อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ:สงบศึก‘งูเห่า’-ปชป.ตั้งขั้วที่ 3 เดิมพันเก้าอี้ หน.ครั้งสุดท้าย?
“ถ้าได้มาก ก็มีความชอบธรรม รวบรวมเสียงข้างมาก แต่ถ้าได้น้อย เราต้องเจียมตัว เรียกร้องอะไรมากไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดยืนอยู่คือ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ร่วมงานกับใคร กรณีมี ส.ส. น้อย ต้องมั่นใจว่า ไปร่วมแล้ว จะสามารถผลักดันแนวคิดอุดมการณ์นโยบายได้ การแสวงหาโอกาสที่จะมีตำแหน่ง มีอำนาจ แต่สุดท้ายไม่ทำสิ่งเหล่านี้ มันจะย้อนกลับมาทำลายพรรคได้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่ง หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง เรายึดมั่นตรงนี้”
“บางคนอาจคิดว่าผู้ที่ได้รับเลือกในวันนี้มาถึงยอดเขาแล้ว แต่ที่จริงตอนนี้เราอยู่ที่เชิงเขา เพราะเราต้องทำงานพาประเทศและคนไทยสู่ยอดเขา”
เป็นหนึ่งในประโยคสำคัญที่หล่นออกมาจากปากของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากรู้ผลการหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ส่งผลให้ ‘คัมแบ็ค’ กลับมานั่งหัวหน้าพรรคเป็นสมัยที่ 5 หลังจากครองเก้าอี้ตัวนี้มายาวนานกว่า 13 ปี
13 ปีหากเทียบเป็นชีวิตคนคงเข้าสู่ชั้นประถมปลายหรือขึ้นมัธยมศึกษาตอนต้น แต่หากนับบทบาททางการเมืองของเขาที่ก้าวเข้ามาสวมหัวโขนตรงนี้ ‘เดอะมาร์ค’ ใช้เวลายาวนานกว่า 27 ปีเศษแล้ว เป็น ส.ส. สมัยแรกเมื่อปี 2535 ยุคนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ก่อนเก็บสะสมประสบการณ์เรื่อยมาจนได้รับความไว้วางใจขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเมื่อปี 2548 ผ่านการผลักดันของ ‘คนเคยรัก’ อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคฯ (ปัจจุบันออกไปเป็นแกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย)
ในช่วง 4 ปีเศษหลังเกิดการรัฐประหารรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เป็นหนึ่งในนักการเมืองไม่กี่คน ที่ยังคงออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ และวิพากษ์วิจารณ์ หรือติชมแนะนำนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
แต่ก็เป็น 4 ปีที่ความเป็น ‘หัวหน้า’ ของเขาถูก ‘ท้าทาย’ อีกครั้ง จากความระหองระแหงแตกแยกภายในพรรค หลังการเกิดขึ้นของม็อบ กปปส. ช่วงปลายปี 2556-2557 แบ่งฝักฝ่ายภายในพรรคออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ปีกนายชวน-อภิสิทธิ์ และปีก กปปส.
นั่นจึงเป็นชนวนเหตุที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องจัดการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ หลังจาก คสช. ‘คลายล็อค’ ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม เลือกหัวหน้า-กรรมการบริหารพรรคใหม่ โดยท้ายที่สุดเขายังคงได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกพรรคให้ดำรงตำแหน่งอีกสมัย แต่ไม่ ‘ขาดลอย’ เพราะทิ้งห่าง‘หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม’ ผู้ท้าชิงคนสำคัญไม่ถึงหมื่นคะแนนเท่านั้น
ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ กลุ่มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย กับกลุ่มไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกตั้งคำถามว่า จะอยู่ฝ่ายใดภายหลังการเลือกตั้งที่ (น่า) จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้
เพราะฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ยังคงเชื่อมั่นต้องการให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่อีกฝ่ายหนึ่งแว่วมาว่า อาจเดินเกมปฏิบัติการ ‘งูเห่า’ โหวตเลือกคนอื่นขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ?
“เรากำลังติดวังวนของการเล่นเกม”
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสแล็ก รองเท้าหนัง ถอดเสื้อแจ็กเก็ตสีฟ้าติดตราพรรคประชาธิปัตย์ออกมาวางไว้ข้างตัว เปิดห้องรับรองชั้น 2 ในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงการ ‘เลือกข้าง’ ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง
“ผมยืนยันว่า เราจะไม่เล่นเกม เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง ทุกคนที่สวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ ต้องยึดแนวทางของพรรค มีแนวทางเดียวเท่านั้น”
คำตอบตรงนี้เกิดขึ้นภายหลังนายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา 2 คีย์แมนปีก กปปส. ในพรรค เปิดบ้านต้อนรับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรค รปช. ส่วน นพ.วรงค์ เดจกิจวิกรม ส่งสัญญาณพร้อมเปิดบ้านที่ จ.พิษณุโลก หาก ‘กำนันสุเทพ’ เดินทางมาถึง ทำให้มีผู้ร้องเรียนว่า การกระทำดังกล่าวอาจไม่เหมาะสม
เขายืนยันว่า การหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเป็นการแข่งขัน กระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ได้รับคำยืนยันจากทุกคนว่าพร้อมเดิน เพื่อให้พรรคเดินไปข้างหน้า อย่างไรก็ดีการเปิดบ้านให้คนพรรคอื่น ถ้าแค่ต้อนรับเฉย ๆ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไปร่วมทำกิจกรรมกับพรรคอื่น ไม่เหมาะสม
“ล่าสุด ได้คุยกับคุณหมอวรงค์ (เดชกิจวิกรม) คุณถาวร (เสนเนียม) คุณนิพิฏฐ์ (อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคใต้) แล้ว ทั้งหมดยืนยันว่าจะสนับสนุนแนวทางของพรรค”
นั่นหมายความว่าถ้าคนในพรรค ไม่ยึดแนวทางของพรรค จำเป็นต้องออกจากพรรคใช่หรือไม่ ?
“ผมว่าเราต้องซื่อตรงกับประชาชน เมื่อเราสวมเสื้อพรรคการเมืองไหน ต้องเดินตามแนวทางพรรคการเมืองนั้น นั่นคือพื้นฐานที่เราไปขอมาจากประชาชน”
ประเด็นนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ได้หารือ สรุปแนวทางว่า ถ้าเกิดขึ้นอีก บทลงโทษแรกคือไม่ส่งสมัครรับเลือกตั้ง แต่หากเป็นกรณีร้ายแรงคือให้พ้นสมาชิกภาพของพรรค
@ปัดเลือกข้าง นำ ปชป. เป็นทางเลือกที่ 3 แก่ประชาชน
นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากนี้ ต้องการให้พรรคเป็น ‘ทางเลือกที่ 3’ ไม่ใช่ติดอยู่ในเกม 2 ขั้วแบ่งข้างเป็นกลุ่มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และกลุ่มไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์
“เราแทบไม่ได้เห็นการเมืองแบบใหม่ เพราะมันกลายเป็นเรื่องของการเล่นแร่แปรธาตุต่อรองระหว่างกลุ่มการเมืองต่าง ๆ”
เขาอธิบายว่า ต้องการทำพรรคให้ประชาชนสมหวังกับการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดกติกาออกมา มีเครื่องหมายคำถามระหว่างความสัมพันธ์ของ คสช. รัฐบาล และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
“การเลือกตั้งภายใต้กรอบความคิดแบบนี้ ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนเท่าไหร่ ถ้าการเมืองตกอยู่ภายใต้กรอบแบบนี้ เราก็เดินอยู่ที่เดิม ไม่ช้าไม่นานความขัดแย้งจะเกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำชัดเจนคือ ไม่มีเรื่องเล่นเกม เราชัดเจนว่าเราเป็นเรา และเรามองว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นทางเลือกที่เป็นทางออก”
เขาไม่คิดว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ การทำงานโดยกรอบความคิดแบบรวมศูนย์ราชการ อนุรักษ์นิยมไม่ตอบโจทย์สังคมของประเทศในอนาคต กลับกัน หากได้พรรคการเมืองแต่มาย้ำรอยเดิมเรื่องประชานิยมคอร์รัปชั่น ก็ไม่ตอบโจทย์เช่นเดียวกัน
“พรรคประชาธิปัตย์จึงมุ่งว่า ต้องการจะเป็นคำตอบให้กับสังคม ตอบโจทย์ประชาชน เราเริ่มชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเราแตกต่างอย่างไร เช่น ตอนนี้การบริหารเศรษฐกิจยึดกรอบความคิดตัวเลขเดิม ๆ ไม่ได้ ตัวเลข GDP ไม่มีความหมายสำหรับคนส่วนใหญ่ คำตอบรายได้กลุ่มต่าง ๆ ที่จะต้องมี”
“เราเคยทำงานพิสูจน์มาแล้ว ข้าว ยาง ปาล์ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง และเป็นการทำแบบไม่ได้ใช้งบประมาณมหาศาล ไม่ได้ทำให้ประเทศมีปัญหาเรื่องหนี้สิน เราเสนอไปแล้วว่า การกระจายอำนาจต้องไปถึงจุดที่มีมหานคร และเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งหมดคือความเปลี่ยนแปลงที่สังคมต้องการ ประชาชนรอคอย เราจะชูตรงนี้ และหวังให้ประชาชนที่ต้องการแนวทางแบบนี้มาสนับสนุน”
@New อภิสิทธิ์ vs Old อภิสิทธิ์
คำถามที่หนีไม่พ้นคือ การหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ เขากลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ‘New อภิสิทธิ์’ แตกต่างจาก ‘Old อภิสิทธิ์’ อย่างไร ?
เขาอธิบายว่า ขอไม่ใช้คำว่าล้างภาพ แต่ทุกคนมีการเติบโต เรียนรู้ ทบทวน ในอดีตที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ยังทำได้ไม่เต็มที่ มีสถานการณ์ หรือสภาวะแวดล้อมอะไรก็แล้วแต่ แต่วันนี้เห็นปัญหา ใช้เวลา 4 ปีที่ผ่านมา ไม่รู้นักการเมืองคนอื่นทำอะไร แต่ผมไม่เคยหยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ กระตุ้นคนใหม่ ๆ เข้ามา ยกตัวอย่างกรอบความคิดเชิงนโยบาย มีความเปลี่ยนแปลง วันนี้คนรุ่นใหม่ในพรรคอย่าง New Dem เข้ามา กระตุ้นให้พรรคก้าวไปข้างหน้า มีประเด็นใหม่ ๆ วันนี้ผ่านไป 4 ปีได้พบปะกับทุกกลุ่มในสังคม ทำให้มีความพร้อมเต็มที่ในเรื่องคำตอบ
“แต่จุดที่พูดอยู่เสมอ หลายคนมองว่า ผมยังมีเวลา แต่บอกแล้วว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ เพราะรู้แล้วว่า สิ่งที่อยากจะทำตั้งแต่เข้ามาการเมือง หวังให้บ้านเมือง เศรษฐกิจเป็นยังไง ผมมีเวลาทำอีกไม่นานแล้ว”
อย่างไรก็ดีเขามองว่า ‘Old อภิสิทธิ์’ ยังมีประโยชน์ในแง่ของประสบการณ์
“ผมเข้าไปทำงานรอบต่อไป ไม่มีเรื่องไหนที่ต้องบอกว่า ขอเวลาดูงาน หรือศึกษางาน แต่ทุกอย่างต้องเดินหน้า แม้แต่งานแรกที่สำคัญของนายกรัฐมนตรี คือเรื่องอาเซียน (ASEAN) ผมเคยริเริ่มวาระ Connectivity ASEAN และได้รับการยอมรับอย่างสูง ผมมีแนวคิดเยอะในการผลักดันอาเซียนให้เติบโต ไทยได้ประโยชน์ ไม่ต้องเรียนรู้หรือศึกษาแล้ว เรามีความพร้อมตรงนี้”
@ทางเลือกประชาชนไม่ใช่มีแค่ 'บิ๊กตู่-ทักษิณ'
อย่างไรก็ดีโมเดลสูตรการเมืองตอนนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ถูกมองว่าจะเป็น ‘ตัวแปรสำคัญ’ ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ท่ามกลาง 2 ขั้วขัดแย้ง พรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ตรงไหน ?
“มันไม่มีอย่างนั้น ไม่มีอย่างนั้นแน่นอน” เขาพูดเน้นย้ำหลายครั้ง ด้วยสายตาจริงจัง
“ผมถึงบอกว่า อย่าชวนผมกับประเทศไปอยู่ในเกมแบบนี้ ถ้าอย่างนั้นหากมีอีกฝ่ายพูดว่า เอาคุณทักษิณ (ชินวัตร) ไม่เอาคุณทักษิณ ขึ้นมาบ้างจะทำอย่างไร วันนี้เส้นทางของประเทศผูกอยู่กับคุณทักษิณหรือไม่ คนไทยมีทางเลือกที่ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ผมบอกว่า เสนอพรรคประชาธิปัตย์เป็นทางออก ต้องการเป็นแกนนำรัฐบาล เอาความคิดกระจายอำนาจ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สวัสดิการ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคนี้ แล้วดูสิ ไม่รอดูเลยเหรอว่า ประชาชนให้การสนับสนุนใครมา เราจะเลือกตั้งใครมา ถ้าไม่ให้ประชาชนตัดสิน”
เขายืนยันว่า เมื่อถึงวันนั้น (หลังการเลือกตั้ง) อาจไม่ใช่คำถามว่าผมจะอยู่กับใคร แต่ถึงวันนั้นอาจต้องไปถามพรรคอื่นว่า จะมาร่วมกับเราหรือไม่ นี่คือเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะไม่มีใครเป็นคำตอบ ถามคุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) มีข้อดีหรือไม่ ก็มี หลายคนชื่นชม บ้านเมืองสงบ แต่ว่าเศรษฐกิจไปไม่ได้ แล้วทำไมถ้าได้ความสงบ ต้องได้เศรษฐกิจแบบนี้ด้วยเหรอ กลับกันถามคุณทักษิณ มีนโยบายถูกใจประชาชน แต่เราต้องได้มาพร้อมคอร์รัปชั่นด้วยเหรอ
“วันนี้ประเทศมีทางเลือกที่ดีกว่านั้น พรรคประชาธิปัตย์ต้องการเป็นทางเลือกนั้น”
@เจาะฐานเสียงเหนือ-อีสาน เชื่อมีคนเลือก ปชป. เยอะ แต่ยังไม่แสดงตัว
ในเมื่อเขามองว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นทางเลือกที่ 3 ให้กับประชาชน และต้องการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘จุดอ่อน’ สำคัญของพรรคคือ ฐานเสียงในภาคเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
“เราพยายามรุกพื้นทีเหล่านี้อยู่ ที่ผ่านมาเราเชื่อว่านโยบายเราตอบโจทย์คนภาคเหนือ อีสาน มากกว่าภาคอื่นอีกนะ”
เขายิ้ม พร้อมอธิบายว่า นโยบายที่ผ่านมา เช่น การประกันรายได้ข้าว น่าจะเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ชาวนาภาคอีสานมากที่สุด จริง ๆ ชาวนาภาคอีสานทั้งรายย่อย ปลูกกินเอง หรือมีกำลังไม่มาก นโยบายแบบนี้ตอบโจทย์มากกว่าจำนำ (ข้าว) นี่ยังไม่นับจุดอ่อนของการจำนำ (ข้าว) ในเรื่องอื่น ๆ และมั่นใจว่าจะกระจายอำนาจบริหารจัดการในภาคอีสาน สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ รวมไปถึงแนวทางที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ อาเซียน นโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความต่างคือทุกโครงการของเรา จะคิดถึงประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ว่าต้องการอะไร
“เราต้องเอาความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่โครงการเป็นตัวตั้ง”
เขามองว่า ภาคเหนือ กับภาคอีสาน ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ภาคเหนือพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนถึงร้อยละ 30-40 เพียงแต่คะแนนน้อยกว่าเขา (พรรคเพื่อไทย) ระบบเขตจึงไม่ได้ แต่ครั้งนี้ (การเลือกตั้ง) ทุกคะแนนมีความหมาย ส่วนภาคอีสานยอมรับว่า สัดส่วนคะแนนต่ำ แต่พอเป็นระบบแบบนี้ เชื่อว่ามีพื้นฐานคนที่อาจสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ แต่อดีตมองไม่เห็นโอกาสชนะ จึงไม่ได้ออกไปเลือก แต่วันนี้พวกเขารู้แล้วว่าทุกคะแนนมีความหมาย อาจไม่ได้ ส.ส. เขต แต่สามารถติด ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
@ยอมโดดเดี่ยว ไม่ใช้กลยุทธ 'แตกแบงก์พัน' ยัน ส.ส. ไม่ต่ำร้อย
นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า เขาจะส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงครบ 350 เขตแน่นอน แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบมาให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กได้ประโยชน์ ส่งผลให้บางฝั่งเดินกลยุทธ์ ‘แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย’ เพื่อกวาดเสียง ส.ส. ทั้งระบบเขต-บัญชีรายชื่อได้ง่ายขึ้น
“กลยุทธ์ทางการเมือง เช่น การแตกแบงก์พันหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องเล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง ไม่ตรงไปตรงมา ไม่ส่งเสริมให้พรรคการเมืองต่าง ๆ แต่ผมชัดเจน และซื่อตรง เราไม่ทำ หลายคนบอกผมว่าพรรคเราจะเสียเปรียบ ก็ต้องยอม สิ่งหนึ่งที่ทำให้พรรคอยู่ได้ คือที่ผ่านมาเราเสียเปรียบหลายเรื่อง แต่พรรคยั่งยืน และวันนี้บอกแล้วว่า จะแสดงให้เห็นว่า พรรคเราเป็นตัวแทนทางความคิดของชุดนโยบายที่ชัดเจน ถ้าเราแตกพรรคแล้วมันกลายเป็นว่าจะหนุนใครหรือไม่ ประชาชนจะเสียโอกาส”
แต่ ‘กูรูการเมือง’ หลายคนประเมินกันว่า รัฐธรรมนูญออกแบบมาอย่างนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ‘โดดเดี่ยว’ หากต้องการเป็นทางเลือกที่ 3 ส่งผลให้อาจได้เก้าอี้ ส.ส. จำนวนไม่มากเท่าเดิม หรือเลวร้ายที่สุดคือ ‘ต่ำร้อย’
“ผมมั่นใจว่าไม่ต่ำร้อย’ เขาโยกตัวจากโซฟาขึ้นมาตอบอย่างจริงจัง
“ผมมั่นใจว่ามีประชาชนสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในประเทศนี้มากกว่าจะทำให้ได้ ส.ส. ต่ำร้อย พูดสรุปง่าย ๆ อย่างนี้แหละ และแนวทางตรงนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง”
อย่างไรก็ดีเขาพร้อม ‘ยุติบทบาทหัวหน้าพรรค’ หากเลือกตั้งคราวนี้พรรคประชาธิปัตย์ ‘แพ้’ อีก
“ผมเคยพูดไปแล้วว่า ถ้าเข้าสู่สถานการณ์ว่าพรรคได้คะแนนต่ำร้อย หรือกลายเป็นพรรคลำดับ 3-4 อย่างนั้นอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว”
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องสำคัญคือ วันนี้เราต้องมีความชัดเจนในตัวตน เป็นทางเลือกให้ประชาชน ให้ประชาชนตัดสิน เคยพูดหลายรอบแล้วว่า รัฐธรรมนูญออกแบบมาอย่างนั้นอย่างนี้ บางพรรคคุยโม้โอ้อวดว่าออกแบบมาเพื่อเขา แต่สุดท้ายอำนาจอยู่ที่ประชาชน ถ้าประชาชนเลือกมาเยอะ ที่นั่งเยอะ วิธีคำนวณ ส.ส. เป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าได้คะแนนเยอะ ส.ส. ก็เยอะ ส่วนจะเป็นเขต หรือบัญชีรายชื่อ เป็นเรื่องของแต่ละพรรค ไม่ใช่เรื่องกระทบตรงนี้ จึงอยากยืนยันให้ประชาชนตื่นตัว แม้จะรู้ว่าออกแบบมาอย่างไรก็ตาม แต่ทุกเสียงมีความหมาย ใช้เสียงนั้นผลักดันสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเขา ให้กับประเทศ
@ยังไม่เคาะใครใส่บัญชีรายชื่อนายกฯ-เชื่อไม่มีใครแตกแถว
สำหรับบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ เขาระบุว่า ‘ที่ประชุม’ ยังไม่ได้หารือกัน แต่สูตรสำเร็จเบื้องต้นคือ หัวหน้าพรรคต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี ส่วนจะใส่เพียงแค่ 1 หรือ 3 ชื่อ ต้องรอหารือกันก่อน
นอกจากนี้ เขาเชื่อว่า จะไม่มี ส.ส. คนไหน ‘แตกแถว’ หากถึงปลายทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อของพรรค
“ต้องอย่าลืมว่า กว่าจะถึงจุดนั้น ทุกพรรคถูกบังคับให้แสดงจุดยืนทางการเมืองระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งลงสมัครพรรคใด เขาต้องไปหาเสียงกับประชาชนอย่างนั้น ใครที่จะไปออกเส้นทาง เขาต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของเขากับประชาชน ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ และไม่ควรจะมีการแตกแถว เพราะเท่ากับเป็นการทรยศประชาชน ผมไม่เชื่อว่านักการเมืองคนไหนที่ทรยศประชาชนจะอยู่ได้นาน”
ส่วนการร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า จำนวน ส.ส. เท่านั้นคือคำตอบ พร้อมมอง ‘ข้ามช็อต’ ไปถึงการเลือกตั้งในอนาคตอีกหลายครั้ง ไม่ใช่โฟกัสแค่ครั้งนี้
“ถ้าได้มาก ก็มีความชอบธรรม รวบรวมเสียงข้างมาก แต่ถ้าได้น้อย เราต้องเจียมตัว เรียกร้องอะไรมากไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดยืนอยู่คือ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ร่วมงานกับใคร กรณีมี ส.ส. น้อย ต้องมั่นใจว่า ไปร่วมแล้ว จะสามารถผลักดันแนวคิดอุดมการณ์นโยบายได้ การแสวงหาโอกาสที่จะมีตำแหน่ง มีอำนาจ แต่สุดท้ายไม่ทำสิ่งเหล่านี้ มันจะย้อนกลับมาทำลายพรรคได้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่ง หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง เรายึดมั่นตรงนี้”
เขายกตัวอย่าง หากร่วมรัฐบาล แล้วรัฐบาลบริหารเศรษฐกิจคนไม่พอใจค่อนประเทศ แล้วคนประชาธิปัตย์ไม่คิดถึงเที่ยวหน้าหรือว่าจะเป็นอย่างไร หรือไปร่วมรัฐบาล แล้วเกิดการทุจริตมโหฬาร หลังจากนั้นจะอยู่อย่างไร เราให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ด้วย
@ไม่ปิดทาง 'สุเทพ' ชวนตั้ง รบ. แต่ต้องดูเหตุผลก่อน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรดา ส.ส. ทั้งหลายเมื่อได้รับการเลือกตั้ง ถ้าเลือกได้ล้วนอยากเป็นรัฐบาล ?
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนอยากบริหารประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าอะไรก็ได้ ถ้าอยากบริหารประเทศเพื่อส่วนรวม ต้องมองว่าทำได้หรือไม่ ถ้าคิดแค่ว่าจะเป็นรัฐบาล ไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนถ้า ‘คนเคยรัก’ อย่างนายสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ชวนไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้น เขายืนยันเสียงหนักแน่นว่า “เหตุผลคืออะไร”
“ประชาชนเขาว่าอย่างไร คะแนนเสียงให้มาเท่าไหร่ สมมติว่า พรรคพลังประชารัฐได้ 200 กว่าเสียง ก็ต้องยอมรับ ถ้าเลือกตั้งสุจริตนะ (เขาย้ำหลายครั้ง) พรรคพลังประชารัฐก็มีความชอบธรรมในการรวบรวมเสียงข้างมาก แต่ผมไปดูว่า ถ้าไปร่วมรัฐบาลกับเขา แนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้ได้ทำหรือไม่ เรามองอย่างนี้ แต่ถ้าเกิดเขาได้มานิดเดียว ต้องไปรวมกัน เหตุผลคือทำไม เหตุผลคืออะไร สมมติพรรคพลังประชารัฐ เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ได้คะแนนไม่ถึง 100 เสียง แต่ถ้าพรรคผมได้ 150 เสียง แล้วใครควรมีความชอบธรรมรวบรวมเสียงมากกว่ากัน”
นี่คือก้าวย่างของนายอภิสิทธิ์ หลังได้ความไว้วางใจดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นสมัยที่ 5 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 14 และเชื่อว่าน่าจะเป็นปีที่ตัดสินบทบาททางการเมืองของเขาได้ร้อนแรงที่สุดนับตั้งแต่เล่นการเมืองมา ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
วรงค์ เดชกิจวิกรม:ภารกิจ ปชป.โฉมใหม่ ประชาชน‘สัมผัสได้’ กระโจนสู้ศึกเลือกตั้ง
อะไรจะเกิดขึ้นกับ 'ปชป.' หากคนชื่อ 'อลงกรณ์ พลบุตร' ได้เป็นหัวหน้าพรรค?