งบฯ ไม่ใช่ปัญหา! 'สุนี' จี้รัฐอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า แก้ตกหล่น - 6 ปี ใช้เงิน 2.9 หมื่นล.
งบฯ ไม่ใช่ปัญหา! 'สุนี' จี้รัฐเร่งรัดนโยบายอุดหนุนเงินเด็กเล็ก 0-6 ปี ถ้วนหน้า - 6 ปี ใช้ราว 2.9 หมื่นล. เเก้ปัญหาตกหล่น ยกคำเเถลงอธิบดี ดย. พบเข้าไม่ถึงเกือบ 1 เเสนคน ด้านนักวิชาการ มก. ค้านนำเข้าเงื่อนไขบัตรคนจน
วันที่ 23 พ.ย. 2561 คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า และภาคีองค์กรเครือข่าย 109 องค์กร จัดถกแถลงทางวิชาการ เรื่อง สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า:จุดเริ่มต้นของสวัสดิการสังคมทั้งระบบ ณ ห้องประชุม อิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นางสุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวถึงการวิจัยและจัดเวทีทั่วประเทศตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีคนจนตกหล่นจากโครงการสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กจำนวนมาก เนื่องจากระบบการคัดกรองของรัฐมีความสลับซับซ้อนที่กำหนดให้ครอบครัวที่จะมาลงทะเบียนต้องมีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน ต้องมีคนเข้าเยี่ยมคัดกรอง และให้เจ้าหน้าที่รัฐรับรอง 2 คน
ประกอบกับงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหลายองค์กร ปรากฎข้อมูลว่า มีเด็กยากจนเข้าไม่ถึงสวัสดิการดังกล่าวและตกหล่นอย่างน้อย ร้อยละ 30 ทั้งนี้ อธิบดี ดย. เพิ่งแถลงข่าวเพื่อไม่กี่วันมานี้มีเด็กยากจนเข้าไม่ถึง 9.4 หมื่นคน
“โครงการสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กมีเป้าหมายเพื่อเด็กยากจน แต่เด็กยากจนจริง ๆ กลับยังตกหล่น” นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าว และว่า เราจะยอมให้เด็กยากจนตกหล่นอยู่ตลอดไปหรือไม่
นางสุนี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า เด็กแรกเกิดในครัวเรือนที่ได้รับเงินอุดหนุนมีภาวะโภชนาการที่ดีกว่าเด็กจากครอบครัวที่ไม่ได้รับเงิน เข้าถึงบริการหลังคลอดมากขึ้น ที่สำคัญแม่ในครัวเรือนที่ได้รับเงินอุดหนุนมีอำนาจในการควบคุมรายได้ตัวเองและมีสิทธิตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับการดูแลบุตรมากขึ้นด้วย
“รัฐควรสนับสนุน ไม่ว่าจะยากดีมีจน เพราะถือเป็นสิทธิของเด็กที่ควรมีตั้งแต่เกิด ถ้าเรายอมรับแนวคิดสิทธิสวัสดิการพื้นฐาน โจทย์นี้จะง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยจากหลายประเทศ พบต่อให้รัฐสร้างระบบคัดกรองมากยิ่งขึ้น ตรวจสอบมากขึ้น แต่ยิ่งคัดกรองมากเท่าไหร่ ย่อมมีคนตกหล่น”
นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลอ้างไม่มีงบประมาณ จากการวิจัยของทีดีอาร์ไอ ซึ่งได้ส่งให้รัฐบาลแล้ว ข้อมูลระบุว่า สมมติอุดหนุนให้เด็กเล็กแบบถ้วนหน้า 600 บาท/เดือน เริ่มปีแรก 0-1 ปี จะใช้งบประมาณราวร้อยละ 0.05 ของจีดีพี และเมื่อครบ 6 ปี จะพบว่า เด็กเกิดน้อยลง จึงมีแนวโน้มที่การใช้งบประมาณน้อยลงเป็นลำดับ ดังนั้น หากอุดหนุนให้ในปีงบประมาณ 2562 จะมีเด็กเล็กได้รับเงินอุดหนุน 1.2 ล้านคน จากนั้นในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือปี 2567 จะได้มีเด็กเล็กได้รับผลประโยชน์กว่า 4 ล้านคน
“งบประมาณไม่ใช่ปัญหา เพราะปีแรกใช้ประมาณ 8 พันล้านบาท ครบ 6 ปี ใช้ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท”
ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า ครม.จะเปลี่ยนแปลงนโยบาย จากที่เคยอุดหนุน 0-3 ปี ไปเป็น 0-6 ปี จากครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน เป็นไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี และโยงเข้าไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถามว่า ควรจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ในการนำเรื่องเด็กเล็กไปผูกกับบัตรสวัสดิการฯ หรือควรเป็นสิทธิสวัสดิการพื้นฐานเบื้องต้นของเด็กเล็กทุกคน
ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวเสริมกรณีหากได้รับเงินอุดหนุนเด็ก งานวิจัยพบว่า เด็กในครอบครัวยากจนมากที่สุดที่ได้รับเงินอุดหนุนมีภาวะแคระแกร็น ผอมแห้ง น้ำหนักน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับประมาณครึ่งหนึ่ง จากร้อยละ 22-28 เหลือเพียงร้อยละ 8-14 อีกทั้งพบว่าทำให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวมากขึ้นในครอบครัวคนจน เพราะแม่ได้โภชนาการที่ดีขึ้น ทำให้มีน้ำนมให้ลูก รวมถึงทำให้เข้าถึงการดูแลหลังคลอดได้มากด้วย ซึ่งความสำเร็จนี้ทำให้หลายประเทศในอาเซียนมาเลียนแบบไทย
ขณะที่ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเตรียมนำเข้าไปอยู่ในเงื่อนไขของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งคนที่จะได้รับต้องมีที่ดินรวมกันไม่เกิน 25 ตารางวา หรือที่ดินการเกษตรไม่เกิน 10 ไร่ ซึ่งการมีที่ดิน 10 ไร่ ไม่ได้หมายความว่า จะพ้นจากความยากจน
“10 ไร่ ทำกล้วยไม้ หรือฟาร์มกุ้ง ร่ำรวย แต่ 10 ไร่ ที่เป็นนาข้าว ปลูกข้าวโพด อ้อย ยางพารา ไม่รอด ซึ่งมีประชาชนในชนบทจำนวนมากมีที่ดินมากกว่า 10 ไร่ แต่ยังยากจน ดังนั้น ไม่เห็นด้วยหากนำเข้าไปอยู่ในเงื่อนไขบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะเกณฑ์ยิ่งทำให้มีการตกหล่นมากขึ้นไปอีก” ดร.เดชรัตน์ กล่าว .