กรณี รพ.ไม่รับรักษาผู้ป่วยถูกสาดน้ำกรด-เสียชีวิต ยื่นขอเงินช่วยเหลือได้
"...สำหรับกรณีหญิงสาวตามข่าวข้างต้นที่มีการกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของโรงพยาบาลพระราม 2 แต่เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลบางมด ทายาทก็สามารถยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้กับสำนักงานประกันสังคมในท้องที่ได้ทันทีนับตั้งแต่เวลาที่เกิดความเสียหาย..."
จากกรณีที่มีการเผยแพร่เหตุการณ์การเสียชีวิตของหญิงสาวรายหนึ่งซึ่งเชื่อว่าตนถูกสามีสาดน้ำกรดใส่บนใบหน้า จึงได้แจ้งรถแท็กซี่พาตนไปส่งที่โรงพยาบาล เนื่องจากคนขับแท็กซี่เห็นว่าโรงพยาบาลพระราม 2 อยู่ใกล้ที่สุดและอาการของหญิงสาวอยู่ในสภาวะที่ดูรุนแรง จึงได้ตัดสินใจนำตัวไปส่งที่โรงพยาบาลพระราม 2 แต่เมื่อไปถึง โรงพยาบาลกลับปฏิเสธการรักษาและแจ้งให้ไปโรงพยาบาลบางมดซึ่งหญิงสาวสามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ หญิงสาวจึงได้เดินทางไปตามที่รับแจ้งแต่ต่อมาก็ได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลบางมดญาติผู้เสียหายได้เดินหน้าเรียกร้องหาให้โรงพยาบาลพระราม 2 รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ก็คงจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชวนให้คิดถึงอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจจะเป็นประโยชน์กับใครหลายคนคือ สิทธิของผู้ใช้หลักประกันสุขภาพและประกันสังคมที่จะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล ตามข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล พ.ศ.2555 และ ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์เงินช่วยเหลือเบื้องต้น คือ เงินที่จ่ายให้แก่ผู้ประกันตนหรือทายาทเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์
หากผู้เสียหายเข้ารับการรักษาพยาบาลตามสิทธิและเกิดความเสียหายจากการรักษา นอกจากสิทธิของผู้เสียหายในการร้องเรียนหรือดำเนินคดีตามช่องทาง ๆ ที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้เสียหายยังอาจมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นทันทีแม้การดำเนินคดีต่าง ๆ จะยังไม่สิ้นสุดก็ตาม
สำหรับกรณีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ที่เข้ารับการรักษาจาก”หน่วยบริการ” หรือ สถานบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) (ตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการได้จากเว็บไซต์สปสช.) และได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการเข้ารับบริการตามที่เงื่อนไขกำหนด โดยหาผู้กระทําผิดมิได้หรือหาผู้กระทําผิดได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ผู้เสียหายหรือทายาทมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้
ขั้นตอนของการยื่นเรื่องนั้น ให้ผู้เสียหายหรือทายาทยื่นคำร้องที่สำนักงานสาขาของสปสช. ในจังหวัดนั้น โดยจะต้องยื่นคำร้องภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย หลังจากนั้นจะได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องว่าเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ โดยการพิจารณาจะต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ หากผู้เสียหายไม่เห็นด้วยจะต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับทราบผลการวินิจฉัย
สำหรับกรณีประกันสังคม ผู้ประกันตนมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ กรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลที่กำหนดสิทธิในการรับบริการหรือสถานพยาบาลที่รับส่งต่อ รวมทั้งสถานพยาบาลที่ได้รับผู้ประกันตนไว้รักษาในกรณีฉุกเฉิน และสถานพยาบาลอื่นใดที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับการกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์
ทั้งนี้ กรณีประกันสังคมไม่ได้มีการระบุว่าผู้เสียหายจะต้องยื่นเรื่องภายในกำหนดเวลาเท่าใด แต่แนะนำว่าผู้เสียหายควรจะยื่นเรื่องให้เร็วที่สุดเพื่อความสะดวกในการพิจารณาของคณะกรรมการการแพทย์หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมาย โดยให้ผู้เสียหายยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดหรือสาขา
ดังนั้น สำหรับกรณีหญิงสาวตามข่าวข้างต้นที่มีการกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของโรงพยาบาลพระราม 2 แต่เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลบางมด ทายาทก็สามารถยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้กับสำนักงานประกันสังคมในท้องที่ได้ทันทีนับตั้งแต่เวลาที่เกิดความเสียหาย
ประเด็นปัญหาน่าคิดสำหรับกรณีผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้ชัดแจ้งเหมือนกับกรณีประกันสังคมคือ หากเป็นกรณีเกิดการเปลี่ยนโรงพยาบาลในช่วงระยะเวลารับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชนไปหน่วยบริการ แต่กล่าวอ้างว่าสาเหตุของความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ แต่ผลของความเสียหายเกิดขึ้นขณะเข้ารับการรักษาต่อที่หน่วยบริการ ผู้รับบริการหรือทายาทจะยังสามารถยื่นคำร้องขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้หรือไม่
สำหรับประเด็นปัญหานี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2560 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไว้ในคดีหมายเลขดำที่ อ. 1302/2556 คดีหมายเลขแดงที่อ.1296/2560 ระหว่างนายไพรัช ดำรงกิจถาวร ผู้ฟ้องคดี และสปสช. กับ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2
ในคดีนี้นายไพรัชฯ กล่าวอ้างว่า มารดาของตนหรือนางไขเข้ารับการรักษาเข้ารับการผ่าตัดรักษาข้อสะโพกที่โรงพยาบาลสนามจันทร์ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลเอกชน ภายหลังการผ่าตัดนางไขมีอาการสมองขาดเลือดจนเนื้อสมองตาย ญาติจึงย้ายนางไขไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลนครปฐม ซึ่งเป็นหน่วยบริการ
ต่อมา นางไขเสียชีวิตในระหว่างการรักษาที่โรงพยาบาลนครปฐม บุตรอีกคนหนึ่งของนางไขจึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้ตรวจสอบว่า ความเสียหายนั้นเกิดจากขั้นตอนการรักษาที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลสนามจันทร์
หนังสือฉบับดังกล่าวไม่ได้มีเจตนายื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นหรือร้องเรียนการให้บริการของโรงพยาบาลนครปฐมแต่อย่างใด
ต่อมา เมื่อคณะอนุกรรมการได้พิจารณาเรื่องร้องเรียน กลับมีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ทายาทนางไขเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ตามหนังสือที่ นฐ 0027.005/1130 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2552
นายไพรัชฯ ในฐานะทายาทจึงได้ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการจ่ายเงินดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้มีทายาทของนางไขยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเป็นเหตุให้เชื่อว่าอาจเป็นเงินที่ได้รับมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยว่า หนังสือร้องเรียนของทายาทมีข้อความที่บ่งชี้ถึงความต้องการการเยียวยาความเสียหาย จึงถือว่าคณะอนุกรรมการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว แม้ความสภาวะเจ็บป่วยของนางไขมีต้นเหตุจากการรักษาตั้งแต่อยู่ที่โรงพยาบาลสนามจันทร์ อันไม่ใช่โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทายาทยังไม่ได้รับค่าเสียหาย คณะอนุกรรมการจึงอาจใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่วินิจฉัยเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ นอกจากนั้น การจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นก็ไม่ได้มีผลต่อการวินิจฉัยเรื่องการให้บริการของโรงพยาบาลสนามจันทร์แต่อย่างใด
ดังนั้น ในประเด็นปัญหาดังกล่าว ถึงจะไม่ใช่ประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาโดยตรง แต่ก็ทำให้ได้ข้อมูลว่า แม้ผู้เสียหายจะกล่าวอ้างว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นจากโรงพยาบาลเอกชนแต่ผลของความเสียหายเกิดขึ้นที่หน่วยบริการ คณะอนุกรรมการก็ยังมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการกำหนดเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ เนื่องจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนั้นเป็นเงินที่จ่ายให้ผู้รับบริการโดยที่ยังไม่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดนั่นเอง
ที่มา: พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 41
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 63
ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล พ.ศ.2555
ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ พ.ศ.2558
ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. 1302/2556 คดีหมายเลขแดงที่อ.1296/2560
https://www.nhso.go.th/frontend/index.aspx
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Hilight Kapook