ดร.สังศิต ฉะรัฐบาลวางตัวไม่เป็นกลาง จุดอ่อนทำให้ทุนนิยมไทยหน้าตาเหมือนอสูรกาย
คณะตรวจสอบภาคประชาชน - คณะกรรมการญาติวีรชน 35 จัดเสวนาสาธารณะวาระพิเศษ เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ หัวข้อ "กติกาธุรกิจอย่างไรทำให้สังคมเป็นธรรม" ดร.สังศิต ชี้ไม่มีประเทศไหนในโลกปล่อยให้ทุนใหญ่ต่อสู้กับโชว์ห่วย แม่ค้าข้างถนนแล้วรัฐนิ่งเฉย แถมยังออกกฎหมายช่วยอีก
วันที่ 21 พฤศจิกายน คณะตรวจสอบภาคประชาชน ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชน 35 จัดเสวนาสาธารณะวาระพิเศษ เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ หัวข้อ "กติกาธุรกิจอย่างไรทำให้สังคมเป็นธรรม" ณ ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน (ตรงข้ามวชิรพยาบาล)
นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวถึงการตีความการผูกขาด ต้องตีความให้กว้างว่าหมายถึงอะไร การผูกขาดเป็นปัญหาสืบเนื่องจากการผูกขาดทางการเมือง การยึดอำนาจรัฐ ผูกขาดอำนาจการจัดการประเทศในระดับข้าราชการ ที่ไปเอื้อระบบทุนให้เกิดการผูกขาดยิ่งขึ้น ฉะนั้น โจทย์ประเทศไทยตอนนี้ ทำไมเราถึงยอมให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวนานขนาดนี้
“เราไม่มีคำถามนักการเมืองรวยขึ้นได้อย่างไร หรือเศรษฐีก็ไม่มีใครถามแม้แต่นิดเดียวว่าเขารวยมาได้อย่างไร แค่ขายของปลอดภาษีเท่านั้น เรามีวัฒนธรรมสมยอมกับความเอารัดเอาเปรียบ ยอมรับและให้ความเคารพกับคนมีอำนาจ เราจะบอกว่าเราไม่มีกฎหมาย ไม่มีองค์กรอิสระตรวจสอบคอร์รัปชั่น ไม่มีกระบวนการศาล ก็ไม่จริง”
ด้านดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวถึงทุนนิยมของไทยเวลานี้หน้าตาไม่เป็นมนุษย์ เป็นอสูรกายกัดกินคนด้อยโอกาส สิ่งที่เราเห็นจะมีคน 1-2 % ที่ร่ำรวยมากๆ 10-20% เป็นคนระดับกลางบน และ 70-80% เป็นคนระดับกลางระดับล่างและคนรายได้น้อย
“ที่ผ่านมา คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น คนชั้นกลางถูกบีบให้ลงมาเป็นคนชั้นกลางระดับล่างและคนรายได้น้อยมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาการเศรษฐกิจแบบนี้เป็นเรื่องไม่สมควรยอมรับ และเราต้องหาทางเปลี่ยนแปลง โดยอยากให้ 1.รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต้องวางตัวเป็นกลาง เห็นการแข่งขันธุรกิจไม่เป็นธรรม พร้อมเข้าแทรกแซงเพื่อให้การแข่งขันเป็นธรรม แต่น่าเสียดายรัฐบาล และรัฐไทย แม้กระทั่งกทม.กลับทำตัวไม่เป็นกลาง จุดอ่อนทำให้หน้าตาทุนนิยมไทยเป็นอสูรกายที่น่ากลัว 2.ประเทศทางยุโรปตอนเหนือ ทุนนิยมหน้าตาเป็นมนุษย์เพราะมีนโยบายการศึกษาให้โอกาสการศึกษาคนเท่าเทียมกัน”
ดร. สังศิต กล่าวถึงทุนนิยมไทย มีกลุ่มทุนผูกขาดอยู่ไม่ถึง 20 ตระกูลเข้าประมูลงานระดับแสนล้านบาทได้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังทำมาหากินได้วันละพันกว่าบาทเท่านั้นเอง การที่รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมมีส่วนสำคัญซ้ำเติมทำให้ระบบทุนนิยมเป็นอสูรกาย
“ตัวระบบทุนนิยมไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว ไม่มีประเทศไหนในโลกปล่อยให้ทุนใหญ่ต่อสู้กับโชว์ห่วย โดยรัฐบาลวางเฉยให้แข่งกัน จะมีรัฐบาลไหนในโลกปล่อยให้ทุนใหญ่แข่งกันแม่ค้าข้างถนน และรัฐบาลยังช่วยออกกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ ให้การขายของบนถนนถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย แค่กลไกลราคาแม่ค้าก็สู้ไม่ได้ ยังมีการออกกฎหมายช่วยอีก ดังนั้น ทุนใหญ่ยิ่งได้เปรียบมากขึ้น นี่คือความไม่เป็นกลาง ของรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐต่างๆของไทย”
ทั้งนี้ ดร. สังศิต ตั้งคำถามถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ดูคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงอยากฝากถึงรัฐบาล กทม.ว่า อาชีพแม่ค้าแม่ขายมีมาก่อน การมองว่า ประเทศที่เจริญแล้วคือ การไม่มีแม่ค้าข้างถนน การที่เมืองไทยมีแม่ค้าริมถนนถือว่าไม่เจริญ นี่คือมายาคติที่รัฐไทยสร้างขึ้นมา และพยายามบอกคนว่า ประเทศเราเจริญได้ต้องให้แม่ค้าหายไปจากประเทศไทย ซึ่งขัดจากความเป็นจริงของสังคมไทย การคิดแบบนี้และออกกฎหมาย บังคับ ลงโทษ จับ ปรับ เป็นมายาคติที่กทม.และรัฐบาลกำลังทำอยู่เพื่ออยากให้บ้านเมืองสะอาด โดยมองว่า แม่ค้าเป็นสิ่งไม่ปกติ สิ่งปกติของรัฐบาลไทย คือ ไม่มีแม่ค้า ถือเป็นการคิดผิด สิ่งปกติของสังคมไทย คือมีแม่ค้าต่างหาก ไม่ใช่มาตรฐานแบบตะวันตก
ดร. สังศิต กล่าวด้วยว่า บ้านเมืองที่ดี คือ คนสามารถประกอบอาชีพอย่างสุจริต คนมีงานทำ มีรายได้ดำรงชีพอยู่พอประมาณ ขณะนี้ทุนนิยมไทยอัปลักษณ์ที่สุด รัฐบาลไม่ควรทำเพื่อกลุ่มทุนใหญ่เท่านั้น โดยไม่เห็นใจคนเล็กคนน้อยเลย ฉะนั้น รัฐบาลควรประนีประนอม อย่างทำลายทุนทางสังคมไทย ทำลายอัตลักษณ์ของสังคมไทย การพัฒนาเศรษฐกิจต้องทำให้คนจนมีที่ยืนในสังคมด้วย
ส่วนการที่ครม.อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยนั้น ดร.สังศิต กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่รู้ความต้องการของประชาชน เขาไม่ได้ต้องการเงิน 500 บาท เขาต้องการอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลต้องคืนสิทธิให้แก่ประชาชน ถนนเป็นที่สาธารณะสามารถแบ่งปันคนขายของกับคนเดินถนนได้
ขณะที่นายปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจระหว่างประเทศ ผู้เกี่ยวข้องกับการยกร่างกฎหมายป้องกันการผูกขาดและการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม กล่าวถึงการบริหารประเทศต้องมองประชาชนเป็นศูนย์กลาง การมาแก้ให้ 500 บาท แล้วไปไล่เขาออกจากถนน ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง
นายปรีดา กล่าวว่า ช่วง 30 ปีหลังมานี้ ทั่วโลกเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาล เกิดการฉีกระหว่างผู้ด้อยโอกาส กับคนรวย เกิดการโบ๋ตรงกลางขึ้นมา ยิ่งเทคโนโลยีเข้ามายิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น และหากทุนนิยมหากยังเดินแบบนี้จะเกิดคนชั้นกลางหายไป คนชั้นกลางจะรวมตัวกับคนชั้นล่างมากขึ้น
“ตอนนี้เกิดความไม่เป็นธรรมในโลก ที่มาของสหประชาชาติ ออกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs)” นายปรีดา กล่าว และว่า เรื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฯ บังคับใช้มา 17 ปี ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ถือว่าล้มเหลว เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายมีส่วนได้ส่วนเสียเสียเอง ประกอบด้วยกลุ่มผลประโยชน์ร่วมอยู่ด้วย ขณะที่กฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ เสริมเขี้ยวเล็บให้มากกว่าเดิม
สุดท้ายนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงนโยบายต่างๆ ของภาครัฐต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ควรเปลี่ยนนโยบายจากการป้อน กิน ใช้แล้วหมดไป เปลี่ยนเป็นเงินของส่วนรวม เงินของประชาชนรัฐบาลจะใช้อย่างไรแล้วทำให้ประชาชนช่วยตัวเองได้ ประเทศจะก้าวหน้าและเข้มแข็งประชาชนต้องแข็งแรง ผลักดันตัวเองให้ก้าวหน้า มีโอกาสที่เท่าเทียมกันมากกว่านี้ มิใช่ทำไปเพื่อฐานเสียงเลือกตั้ง และวนเวียนกับประชานิยมแบบหนึ่งแบบสองแบบสามอยู่
"การทำนโยบายของรัฐ ต้องทำให้ประชาชนยืนบนขาตัวเองได้ แล้วส่งต่อความเจริญสู่รุ่นลูก ลูกหลาน" นายธีระชัย กล่าว และว่า การแก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมควบคู่กันไปด้วย