ภาคประชาชนยื่น จม.นายกฯ ค้านเก็บ 30 บ.-ดึงกองทุนประสบภัยรถเข้าเจ็บป่วยฉุกเฉิน
คนรักหลักประกันสุขภาพ ยื่น จม.ยิ่งลักษณ์ ค้านเก็บ 30 บ.เหลื่อมล้ำกระทบคนจน แนะดึงกองทุนผู้ประสบภัยรถเข้านโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน หาวิธีจัดการ รพ.เอกชนเรียกเก็บเงินเพิ่ม
วันที่ 11 มิ.ย.55 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนการร่วมจ่าย 30 บ. และพัฒนาระบบเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน โดย น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มฯ เปิดเผยว่าขอชื่นชมรัฐบาลที่ประกาศนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ซึ่งหากทำได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพประชาชนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ทราบว่าในการประชุมบอร์ดสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ในวันที่ 13 มิ.ย. ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานนั้น จะมีการพิจารณาเรื่องการร่วมจ่าย 30 บาท
ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นว่า การเร่งรัดนำนโยบายเก็บเงินค่าธรรมเนียมร่วมจ่ายที่หน่วยบริการทุกครั้งที่ไปรับบริการครั้งละ 30 บาท นั้นถือว่าขัดแย้งกับนโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำ” เพราะจะส่งผลกระทบต่อคนจน ถึงแม้จะมีการยกเว้นประชาชนบางกลุ่ม ประชาชนที่ยากจน แต่จุดนี้คือข้ออ่อนที่สุดคือทำให้ประชาชนไปรับบริการด้วยศักดิ์ศรีที่ด้อยค่า เพราะต้องชี้แจงทุกครั้งว่าไม่พร้อมจ่ายเพราะยากจน รัฐบาลไม่ควรทำให้มีสองมาตรฐานในนโยบายเดียวกัน
น.ส.สุรีรัตน์ ยังกล่าวว่าส่วนการดำเนินนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน” ยังมีปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ 1.การบูรณาการ 3 กองทุนยังไม่รวมกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ทำให้มีการเรียกเก็บเงินแล้วให้ประชาชนไปติดต่อเบิกคืนเอง ซึ่งยุ่งยากและเป็นอุปสรรคต่อการรักษาอย่างทันท่วงที 2.ยังมีโรงพยาบาลเอกชนบางส่วนไม่ยอมรับการจ่ายเงินที่ DRGs ละ 10,500 บาท ทำให้มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย หรือรับรักษาเพียงให้พ้นภาวะฉุกเฉินและรีบส่งกลับโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของผู้ป่วย กลุ่มฯ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้….
1.ทบทวนการเก็บเงิน 30 บาท อย่างรอบคอบ เปิดโอกาสให้ประชาชนให้ความเห็นต่อบอร์ด สปสช.อย่าฟังความเห็นจากกลุ่มหมอให้บริการเพียงกลุ่มเดียว 2.ให้รัฐบาลดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) สนองนโยบายนี้อย่างเร่งด่วน โดยดึงกองทุนผู้ประสบภัยเข้าร่วมนโยบายฉุกเฉิน 3 กองทุน 3.ให้รัฐบาลเร่งเจรจาและหาแนวทางจัดการร่วมกับ รพ.เอกชนเพื่อสนองนโยบายนี้ โดยให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทุกกองทุน ต้องรักษาผู้ป่วยจนสิ้นสุดการรักษา โดยผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย พร้อมทั้งต้องให้ความมั่นใจกับหน่วยบริการว่ารักษาแล้วจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสม