ปลดล็อคกัญชาเพื่อรักษาโรค เดินหน้า ประธานสนช.สั่งบรรจุวาระ 1 วันที่ 23 พ.ย.นี้
ปลดล็อคกัญชาเพื่อรักษาโรค เดินหน้า ประธานสนช.สั่งบรรจุวาระ 1 วันที่ 23 พ.ย.นี้ หลังกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าชี้แจงกับวิปสนช. ผลสรุป ยังมีคำขอค้างการพิจารณาอยู่ 7 คำขอ คลายล็อคกัญชาและอนุมัติสิทธิบัตร ผู้ทรงสิทธิบัตรจะได้ประโยชน์ย้อนหลังไปนานสุดถึงปี 2553 ไม่มีบริษัทคนไทยแม้แต่แห่งเดียว
หลังจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขยาเสพติด พ.ศ.2522 เรื่องปลดล็อคกัญชาเพื่อรักษาโรค ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว ที่คาดกันว่า จะมีการนำเข้าวิปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อบรรจุระเบียบวาระรับหลักการวาระ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ในชั้นกรรมาธิการนั้น ล่าสุดจำเป็นต้องเลื่อนออกไปอีก เพื่อรอการชี้แจงจาก 'กรมทรัพย์สินทางปัญญา' ในเรื่องของสิทธิบัตรก่อนนั้น
ล่าสุด นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย.นายดิเรก บุญแท้ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าชี้แจงประเด็นสิทธิบัตรกัญชากับวิปสนช. ผลสรุปคือยังมีคำขอค้างการพิจารณาอยู่ 7 คำขอ ถ้าคลายล็อคกัญชาและอนุมัติสิทธิบัตร ผู้ทรงสิทธิบัตรจะได้ประโยชน์ย้อนหลังไปนานสุดถึงปีพ.ศ.2553 คำขอทั้งหมดผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ผ่านการประกาศโฆษณาแล้ว
ล้วนแต่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสาระการประดิษฐ เพื่อให้กรมอนุมัติจดทะเบียนต่อไป โดยไม่มีบริษัทคนไทยแม้แต่แห่งเดียว
"รองอธิบดีบอกถึงเหตุที่ไม่สามารถล้างไพ่ใหม่เพื่อยกคำขอทั้งหมดได้ เพราะติดปัญหาTRIPS Agreement และมาต 17 วรรคท้ายของพ.ร.บ.ทรัพย์สินทางปัญญาที่เขียนว่า “ในกรณีท่ีประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแห่งความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสิทธิบัตร หากคําขอรับสิทธิบัตรเป็นไปตามที่กําหนดในความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศดังกล่าว ให้ถือว่าคําขอดังกล่าวเป็นคําขอรับสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัตินี้”"
นพ.เจตน์ ยังระบุอีกว่า กรรมาธิการพยายามเสนอแนะว่าควรยกเลิกคำขอตาม ม.9(5) ที่เขียนว่า การประดิษฐที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.นี้ คือ...(5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน และมาตรา 5 ที่เขียนว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 9 การประดิษฐ์ท่ีขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วย ลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
(2) เป็นการประดิษฐที่มีขั้นตอนการประดิษฐสูงขึ้น และ
(3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม
ซึ่งอธิบดีสามารถยกเลิกได้ตามมาตรา 30 ที่เขียนว่า
“ เมื่อได้ประกาศโฆษณาตามมาตรา 28 แล้ว ถ้าปรากฏว่าคําขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา 5 มาตรา 9 และ....ให้อธิบดีสั่งยกคำขอสิทธิบัตร และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคําสั่งไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรรวมทั้งผู้คัดค้าน ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา 31 และให้ประกาศโฆษณาคําสั่งนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดโดย กฎกระทรวง แต่ถ้ายกคำขอ บริษัทเหล่านี้สามารถอุทธรณ์ได้โดยใช้เวลานานถึงห้าเดือน
ดังนั้นเมื่อกรมไม่สามารถยกคำขอในทันทีและเห็นว่าเป็นยารักษามนุษย์และทยอยพิจารณาไปตามเอกสารหลักฐานโดยใช้เวลานานเพราะกรมมีคนน้อยและขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ถ้าคลายล็อคกัญชาและอนุมัติสิทธิบัตรย้อนหลังได้ตั้งแต่วันขอ หากองค์การเภสัชหรือม.รังสิตจะขอจดสิทธิบัตรยา อาจมีปัญหา...ถ้าขั้นตอนการประดิษฐเกิดไปเหมือนกับเจ็ดบริษัทเหล่านี้"
นพ.เจตน์ ระบุด้วยว่า ข้อสรุปของวิปสนช.คือเดินหน้า ประธานจึงสั่งบรรจุวาระหนึ่งในวันศุกร์ที่ 23 พ.ย.นี้ ตั้งกมธ.29 คน จากสธ.ห้าคน เมื่อรู้ปัญหาแล้วจะไปช่วยกันพิจารณาหาทางออกให้ประโยชน์เกิดขึ้นกับประเทศชาติและคนไทยต่อไป
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/SenateThailand และเนื้อหาhttps://www.facebook.com/jetn.sirathranont