‘รองปลัดยุติธรรม’จ่อดันบ้านกาญจนาฯเป็นศูนย์ฝึกเอกชนแห่งแรกในประเทศ - ต้นแบบทำงานฟื้นฟู
’ป้ามล’เปิดใจทำงานใช้หัวใจเข้าแลก เปลี่ยนพฤติกรรมด้วยวิชาชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันโรคทางสังคมให้เยาวชนที่ก้าวพลาด ขณะทีนักวิจัยเผยผลลัพธ์บ้านกาญจนาฯจับต้องได้ในสังคมไทย ชูกระบวนการสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม
วันที่ 23 พ.ย. เวลา13.00น. ที่หอศิลปและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในเวทีแลกเปลี่ยน การเดินทางสู่ 15 ปี ของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ภายใต้หัวข้อ “จากศูนย์ฝึกฯนำร่องสู่ศูนย์ฝึกต้นแบบ โอกาสและความหวังของสังคมไทย”
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า 15 ปี ที่เห็นการเปลี่ยนแปลง แนวคิดการลงโทษ บำบัด ฟื้นฟู แก้แค้น ทดแทนกับเด็กที่ก้าวพลาดนั้น คือการลงโทษเท่ากับผู้ใหญ่ถึงแม้จะมีศาลเยาวชนฯแล้วก็ตาม ซึ่งแนวคิดเรื่องนี้เป็นความท้าทายมาก และบ้านกาญจนาฯ เริ่มทดลอง เสริมทักษะ เชิงบวก ใช้พลังเชิงบวกโดยการดูแลของป้ามล ทิชา ณ นคร ที่ได้วางหัวใจที่สำคัญในการทำงานไว้เป็นแนวทาง คือ ศูนย์ฝึกไม่ใช่คุก เป็นที่พักพิงชั่วคราวให้เด็กก้าวพลาด
“นี่คือคานงัดที่สำคัญ เป็นวิสัยทัศน์ในการทำงาน โดยไม่ใช้ความรุนแรงทุกมิติ มีกระบวนการมีส่วนร่วมไม่ใช้ฐานอำนาจ ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก มีการตกลงร่วมกับเด็ก และให้อิสระ รวมทั้งครอบครัวของเด็กด้วย ที่บ้านกาญจนาฯดึงเอามาร่วมในกระบวนการและมิติสัมพันธ์รอบชุมชนที่มีมิตรภาพและสานสัมพันธ์อันดีต่อกัน ด้วยวิธีการที่แยบยลของป้ามล”นายธวัชชัย กล่าว
นายธวัชชัย กล่าวว่า ทุกกิจกรรมในบ้านกาญจนาฯ ผ่านการคิดวิเคราะห์ จัดกิจกรรม เสริมทักษะ เสริมพลังบวกให้กับเด็กปลุกพลังวิญญาณด้านบวกขึ้นอย่างมหาศาลโดยวิธีการ คือเด็กมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ มีการประเมินตนเอง ไต่ระดับของบ้านจนถึงบ้านชนะใจ ต่อเติมความดีด้านบวก เป็นขาวลบดำอย่างเดียว
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงจุดเด่นของบ้านกาญจนาอีกอย่างคือ กิจกรรมอภัยให้เหยื่อ ซึ่งทุกปีในวันสันติภาพไทย จะมีการจัดโดยให้เหยื่อผู้ถูกกระทำ มาเจอกับผู้กระทำ ขอโทษ ให้อภัยกันจะทำให้พวกเขาสามารถข้ามผ่านปมในใจไปได้ เป็นพันธมิตรช่วยเหลือกัน ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบ นำไปใช้ในสายงานคุมความประพฤติ กรมพินิจของรัฐ
"ปัจจุบันในสถานพินิจฯ มีเด็กเข้ามา 4 หมื่นคนต่อปี เฉลี่ยแล้วประมาณ 56% รอลงอาญาคุมประพฤติ หรือรอมาตรการเข้ารับการอบรม ตามโปรแกรม และเด็กที่ศาลพิพากษาแล้วมีไม่เกิน 20% กระจายอยู่ตามศูนย์ฝึกฯ18 แห่งทั่วประทศ
ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ เพื่อที่จะยกระดับบ้านกาญจนาฯเป็น ศูนย์ฝึกเอกชนแห่งแรก ที่เป็นสถานบำบัด ฟื้นฟู ซึ่งยังอยู่ในบริบทรัฐอุดหนุนตามสัดส่วนทางการเงิน แต่ก็สามารถรับเงินบริจาคเข้ามาได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับกรมสรรพากรไว้ ว่าสามารถที่จะนำเงินบริจาคมาลดหย่อนภาษีได้สองเท่า ซึ่งเราหวังว่าในขั้นต่อไป คือการนำรูปแบบของบ้านกาญจนาฯ มาเป็นต้นแบบในการดูแล ทั้งในโรงเรียน ครอบครัว หรือหน่วยงานที่ทำงานกับเด็ก” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุ
ด้าน นางทิชา ณ นคร หรือป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ความสำเร็จระดับหนึ่งของบ้านกาญจนาฯคำตอบคือเริ่มตั้งแต่ บ้านกาญจนาฯไม่รับมรดกทางความคิดที่รัฐเคยปฎิบัติต่อเยาวชนที่ถูกควบคุมตัว จากนั้นก็จัดทัพใหม่ ปลดอำนาจเจ้าหน้าที่ด้วยการไม่ใช้วิทยุสื่อสาร ไม่ให้ใช้กุญแจมือและส่งสัญญาณกับเจ้าหน้าที่ชัดเจนว่า เนื้อตัวร่างกายของเยาวชนคือสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ห้ามละเมิด ขณะเดียวกันเยาวชนต้องเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนMindsetหรือความคิด ที่ไม่เคยมีต้นทุนเลยคือทบทวนความเป็นหุ้นส่วนในการกอบกู้ลูกหลานของพ่อแม่ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวหรือรู้จักในชื่อ “วิชาชีวิต” ที่ใช้แทนวิชาสามัญและวิชาชีพเป็นวิชากระแสหลักในสถานควบคุม ในเรือนจำ ซึ่งวิชาชีวิตที่ได้ออกแบบและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในบ้านกาญจนาฯไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนMindsetเยาวชนที่ก้าวพลาดไปแล้ว แต่ยังมีคุณสมบัติในการสร้าง ภูมิคุ้มกันโรคทางสังคม ให้กับเด็กและเยาวชนที่ยังไม่พลาดได้อีกด้วย
“แต่ปัญหาใหญ่เท่าภูเขาที่ขวางหน้าคือ ทำอย่างไรให้ความสำเร็จในระดับหนึ่งของบ้านกาญจนาฯขับเคลื่อนต่อไปโดยมีการสนับสนุนทั้งเชิงนโยบายเชิงระบบและงบประมาณแต่เป็นอิสระในการจัดการ แน่นอนว่าอาจควบคุมหรือกำหนดตัวชี้วัดได้และควรเป็นตัวชี้วัดที่ทันยุคทันสมัยเท่านั้น” นางทิชา กล่าว
ขณะที่ นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักวิชาการ ผู้ทำวิจัยประเมินผลเพื่อแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์จากการทำงานของบ้านกาญจนาฯ กล่าวว่า บ้านกาญจนาฯ ทำให้ได้มองเห็นภาพความจริง คือ หากจะเปลี่ยนคน ต้องเริ่มที่การทำให้เขาเปลี่ยนความเชื่อที่มีต่อพฤติกรรมของเขาเองมาเป็นลำดับแรก ซึ่งการทำงานของป้ามล และบ้านกาญจนาฯ คือ กระบวนการและผลลัพธ์ที่จับต้องได้ของสังคมไทย คำถามสำคัญ คือ เราจะขยายทั้งกระบวนการ และผลลัพธ์ที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงของบ้านกาญจนาฯโดยไม่ละเลยปัจจัยเงื่อนไขของความสำเร็จ ที่สะท้อนผ่านงานวิจัยในวันนี้ได้ด้วยวิธีใด แล้วพวกเราจะร่วมกันขับเคลื่อนได้อย่างไรบ้าง