ก.คลังเผย 1 ปี ฝึกอาชีพผู้ถือบัตรคนจน ต่อยอดมีงานทำ 78%
ก.คลัง แถลงผลไทยนิยมยั่งยืน “ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ใกล้ครบ 1 ปี พบ ปชช.ฝึกอาชีพกับธกส.มากที่สุด กว่า 1 ล้านคน คนมีงานทำขยับเป็น 78% เผยแจกอีก 3.1 ล้านใบ ภายใน 1 ม.ค. 62
วันที่ 22 พ.ย. 2561 กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานภาคี จัดแถลงผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ไทยนิยม ยั่งยืน สร้างรอยยิ้ม เพิ่มความสุข ให้คนไทยทุกคน” โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ
นายยุทธนา หยิมการุณ รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงการคลัง โดยเริ่มตั้งแต่ ม.ค. 2561 และจะสิ้นสุด ธ.ค. 2561 ว่า โครงการฯ ต้องการพัฒนาอาชีพควบคู่ไปกับการมอบเงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการฯ ซึ่งเดิมเฉลี่ยได้ 1,800-2,000 บาท/คน เพื่อให้เกิดการพัฒนา จ้างงาน และมีรายได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง (18 พ.ย. 2561) ระบุมีผู้ต้องการรับการพัฒนาอาชีพ 4.1 ล้านคน และเข้าสู่การพัฒนาแล้ว 1.9 ล้านคน จากประชาชนที่รับบัตรสวัสดิการฯ 11.4 ล้านคน
“ผู้ที่มีความประสงค์ต้องการรับการพัฒนาอาชีพ รัฐบาลจะมอบเงินเพิ่มเข้าไปอีก 200 บาท/เดือน”
เมื่อจำแนกจำนวนผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ที่เริ่มพัฒนาแล้ว ตามหน่วยงานพัฒนา รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มีผู้ประสงค์เข้ารับการพัฒนากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มากที่สุด 1.2 ล้านคน รองลงมา คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 272,146 คน และธนาคารออมสิน 120,656 คน
ขณะที่ผลจากการพัฒนาตนเอง ซึ่งจะมีการประเมินอย่างเป็นทางการ ธ.ค. 2561 อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นพบว่า ช่วยให้คนกลุ่มดังกล่าวมีงานทำสูงถึงร้อยละ 78 ไม่มีงานทำ ร้อยละ 22
ส่วนการเปลี่ยนแปลงของรายได้ ปรากฎว่า ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ลดลงเหลือ ร้อยละ 60 จากเดิมก่อนการพัฒนาอยู่ที่ร้อยละ 73 และรายได้ระหว่าง 3 หมื่นบาท-1 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 จากเดิมก่อนการพัฒนาอยู่ที่ร้อยละ 27
นายยุทธนา ยังกล่าวว่า ภายในวันที่ 1 ม.ค. 2562 กระทรวงการคลังจะแจกบัตรสวัสดิการฯ ที่ยังค้างอยู่ให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ตกหล่นการสำรวจอีก 3.1 ล้านคน อีกด้วย