพากษ์วิจารณ์ของคนทั้งองค์กร ทั้งในช่องที่เป็นทางการ และ ไม่เป็นทางการยาวนาน
4.ระบบคุณธรรม
4.1 ระบบอาวุโส เป็นระบบคุณธรรม
1) ด้านคุณธรรมการให้บริการแก่ลูกค้าหรือประชาชน ระบบอาวุโสคือระบบใครมาก่อนได้ก่อน ใครมาหลังได้หลัง มีความยุติธรรมในตัวเองเพราะทุกคนต้องเลื่อนไปตามระบบอาวุโสแทนที่กันมีคนมาต่อท้ายคิวตลอดเวลาไม่มีใครหยุดนิ่งกับที่ เป็นระบบสากลที่ใช้กันทั่วโลก ที่เห็นชัดในทางกายภาพ คือการต่อคิวซื้อสินค้าหรือบริการตามสถานที่ต่างๆใครมาก่อนก็ได้รับบริการจนเสร็จกลับไปก่อน ใครมาหลังก็เสร็จทีหลัง ไม่ใช่แค่คำพูดสร้างภาพลอยๆของนักการเมือง ใครมาทีหลังแล้วได้รับบริการเสร็จไปก่อน เป็นเรื่องผิดปกติ หากไม่ผิดพลาดที่ระบบ ก็ต้องเป็นเรื่องแย่งชิงหรือเส้นสาย
2) ด้านคุณธรรมแก่บุคลากรขององค์กร การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งหรือได้รับสิทธิ์ประโยชน์และสวัสดิการ ระบบอาวุโสถือหลักการให้สิทธิตอบแทนแก่ผู้ทำงานรับใช้องค์กรมานานก่อน เพราะทำคุณประโยชน์ให้แก่องค์กรมากกว่าผู้เข้ามาทีหลัง มีประสบการณ์การทำงานมากกว่าจึงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาเป็นพี่เลี้ยงสอนงานของผู้เข้ามาทีหลัง ได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า กรณีจำเป็นต้องตัดสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการเพื่อความมั่งคงหรืออยู่รอดขององค์กร ก็จะยึดถือหลัก ผู้เข้ามาทีหลังต้องเสียสิทธิหรือต้องออกไปก่อน เพราะทำคุณประโยชน์ให้แก่องค์กรน้อยกว่า
4.2 ธรรมาภิบาลในองค์กร เป็นระบบคุณธรรม
1) ด้านความชัดเจนแน่นอน ธรรมาภิบาลเป็นระบบที่มีการวางหลักเกณฑ์การปฏิบัติไว้
เป็นลายลักษณ์อักษร คงที่แน่นอน มีหลักฐาน
2) ด้านความเป็นธรรม ธรรมาภิบาล เป็นระบบที่โปร่งใสเสมอภาคทั้งผู้บังคับบัญชาที่พิจารณาให้คุณให้โทษ และผู้ใต้บังคับบัญชาที่ถูกพิจารณา ต่างถูกจับจ้องมองเห็นถูกตรวจสอบได้ทั้งจากคู่กรณี คนในองค์กร และสาธารณะ
5.ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 5
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 5 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของประธานศาลฎีกา ในการวางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม เพื่อให้กิจการของศาลยุติธรรมดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน โดยหลักการแล้วต้องถือว่าระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม อยู่ในความรับผิดชอบของประธานศาลฎีกา ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติจะเข้ามาวางระเบียบการบริหารบุคคลในบ้านหรือองค์กรของฝ่ายตุลาการได้
6.พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ของฝ่ายนิติบัญญัติ
6.1 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ฉบับปัจจุบัน ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นในปี 2543 มีทั้งหมด 101 มาตรา แบ่งเป็น มาตรา 1 ถึงมาตรา 5 กับอีก 5 หมวด 1 บทเฉพาะกาลและ 2 บัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง โดยให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัติและให้ประธานศาลฎีกา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม(ก.บ.ศ.) มีอำนาจออกข้อบังคับเพื่อปฏิบัติตามมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว
6.2 เนื้อหาของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ของฝ่ายนิติบัญญัติ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
- ส่วนที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับ เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการฯได้แก่
- หมวด 1บททั่วไป อธิบายว่า ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมคือใคร มีกี่ประเภทเข้ารับราชการได้อย่างไร มีอัตราเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งอย่างไร เกษียณอายุเมื่อใด ได้รับบำเหน็จบำนาญอย่างไร
- บัญชีอัตราเงินเดือนและประจำตำแหน่งฯ ท้ายพระราชบัญญัติ
- ส่วนที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ได้แก่
- หมวด 2 ข้าราชการตุลาการ แบ่งเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 การบรรจุ การแต่งตั้ง และการเลื่อนตำแหน่ง
ส่วนที่ 2 การสอบคัดเลือก การทดสอบความรู้และการคัดเลือกพิเศษ
ส่วนที่ 3 การพ้นจากตำแหน่ง
- หมวด 3 คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
- หมวด 4 ดะโต๊ะยุติธรรม
- หมวด 5 วินัย การรักษาวินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ แบ่งเป็น 4 ส่วน
ส่วนที่ 1 วินัย
ส่วนที่ 2 การรักษาวินัย
ส่วนที่ 3 การลงโทษ
ส่วนที่ 4 การร้องทุกข์
ส่วนที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เนื้อหาทั้งหมดเป็นระเบียบหลักเกณฑ์ วิธีการบริหารงานบุคคลในองค์กรของฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมเพื่อให้กิจการของศาลยุติธรรมดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา5ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของประธานศาลฎีกาเป็นผู้วางระเบียบ
7.ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีอำนาจหน้าที่วางระเบียบการบริหารงานบุคคล ในองค์กรของฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
7.1 ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใด ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ปี 2550 หรือฉบับปัจจุบัน หรือพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติออก กฎหมายว่า ด้วยการบริหารงานบุคคล ในองค์กรของฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมได้
7.2 เมื่อตรวจสอบเหตุผลในการยกร่างพระราชบัญญัติฯของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมทุกฉบับที่ผ่านมา ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายนิติบัญญัติอ้างอิงอาศัยอำนาจหรือบัญญัติของกฎหมายใด ในการตราพระราชบัญญัติดังกล่าว
8.พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ของฝ่ายนิติบัญญัติขัดหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3
8.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทาง รัฐสภาคณะรัฐมนตรี และศาลเมื่อประกอบกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ หมวด 7 รัฐสภา หมวด 8 คณะรัฐมนตรี หมวด 10 ศาล แล้วจะเห็นได้ว่า อำนาจอธิปไตยถูกแบ่งแยกการใช้โดย 3 องค์กร หลักได้แก่
- รัฐสภา ที่ในทางการเมืองการปกครองเรียกว่า องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจหน้าที่ออกนโยบายสาธารณะในรูปของกฎหมาย
- คณะรัฐมนตรี ที่ในทางการเมืองการปกครองเรียกว่า องค์กรฝ่ายบริหาร มีอำนาจหน้าที่นำนโยบายในรูปกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ไปปฏิบัติ
3) ศาล ที่ในทางการเมืองปกครองเรียกว่า องค์กรฝ่ายตุลาการ มีอำนาจหน้าชี้ขาดข้อพิพาท
จากการที่ฝ่ายบริหารบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติแล้วเกิดข้อพิพาทกับประชาชนหรือทำให้ประชาชนเกิดข้อพิพาทกันขึ้น ทั้งสามองค์กรมีความเป็นอิสระจากกัน ถ่วงดุลยอำนาจซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของประชาชน
8.2 เมื่อฝ่ายตุลาการต้องชี้ขาดข้อพิพาทจากการที่ฝ่ายบริหารบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว หากฝ่ายนิติบัญญัติยังมีอำนาจเข้าไปควบคุมสั่งการออกแบบวางระเบียบการบริหารงานบุคคลภายในองค์กรของฝ่ายตุลาการได้อีก ก็เท่ากับฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเจ้าของกิจการศาลนั่นเองเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการในการชี้ขาดตัดสินข้อพิพาทตามกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ทำลายหลักประกันคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของประชาชนขัดหลักการแบ่งแยกใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 ดังกล่าว
9.พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ของฝ่ายนิติบัญญัติทำให้การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ไม่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา196
9.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 10 ส่วนที่ 2 มาตรา 196บัญญัติว่าการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ต้องมีความเป็น อิสระและดำเนินการโดย คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นข้าราชการในแต่ละชั้นศาลและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการ บรรดาที่ได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการไม่เกิน 2 คน แม้ตอนท้ายของมาตราจะบัญญัติว่า ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติก็ตาม ก็มีความหมายแต่เพียงว่า ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจออกกฎหมาย ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ก.ต. คนนอกไม่เกิน 2 คนดังกล่าวเท่านั้น ไม่อาจแปลขยายความหมายว่ามีอำนาจออกกฎหมาย ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ก.ต.คนในได้เพราะจะขัดกับบทบัญญัติในตอนแรกที่ว่าการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ต้องมีความอิสระ ซึ่งหมายถึงต้องเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติด้วย
9.2 การที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกฎหมายวางระเบียบหลักเกณฑ์วิธีการบริหารงานบุคคลหรือระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ ให้ฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมปฏิบัติโดยรวมอยู่กับกฎหมาย เกี่ยวกับเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตุลาการ นั้นเป็นการอาศัยอำนาจหน้าที่การออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน เข้าไปวางระเบียบหรือสั่งการ ให้จัดตั้งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมหรือ ก.ต. และบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไปตามความต้องการของฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากผิดหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ดังกล่าวมาแล้ว ยังทำให้การบริหารงานบุคคลภายในองค์กรฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ต้องตกอยู่ภายใต้คำสั่งหรือคำบงการของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เป็นอิสระ ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 196 อีกด้วย
10.ระบบบริหารงานบุคคล ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 76
10.1 ขัดแย้งกับระบบอาวุโสตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
1) การบริหารบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ของฝ่ายนิติบัญญัติ ใช้ระบบคณะกรรม ที่เรียกชื่อว่า “คณะกรรมการตุลาการ” หรือ ก.ต. ตามรัฐธรรมนูญฯเพียงชุดเดียว เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย ให้รางวัลความดีความชอบ เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนอัตราเงินเดือน ทุกชั้นศาล ทุกตำแหน่ง ตั้งแต่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ไปจนถึงการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ควบคุมดูแลการรักษาวินัยและลงโทษ ผู้พิพากษา ทั้งองค์กรศาลยุติธรรม ตลอดจนวางระเบียบหรือข้อบังคับหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ก.ต. ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น เช่น หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 68 มาตรา 70
2) องค์ประกอบของ ก.ต. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ของฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย
(1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต. โดยตำแหน่ง
(2) ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ 15 คน แบ่งเป็น ก.ต. ซึ่งผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาล ยกเว้นตำแหน่ง
ผู้ช่วยผู้พิพากษา เป็นผู้เลือกจากผู้พิพากษาในชั้นศาลของตนเอง คือ
- ศาลชั้นฎีกา เลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา 6 คน
- ศาลชั้นอุทธรณ์เลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ 4 คน
- ศาลชั้นต้น เลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาล 2 คน
- วุฒิสภาเลือกจากบุคคลที่ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ 2 คน
ผลจึงทำให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในศาลชั้นต้นซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่า ไม่เคยเป็นผู้พิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ศาลชั้นฎีกาที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนในตำแหน่ง ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในระดับศาลชั้นต้น กลายเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้ง ให้ความดี ความชอบ เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนอัตราเงินเดือน ของผู้พิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ไปจนถึงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ทุกตำแหน่ง ส่วนผู้พิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่า ไม่เคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนในตำแหน่ง ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ ในระดับศาลชั้นอุทธรณ์ ก็เป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งให้ความดีความชอบเลื่อนชั้นเลื่อน ตำแหน่งเลื่อนอัตราเงินเดือนของผู้พิพากษาศาลฎีกาไปจนถึงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ทุกตำแหน่งขัดแย้งกับระบบอาวุโสตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
- ในทางปฏิบัติ แม้จะมีการแต่งตั้งผู้พิพากษาในระดับศาลฎีกาที่มีอาวุโสลำดับที่ 2
รองจากประธานศาลฎีกา เป็นประธานศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาเป็น ประธานศาลอุทธรณ์ภาคหรือศาลอุทธรณ์อื่น ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค แต่บุคคลในตำแหน่งดังกล่าวก็ไม่ได้รับเลือกเป็น ก.ต.ตัวแทนของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ เพราะผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น และศาลชั้นอุทธรณ์ เห็นว่าไม่ใช่ผู้พิพากษาในชั้นของตนอย่างแท้จริง จึงเลือกแต่ผู้พิพากษาในระดับชั้นของตน โดยเฉพาะในรุ่นที่สอบเข้ารับราชการได้รับการฝึกอบรมเดียวกันที่เป็นรุ่นใหญ่มีจำนวนมากเป็น ก.ต. ผู้พิพากษาตัวแทนศาลชั้นต้น 2 คน และผู้พิพากษาตัวแทนศาลชั้นอุทธรณ์อีก 4 คนนี้ ไม่ว่าจะนั่งทำงานอยู่ในศาลใด ย่อมทำให้ผู้บังคับบัญชาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมในศาลนั้น อึดอัดไม่อาจบังคับบัญชากิจการศาลให้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้ เพราะการบริหารงานบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมของฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำให้ ตัวแทนผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหกคนนี้กลายเป็น ผู้บังคับบัญชา มีอำนาจให้คุณให้โทษตนไปเสียแล้ว ขัดแย้งกันรุนแรงและลุกลามไปถึงความรู้สึกเคารพเชื่อฟังคำแนะนำสั่งการในอำนาจหน้าที่ตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11ถึงมาตรา 14 ของทั้งตัวผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต.เพื่อนร่วมรุ่น ผู้ใกล้ชิดผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต. ไปตลอดทั้งสองชั้นศาล ส่งผลต่อประสิทธิภาพคุณภาพการให้บริการความยุติธรรม แก่ประชาชน
4) ด้วยจำนวนผู้พิพากษาศาลยุติธรรมยกเว้นผู้ช่วยผู้พิพากษา ปัจจุบันมีทั้งหมดเกือบ4,500 คน เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาและผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ที่มีอำนาจลงคะแนนเลือกตัวแทนเป็น ก.ต. ศาลชั้นฎีกา 170 คนเศษ เป็นผู้พิพากษาประจำศาลชั้นอุทธรณ์ มีอำนาจเลือกตัวแทนเป็น ก.ต. ศาลชั้นอุทธรณ์ 900 คนเศษ ที่เหลือเป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเกือบ 3,000 คน แม้การลงคะแนนเลือก ก.ต. จะแยกตามชั้นศาล ไม่เกี่ยวข้องกัน และ ก.ต. เลือกตั้งในระดับศาลชั้นต้นมีตัวแทนเพียง 2 คนในระดับศาลชั้นอุทธรณ์มีตัวแทน 4 คน ส่วนศาลชั้นฏีกามีถึง 6 คนทำให้จำนวนเสียงข้างมากของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง ก.ต. ศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นฎีกา ต่างจากการเลือกตั้ง ก.บ.ศ. ศาลชั้นฎีกาศาลชั้นอุทธรณ์ที่ใช้จำนวนเสียงทั้งหมดทุกชั้นศาลร่วมกันเลือกก็ตามแต่การให้ ก.ต. ทั้ง 3 ชั้นศาลมีอำนาจหน้าที่ร่วมกันพิจารณาให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาทั้งองค์กรไม่แยกตามชั้นศาลที่เลือกตั้งให้เป็นตัวแทน นอกจากมีผลทำให้ผู้พิพากษาตัวแทนศาลชั้นต้นที่เป็น ก.ต. กลาย เป็นผู้บังคับบัญชาของผู้พิพากษาทั้งศาลชั้นอุทธรณ์และศาลชั้นฎีกา ทำให้ตัวแทนผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่เป็น ก.ต. และผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่เป็นเครือข่ายใกล้ชิดมีอำนาจ มีอิทธิพลได้รับความเกรงใจจากผู้พิพากษาศาลในระดับชั้นที่สูงกว่าแล้ว ยังมีผลทำให้ตัวแทนผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่เป็น ก.ต. มีอิทธิพลในฐานะผู้กุมคะแนนเสียงข้างมากของผู้พิพากษาในระดับศาลชั้นต้นทั้งหมดเหนือนักการเมืองหรือนักเลือกตั้งในองค์กรศาลชั้นอุทธรณ์ศาลชั้นฎีกาที่ต้องอาศัยคะแนนเสียงจำนวนมากที่สุดของผู้พิพากษาทั้งองค์กรเลือกตนเป็น ก.บ.ศ. ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พูดง่ายๆ ก็คือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเป็นคนตั้ง ก.บ.ศ. ศาลชั้นอุทธรณ์และศาลชั้นฎีกานั่งเอง เพราะผู้พิพากษาในศาลชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกา รวมกัน ยังไม่มีเสียงเพียงพอแต่งตั้ง ก.บ.ศ.ชั้นศาลของตน แข่งกับศาลชั้นต้นได้แม้แต่คนเดียว
นอกจากนี้โครงสร้าง ก.ต. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มี ก.ต.เป็นคนที่อยู่นอกศาลฎีกา 8 คน เป็นคนที่อยู่ในศาลฎีกาเพียง 7 คน นั้นเปิดโอกาสให้ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดสำคัญที่สุดของประเทศถูกยืดอำนาจการบริหารงานบุคคลโดยคณะบุคคลที่อยู่นอกศาลฎีกาได้อยู่แล้ว หากมี ก.ต. เลือกตั้งในศาลชั้นฎีกาบางคนที่คิดจะข้ามฟากไปสมัครรับเลือกเป็น ก.บ.ศ. ศาลชั้นฎีกาเมื่อครบวาระต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ก.ต.ศาลชั้นฎีกาเป็นแนวร่วมอีกโอกาสที่ศาลฎีกาจะถูกยึดอำนาจการ ขึ้นเป็นบริหารงานบุคคล ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
5)โดยธรรมชาติของนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นในนักการเมืองระดับใดจะมีบุคคลเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สนใจและชอบอาสาเข้ามาทำงานการเมืองแทนคนทั้งหมดในองค์กรศาลยุติธรรมก็เช่นเดียวกัน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ก.ต. หรือก.บ.ศ. ไม่ว่าจะอยู่ศาลชั้นใด เป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ก็สมัครรับเลือกตั้งเป็น ก.ต. หรือ ก.บ.ศ. ในระดับศาลชั้นต้น เมื่อเลื่อนขึ้นเป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นอุทธรณ์ ในศาลชั้นฎีกา ก็สมัครรับเลือกตั้งเป็น ก.ต. หรือ ก.บ.ศ. ในระดับศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาไปตลอดทาง ยิ่งพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการศาลยุติธรรม( ก.บ.ศ. )และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม( ก.ต. )เพียงแต่ห้ามเป็น ก.ต. หรือ ก.บ.ศ. เกิน 2 วาระติดต่อหันและจำกัดห้ามเป็นควบ 2 ตำแหน่งในเวลาเดียวกันเท่านั้น ไม่ได้จำกัดห้ามเป็น ก.ต. และก.บ.ศ. อย่างหนึ่งอย่างใดได้เพียง 2 วาระและ ไม่ห้ามสับเปลี่ยนสนามเลือกตั้งผู้ที่เป็น ก.ต.หรือก.บ.ศ.ที่ครบวาระต้องห้ามในสนามเลือกตั้งหนึ่งจึงสลับสับเปลี่ยนไปลงสมัครมนอีกสนาม เลือกตั้งหนึ่ง หมุนเวียนต่อเนื่องไปตลอดทางการเลือก ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม นั้นฝ่ายนิติบัญญัติตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ ฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ มาตรา 36 กำหนดให้แต่ละชั้นศาลเลือกตัวแทนในแต่ละชั้นศาลของตนเป็น ก.ต. แต่การเลือก ก.บ.ศ. ฝ่ายนิติบัญญัติตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมฯมาตรา 10 กำหนดให้ทุกชั้นศาลร่วมกันเลือกจากผู้พิพากษาในศาลชั้นฎีกาที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นตัวแทน 4 คน เลือกจากผู้พิพากษาในศาลชั้นอุทธรณ์ ที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์เป็นตัวแทน 4 คน ศาลชั้นต้นเลือกจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่มีอาวุโสสูงสุด 100 คนแรกเป็นตัวแทน 4 คน ทำให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากจะเป็นผู้แต่งตั้ง ก.บ.ศ. ในระดับชั้นศาลของตัวเองแล้วยังข้ามชั้นศาลเข้าไปแต่งตั้ง ก.บ.ศ. ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นฎีกาอีกชั้นศาลละ 4 คน โดยไม่มีคนในชั้นศาลของตนเองลงแข่งขันอีกด้วย สภาพเช่นนี้เป็นโอกาสของนักการเมืองในองค์กรระดับศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นฎีกาที่ต้องอาศัยเสียงจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเข้าสู่ตำแหน่ง จำเป็นต้องแย่งกันผูกมิตรเอาใจผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่เป็น ก.ต. และ ก.บ.ศ. รวมทั้งเครือข่ายเพราะเป็นผู้กุมคะแนน เสียงข้างมากของผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น เพื่อให้ช่วย หาเสียงให้ผู้พิพากษาในระดับศาลชั้นต้นเลือกตนเป็น ก.บ.ศ. ทำให้ 2 เสียงของ ก.ต. และ4เสียงของ ก.บ.ศ. ตัวแทนศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่เป็นผู้นำในแต่ละรุ่นผู้ช่วยผู้พิพากษาที่สอบเข้ารับราชการได้รับความเกรงใจจากผู้พิพากษานักเลือกตั้งของศาลชั้นอุทธรณ์และศาลชั้นฎีกาที่มีเป้าหมายจะลงสมัครรับเลือกตั้งในสนาม ก.บ.ศ. ในศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกา ทุกคนจึงต่างแย่งกันเอาใจผูกมิตร หลีกเลี่ยงการขัดแย้งกับ 2 เสียงของ ก.ต. และ 4 เสียงของ ก.บ.ศ. ตัวแทนศาลชั้นต้นรวบทั้งเครือข่ายผู้นำรุ่นผู้ช่วยผู้พิพากษาดังนั้น 2 เสียงของ ก.ต. และ 4 เสียงของ ก.บ.ศ. ศาลชั้นต้น จึงเป็นเสียงที่ทรงพลังมีอิทธิพลครอบงำทั้งในที่ประชุม ก.ต. และ ก.บ.ศ.
แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการประชุมของ ก.ต. และ ก.บ.ศ. ในข้อราชการที่มีผลต่อสิทธิประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียหรือที่อยู่ในความสนใจของผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น หรือที่ ก.ต. หรือก.บ.ศ. ศาลชั้นต้นให้ความสำคัญ ผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต. และ ก.บ.ศ. ศาลชั้นต้นอุทธรณ์ ศาลชั้นฎีกา ที่ต้องการเสียงของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเลือกตนเป็น ก.บ.ศ. ในศาลชั้นอุทธรณ์ศาลฎีกา จะกล้าอภิปรายไม่เห็นด้วยหรือ ออกเสียงลงมติ ขัดแย้งกับ ก.ต. และ ก.บ.ศ. ตัวแทนของศาลชั้นต้น และมั่งใจได้อย่างไรว่า จะไม่เลยเถิดไปถึงการทำคำพิพากษาสำนวนคดีความของผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต. หรือ ก.บ.ศ. ในศาลชั้นต้นและเครือข่ายที่ขึ้นสู่ศาลชั้นอุทธรณ์และศาลชั้นฎีกาที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้พิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์และศาลชั้นฎีกาที่เป็น ก.ต. หรือ ก.บ.ศ. และเครือข่ายว่า จะไม่เป็นช่องทางที่ส่งเสริมให้เกิดความลำเอียง หรือการทุจริต
โครงสร้าง ก.บ.ศ. ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 10 กำหนดให้มี ก.บ.ศ.ที่มาจากการเลือกตั้ง 3 ชั้นศาลๆละ 4 คน มีประธานศาลฎีกาซึ่งมาจาก ศาลฎีกาอีก 1 คนเป็นประธาน ทำให้ จำนวนเสียง ก.บ.ศ. ที่อยู่นอกศาลฎีกามีจำนวน 8 เสียง มากกว่า 5 เสียงของ ก.บ.ศ. ในศาลชั้นฎีกาอยู่ 3 เสียง การเลือก ก.บ.ศ. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กรหรือด้านการบริหารและการจัดการ ( ก.บ.ศ.คนนอก)ที่กำหนดจำนวนไม่น้อยกว่า 2 คนแต่ไม่เกิน 4 คน ก็ให้ประธาน ก.บ.ศ. และ ก.บ.ศ. ทั้ง 3 ชั้น ศาลร่วมกันเลือก เมื่อ ก.บ.ศ. ชั้นศาลฎีกาเป็นเสียงข้างน้อยในการเลือก ก.บ.ศ. คนนอก สภาพเช่นนี้ ก็เท่ากับศาลชั้นต้นเป็นคนกำหนดตัว ก.บ.ศ. คนนอกได้อีก ทำให้ศาลชั้นต้นเป็นฝ่ายกุมคะแนนเสียงข้างมากใน ก.บ.ศ. ไว้ในมือ
เมื่อผนวกกับ ก.บ.ศ. เลือกตั้งในโควตา ศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นฎีกา ต้องอาศัยเสียงของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นแต่งตั้งตนเข้าสู่ตำแหน่ง ประธานศาลฎีกาในฐานะประธาน ก.บ.ศ. ก็ตกอยู่ในสภาพเป็นเสียงข้างน้อย บางครั้งอาจถึงขั้นเป็นเสียงเดียวใน ก.บ.ศ. โดยมี ก.บ.ศ. ศาลชั้นต้นเป็นผู้กุมเสียงข้างมากในที่ประชุมแล้วการที่ฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดให้ประธานศาลฎีกา ออกข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 5 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมหรือ ก.บ.ศ. ซึ่งขัดกับอำนาจประธานศาลฎีกาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 5 นั้น ประธานศาลฎีกาจะออกข้อบังคับให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติได้อย่างไร มีแต่ศาลชั้นต้นจะออกข้อบังคับให้ประธานศาลฎีกาและศาลยุติธรรมทั้งระบบปฏิบัติเสียมากกว่า
6) การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 196 เปลี่ยนหลักการที่มาของก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ2คนซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมหรือก.ต.คนนอกจากการเลือกตั้งของวุฒิสภามาเป็นให้ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมทั้งระบบเลือกด้วยเสียงข้างมากนั้น ด้วยจำนวนเสียงของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเกือบ 3,000 คนที่มากกว่าเสียงของผู้พิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นฎีกา ดังได้กล่าวมาแล้ว ก็จะทำให้ได้ ก.ต. คนนอก ที่เป็นตัวแทนของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเพิ่มขึ้นอีก 2 คน และขณะนี้อยู่ในระหว่างที่ฝ่ายนิติบัญญัติ กำลังแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก.ต. คนนอกให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว อาการอมโรคของศาลยุติธรรมก็
จะรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากอาจได้เห็น ก.บ.ศ. คนนอก ที่สนิทสนมกับ ก.ต.หรือ ก.บ.ศ. ในระดับศาลชั้นต้น ที่เป็นครบ 2 วาระข้ามฟากไปได้รับเลือกตั้งเป็น ก.ต. คนนอกแล้ว ยังอาจได้เห็น ก.ต. คนนอก ที่สนิทสนมกับ ก.ต. หรือ ก.บ.ศ. ในระดับศาลชั้นต้น ที่เป็นครบ 2 วาระ ข้ามฟากไปได้รับเลือกตั้งเป็น ก.บ.ศ. คนนอก สลับกันไปมาอีกด้วย
7) ยิ่งการบัญญัติให้อำนาจผู้พิพากษาจำนวน 1 ใน 5 ของผู้พิพากษาทั้งระบบสามชั้นศาล หรือจำนวน 899 คนในปัจจุบันเข้าชื่อกันให้ถอดถอน ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิหรือ ก.ต. เลือกตั้ง ที่มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทกฎหมาย ข้อบังคับ คุณธรรมและจริยธรรม หรือกระทำการอันมีมูลเป็นความผิดทางวินัย ถูกกล่าวหาหรือกรณีเป็นที่สงสัยว่า กระทำผิดทางวินัย ได้ทุกชั้นศาลโดยใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้พิพากษาทั้งระบบสามชั้นศาลเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น เว้นแต่ผู้ช่วยผู้พิพากษาโดยวิธีลงคะแนนลับตามมาตรา 42 ก็ยิ่งเพิ่มหรือเสริมอำนาจศาลชั้นต้นเข้าไปอีก นอกจากจะเป็นการตรากฎหมายนำหลักการลงประชามติที่ใช้กับเรื่องนโยบายสาธารณะ เช่นนโยบายเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงผ่านการขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงสุนัขและแมว หรือนโยบายเรียนฟรีตลอดชีวิต มาใช้ลงมติกับการกระทำของบุคคลผู้ถูกกล่าวหา ที่ต้องอาศัยการพิสูจน์ความจริงด้วยพยานหลักฐานในองค์กรผู้เชี่ยวชาญ การพิสูจน์ความจริงด้วยพยานหลักฐานเช่นศาลยุติธรรมแล้ว ยังเป็นการออกกฎหมายตัดสิทธิตัดโอกาสไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้สืบพยานพิสูจน์ความจริงด้วยพยานหลักฐานอันเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลขัดต่อหลักนิติธรรมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 26 และเป็นการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบวิธีพิจารณาความโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคลหรือฐานะทางสังคมตามมาตรา 27 อีกด้วย สภาพเป็นเพียงแค่ให้ผู้พิพากษาทั่วประเทศอ่านคำฟ้องอ่านคำให้การ แล้วลงประชามติว่าจะเชื่อฝ่ายใดแล้วตัดสินให้ฝ่ายนั้นชนะคดี ไปไม่ต้องพิสูจน์ความจริงด้วยพยานหลักฐาน และถึงที่สุดอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ยิ่งทำให้ศาลชั้นต้นกลายเป็นองค์กรผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมกล่าวคือ
- การเลือกตั้ง ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
ศาลยุติธรรมฯ ของฝ่ายนิติบัญญัติ นั้นแยกการเลือกตั้งตามชั้นศาล ใครอยู่ศาลชั้นไหนเลือก ก.ต. ศาลชั้นนั้น แต่การถอดถอนกลับใช้คะแนน เสียงรวมของผู้พิพากษาทั้ง 3 ชั้นศาล ทำให้ผู้พิพากษาทุกชั้นศาลสามารถออกเสียงลงมติถอดถอน ก.ต. ตัวแทนของศาลชั้นอื่นที่ตนไม่มีสิทธิเลือกตั้งได้ คือมีสิทธิออกเสียงถอดถอนทั้งที่ไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แม้แต่ผู้พิพากษาประจำศาลที่เข้าใหม่เพิ่งพ้นสภาวะผู้ช่วยผู้พิพากษาไม่เคยทำงานหรือได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ยังไม่ประสีประสากับการเมืองในองค์กรเปรียบเหมือนเด็กอายุไม่ถึง 18ปี ตามรัฐธรรมนูญก็ยังมี สิทธิออกเสียงลงมติถอดถอน ก.ต. ศาลฎีกาที่เพิ่งอนุมัติรับตนเข้าเป็นผู้พิพากษาได้ หรือพูดง่ายๆก็คือวันนี้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาปุ๊บรุ่งขึ้นก็ถอดถอนคนแต่งตั้งตนเองออกจากตำแหน่งปั๊บเลย
- เมื่อดูจำนวนเสียงของผู้พิพากษาในศาลชั้นฎีกาซึ่งมี 170 กว่าเสียง ศาลชั้นอุทธรณ์
มี 900 กว่าเสียงศาลชั้นต้นมีเกือบ 3,000 เสียง บอกได้เลยว่า ศาลฎีกาและศาลชั้นอุทธรณ์ ไม่ต่างอะไรกับชนเผ่าหรือชนกลุ่มน้อยที่อ่อนแอขององค์กรศาลยุติธรรม ศาลฎีกาไม่ต้องคิดถึงการมีสิทธิลงมติถอดถอน ก.ต. เลือกตั้งตัวแทนของศาลชั้นใดๆ เลยแม้แต่การเข้าชื่อ 1 ใน 5 เพื่อเริ่มต้นกระบวนการให้มีการลงมติถอดถอน ก.ต. ไม่ว่าศาลชั้นใดก็ยังทำไม่ได้ การปกป้องไม่ให้ ก.ต. ตัวแทนของศาลชั้นฎีกา ศาลชั้นฎีกา ศาลชั้นอุทธรณ์ถูกถอดถอนโดยศาลชั้นต้น หากไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหา ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ได้แต่ยืนดูศาลชั้นต้นถอดถอนกันตาปริบๆ โดยมี “ตาอยู่” นักการเมืองในองค์กรศาลชั้นฎีกา ศาลชั้นอุทธรณ์ที่รอการเลือกตั้ง ก.ต. ศาลชั้นฎีกา ก.ต. ศาลชั้นอุทธรณ์ครั้งต่อไป เป็นแนวร่วมคอยรับประโยชน์จากการถอดถอน
สภาพการลงคะแนนลับในการเลือกตั้ง ก.ต. ศาลชั้นฎีกา ของผู้พิพากษาศาลฎีกานั้น ไม่ต่างจากการลงมติโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายต่างๆหลายฉบับ เพียงแต่ไม่ได้ทำพร้อมกันหลังอภิปรายให้เสร็จไปในห้องประชุมเท่านั้น แต่มติที่ประชุมเท่านั้น แต่มติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็น ก.ต. ตัวแทนศาลชั้นฎีกา กลับถูกผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเสียงข้างมากที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ยกเลิกเพิกถอนได้โดยมติหรือความเห็นเสียงข้างมากของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่ไม่เห็นควรให้ถอดถอนไม่อาจต้านทานรักษา ก.ต. ตัวแทนของตนเองได้เลย
ศาลชั้นอุทธรณ์ ก็มีเพียงสิทธิเข้าชื่อ 1 ใน 5 เพื่อเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนเท่านั้น ไม่มีเสียงพอลงมติถอดถอน ก.ต. ไม่ว่าศาลชั้นใด แม้แต่ ก.ต. ตัวแทนศาลชั้นอุทธรณ์ของตัวเอง ก็ไม่สามารถปกป้องไม่ให้ถูกศาลชั้นต้นถอดถอนเช่นกัน
ส่วนศาลชั้นต้น มีสิทธิตั้งแต่เริ่มกระบวนการขอถอดถอน มีอำนาจถอดถอน ก.ต. เลือกตั้งได้ทุกชั้นศาลแม้ไม่ใช่ชั้นศาลที่ตัวเองเลือกตั้งมาก็ตาม แบบนี้จะให้ ก.ต. ศาลชั้นอุทธรณ์ ก.ต. ศาลชั้นฎีกาบังคับบัญชาผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้อย่างไร อย่าว่าแต่ผู้พิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลชั้นฎีกาจะต้องเคารพเกรงกลัวผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเลย แม้แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นฎีกาที่เป็น ก.ต.ไม่ว่าจะมีระดับอาวุโสสูงเพียงใดก็ยังจะเอาตัวไม่รอด หากทำให้ศาลชั้นต้นไม่พอใจ ดังที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้
10.2 ไม่ส่งเสริมธรรมาภิบาลในองค์กรฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
1) การที่ฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 51 แต่เพียงให้ ก.ต. ทั้งหมด มีอำนาจวางระเบียบหรือข้อบังคับอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ก.ต. ตามพระราชบัญญัติฯหรือกฎหมายอื่นได้และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น นอกจากเป็นเพียงการให้อำนาจ ก.ต. ใช้ดุลพินิจว่าสมควรวางระเบียบข้อบังคับซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ใช้บังคับทั้งผู้พิพากษาผู้ใต้บังคับบัญชาและ ก.ต. ผู้วางระเบียบข้อบังคับให้ต้องปฏิบัติตามหรือไม่แล้ว การต้องใช้คะแนนเสียง ก.ต. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ ก.ต. ทั้งหมดจึงมีอำนาจวางระเบียบได้ ยิ่งทำให้การวางระเบียบข้อบังคับการบริหารงานบุคคลในเรื่องที่ผูกมัดให้ ก.ต. ต้องยึดถือปฏิบัติด้วย เช่น การโยกย้าย สับเปลี่ยนตำแหน่ง การเลื่อนชั้นศาล เลื่อนชั้นเงินตอบแทน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการความโปรงใส เป็นธรรม ไม่อาจเป็นไปได้เลยจึงมีแต่การวางระเบียบข้อบังคับการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ปลีกย่อยที่บังคับผู้พิพากษา ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือฝ่ายอื่นให้ปฏิบัติเช่น *ระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการเข้าชื่อและการลงมติเพื่อถอดถอนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ*ระเบียบฯ ว่าด้วยการสมัคร การสอบคัดเลือก และการทดสอบความรู้เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา*ระเบียบฯ ว่าด้วยคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมฝ่ายส่งเสริมจริยธรรม
การแต่งตั้งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่ง การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง เป็นเรื่องที่กำหนดขึ้นเฉพาะกิจ โดยมีเป้าหมายอื่นแอบแฝงด้วยเสมอ หาหลักเกณฑ์การโยกย้าย สับเปลี่ยนตำแหน่ง การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง ที่แน่นอนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามองค์ประกอบของ ก.ต. แต่ละชุดที่เปลี่ยนแปลงไปตามวาระ เมื่อเกิดเป็นวิกฤตตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติก็แก้ปัญหาด้วยการส่งบุคคลภายนอกองค์กรศาลยุติธรรมเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติเข้าร่วมเป็น ก.ต. เป็นผู้บังคับบัญชาร่วมพิจารณาให้คุณให้โทษข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ภายใต้หลักเกณฑ์เฉพาะกิจของ ก.ต. ที่ไม่คงที่แน่นอน ไม่โปร่งใส ตามมาตรา 51 นั้นเอง
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 196 จะเปลี่ยนหลักการเกี่ยวกับ ก.ต. คนนอกให้ข้าราชการตุลาการทั้งองค์กรเป็นผู้เลือก เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้ ก.ต. คนนอกเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติก็ตามแต่รัฐธรรมนูญฯก็ไม่บัญญัติบังคับให้ ก.ต. มีหน้าที่ต้องวางระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ การปฏิบัติในการบริหารงานบุคคล ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน จึงจะมีอำนาจพิจารณาลงมติในเรื่องนั้นๆได้ ปัญหาเกี่ยวกับธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคคลขององค์กรฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม จึงยังคงไม่ได้รับการแก้ไข
11.สมควรเรียกว่าเป็นการ “วางระเบิด” มากกว่าจะเป็นการ “วางระเบียบ”
11.1 การเข้ามาวางระเบียบบริหารงานบุคคลในบ้านของฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ของฝ่ายนิติบัญญัติดังกล่าว ส่งผลให้การปกครองบังคับบัญชาไม่เป็นไปตามลำดับชั้นศาล เกิดการแตกแยกแตกสามัคคีระหว่างผู้พิพากษาทั้งภายในชั้นศาลและระหว่างชั้นศาล ศาลยุติธรรมอ่อนแอลงส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพให้บริการความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์กรศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาศาลขั้นต้น ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมีอาวุโสน้อยที่สุดกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดในระบบบริหารงานบุคคล เหนือกว่าองค์กรและผู้พิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นฎีกา ทำให้ระบบอาวุโสตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่ใช้กันมาเป็นร้อยปีเกิดการสั่นคลอนอย่างรุนแรง ความเคารพนับถือให้เกียรติผู้พิพากษาที่มีอาวุโสมากกว่าลดลง
อย่างน่าใจหาย เกิดการรวมกลุ่มมากด้วยจำนวนผู้พิพากษาที่มีอาวุโสน้อยกระด้างกระเดื่องต่อรองกับผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เกิดการกล่าวหากล่าวโทษผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงไม่เว้นแม้แต่ตัว ก.ต. ในชั้นศาลฎีกาที่มีอาวุโสสูงมากด้วยสาเหตุส่วนตัวระหว่างกลุ่มระหว่างชั้นศาลเพื่อไม่ให้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม การขัดแย้งแตกสามัคคี กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและต่อไปคงจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนถ่ายตำแหน่งผู้นำสำคัญๆในองค์กรศาลยุติธรรม เกิดเป็นระบบที่ผู้มีประสบการณ์น้อยกว่าปกครองผู้มีประสบการณ์มากกว่า หรือผู้เข้ามาทีหลังปกครองผู้เข้ามาก่อนไม่เป็นไปตามระบบอาวุโสซึ่งเป็นระบบคุณธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ขัดกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ.ศ.2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐมาตรา 76 วรรค 2 ที่กำหนดให้รัฐพึง
คุณธรรม ที่อย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการ พิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
11.2 กฎหมายนี้เป็นประโยชน์เฉพาะกับบุคลากรที่เข้ามาเป็นผู้พิพากษาเมื่ออายุมากหรือผู้ที่เข้ามาทีหลังแล้วออกไปก่อนเท่านั้น ส่วนผู้ที่เข้ามาก่อนแล้วออกทีหลัง เช่นผู้พิพากษาที่เข้ามาตามเกณฑ์อายุน้อยสุดจะเสียประโยชน์มากสุด แม้มีอำนาจในการบริหารงานบุคคลมากในขณะเป็นผู้พิพากษาระดับศาลชั้นต้นแต่ก็จะค่อยๆลดลง เมื่อเลื่อนขึ้นเป็นผู้พิพากษาในระดับศาลชั้นที่สูงขึ้น เป็นวัฏจักรเรื่อยไป
12.พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 5
- เมื่อการตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ของฝ่ายนิติบัญญัติขัดหลักการขั้นพื้นฐาน ของการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยระหว่าง ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3
- ไม่มีกฎหมายใด ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตราใดให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายวางระเบียบการบริหารงานบุคคลภายในองค์กรของฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมได้
- การตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ของฝ่ายนิติบัญญัติใช้บังคับในการบริหารงานบุคคลขององค์กรฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ทำให้การบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมไม่เป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 196
- เป็นการบัญญัติวางระเบียบบริหารงานบุคคลในองค์กรของฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม โดยไม่ยึดถือหลักการหรือไม่เป็นไปตามหลักอาวุโสตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ไม่ส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคคลซึ่งเป็นระบบคุณธรรม ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 76 วรรค 2
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ส่วนที่วางระเบียบบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมจึงขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 1 บททั่วไปมาตรา 5 วรรคแรก ระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม จำเป็นต้องล้างไพ่วางระเบียบกันใหม่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543
13.ข้อเสนอแนะ
13.1 ภายหลังจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 5 วรรค 1 แล้ว ควรถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของประธานศาลฎีกาที่จะต้องวางระเบียบการบริหารงานบุคคลในองค์กรฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 5
13.2 เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศของระเบียบการบริหารงานบุคคลในองค์กร ควรอาศัยอำนาจประธานศาลฎีกาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 5 ประกาศให้ใช้ข้อความตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ของฝ่ายนิติบัญญัติส่วนที่ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ เป็นระเบียบบริหารงานบุคคลชั่วคราวใช้บังคับไปพลางก่อน ระหว่างยังไม่มีการร่างระเบียบบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมโดยฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
13.3 ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 10 ส่วนที่ 2 ศาลยุติธรรมและ/หรือพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 5 นำหลักการที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เช่นมาตรา 226 วรรคท้ายที่บัญญัติให้อำนาจที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการ วางระเบียบการพิจารณาพิพากษาคดีเลือกตั้ง มาใช้ในการวางระเบียบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเป็นอิสระตามมาตรา192 ป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือพิจารณาความดีความชอบ ตามมาตรา 76 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และเพื่อช่วยกันระดมสมองและรับผิดชอบร่วมกันในการวาง
ระเบียบฯเพื่อความรอบคอบ
ขนาดระเบียบวิธีการพิจารณาพิพากษาคดีเลือกตั้ง ซึ่งบังคับใช้กับประชาชนในลักษณะกฎหมายวิธีพิจารณาความมีผลกระทบกับประชาชนโดยตรงรัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมวางระเบียบได้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้ฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจวางระเบียบบริหารงานบุคคลบังคับใช้ภายในองค์กรฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมของตนเองตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และไม่มีเหตุผลใดที่ฝ่ายนิติบัญญัติและ/หรือฝ่ายบริหารจะไม่ยอมแก้ไขกฎหมายให้ประธานศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา เป็นผู้วางระเบียบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับภายในองค์กรที่ไม่มีผลกระทบกับประชาชนโดยตรง
13.4 เพื่อรักษาระบบอาวุโสตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งเป็นระบบคุณธรรม ไม่ให้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 76 วรรค 2 ฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมควรวางระเบียบบริหารงานบุคคลให้มีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) แยกการบริหารงานบุคคลแต่ละชั้นศาลออกจากกันเป็น 3 คณะ ซึ่งสามารถกระทำได้เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 196 บัญญัติหลักการกว้างๆเพียงให้การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นข้าราชการในแต่ละชั้นศาลและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการ บรรดาที่ได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการไม่เกิน 2 คน เท่านั้นไม่ได้จำกัดให้มีเพียงคณะเดียวกันใช้กับทุกชั้นศาล
หรือหากยังใช้รูปแบบคณะกรรมการชุดเดียวกับทุกชั้นศาล ก็ควรวางข้อกำหนดจำกัดอำนาจหน้าที่ของกรรมการตัวแทนที่มาจากศาลชั้นต้น และศาลชั้นอุทธรณ์ ไม่ให้เข้าไปมีอำนาจบริหารงานบุคคลพิจารณาความดีความชอบของผู้พิพากษาศาลในระดับชั้นที่สูงกว่า และควรกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของแต่ละชั้นศาลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมร่วมเป็น ก.ต. โดยตำแหน่งหรือโดยการเลือกตั้งเฉพาะตำแหน่งด้วย
13.5 ควรแก้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 196 ยกเลิกการกำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการ(ก.ต.คนนอก) แล้วเพิ่มข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญให้ ก.ต. มีหน้าที่ต้องวางระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการใดๆอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ก.ต. และประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน จึงมีอำนาจพิจารณาลงมติในเรื่องนั้นๆได้เพื่อความแน่นอนโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต. ตามระบบคุณธรรมตามรัฐธรรมนูญ
13.6 ควรแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการการศาล พ.ศ.2543 ( ก.บ.ศ. ) ปรับสัดส่วน ก.บ.ศ. แต่ละชั้นศาลไม่ให้ ก.บ.ศ. ที่อยู่นอกศาลฎีกามีจำนวนมากกว่า ก.บ.ศ. ที่อยู่ในศาลฎีกาและเปลี่ยนรูปแบบการเลือก ก.บ.ศ.จากระบบคนในเลือกคนในคือให้ผู้พิพากษา ทั้งองค์กรศาลยุติธรรมเลือกผู้พิพากษาแยกแต่ละชั้นศาลเป็น ก.บ.ศ.คนในเลือกคนนอกจำนวนหนึ่งร่วมเป็น ก.บ.ศ.เป็นระบบคนนอกเลือกคนในโดยตัวแทนของประชาชนในรัฐสภาเป็นผู้เลือก ผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาลตามจำนวนที่กำหนดเป็น ก.บ.ศ. แล้วให้ ก.บ.ศ. คนในที่ได้รับเลือก ดังกล่าวเลือกคนนอกจำนวนหนึ่งร่วมเป็น ก.บ.ศ. เพื่อให้ศาลยุติธรรมมีจุดเกี่ยวเกาะเกี่ยวยึดโยงกับประชาชน ผ่านตัวแทนของประชาชนในรัฐสภาและทำให้การกำหนดนโยบายการบริการความยุติธรรมมีประชาชนเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 10 ศาลส่วนที่ 2 มาตรา 194 ให้ฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นของงบประมาณแผ่นดินที่เคยได้รับจัดสรรมาก่อนเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มีอำนาจจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เหมือนที่ผ่านมา
หากยังจะใช้การเลือก ก.บ.ศ.ในระบบคนในเลือกคนในเช่นเดิมก็ควรแก้ไขให้แต่ละชั้น ศาลมีสิทธิ์เลือก ก.บ.ศ. ได้เฉพาะศาลในชั้นของตนเองและในกรณียังคงใช้รูปแบบการเลือกตั้ง ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิอยู่เช่นเดิม ก็ควรมีข้อกำหนดห้ามผู้ได้รับเลือกเป็น ก.บ.ศ. และ ก.ต. สับเปลี่ยนไปลงสมัครรับเลือกตั้งในอีกสนามเลือกตั้งและควรกำจัดวาระการเป็น ก.ต. และ ก.บ.ศ. ของผู้พิพากษาไว้เพื่อให้เกิดการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกระจายคิวใหม่ๆ
13.7 ควรแก้ไขพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกำหนดให้กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับ องค์กรฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมใด ที่ขัดพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ เพื่อคุ้มครองป้องกันไม่ให้มีการออกกฎหมายขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเหมือนที่ผ่านมา
13.8 ประกาศระเบียบการบริหารงานบุคคลดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้เป็นสาธารณะ