หนุ่มใหญ่เบตงเปิด "บ้านรับฝาก สว." รับสังคมผู้สูงอายุชายแดนใต้
หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ปัจจุบันมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังเกิดขึ้นมากมายเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการสร้างชุมชนที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพรั่งพร้อมสำหรับผู้เฒ่าวัยชรา ทั้งที่ยังมีกำลังวังชา และที่พละกำลังถดถอย
แต่นั่นดูจะเป็นโอกาสของผู้สูงอายุที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และมีสถานะทางสังคมมั่นคงเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงยังมีผู้สูงอายุอีกมากมายที่มีชีวิตค่อนข้างลำบาก และอาศัยอยู่ในครอบครัวคนชั้นกลาง หรือคนหาเช้ากินค่ำ
ที่ อ.เบตง จ.ยะลา มีโครงการแบบ "บ้านๆ" เพื่อดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ โดยขึ้นป้ายเอาไว้อย่างอารมณ์ดีว่า "รับฝาก สว." ซึ่งไม่ได้หมายถึง "สมาชิกวุฒิสภา" หรือ ส.ว.ที่กำลังสรรหาคัดเลือกกันอยู่ แต่หมายถึง "ผู้สูงวัย" ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยในเบตง อำเภอใต้สุดแดนสยาม
บ้านที่เปิดรับดูแลผู้สูงวัย หรือ สว.นี้ ตั้งอยู่เลขที่ 59 ถนนวีระพันธ์ อ.เบตง โดย พูลไท ลวากร อายุ 60 ปี เป็นเจ้าของไอเดียเปิดบ้านให้ผู้สูงวัยได้พบปะพูดคุยกัน และทำกิจกรรมคลายเหงา ในยามที่ลูกหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งเขายังเปิดบ้านเป็นสถานที่สอนภาษาอังกฤษ ชื่อว่า Betong English Speaking Club ด้วย
พูลไท เล่าว่า อำเภอเบตงมีจำนวนผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วงกลางวันต้องอยู่คนเดียว ไม่มีคนดูแล เนื่องจากลูกหลานออกไปทำงาน แต่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไม่ต้องการที่จะไปอยู่ในสถานสงเคราะห์คนชรา ตนจึงเปิดบ้านเป็นสถานที่ดูแลผู้สูงอายุชั่วคราว เพื่อเป็นสถานที่ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุ โดยจะเป็นลักษณะการดูแลแบบเช้าไปเย็นกลับ ลูกหลานสามารถมาส่งในตอนเช้า และมารับกลับในตอนเย็น เหมือนกับสถานดูแลเด็กเล็ก ซึ่งจะมีบริการอาหาร น้ำชา กาแฟ และไวไฟฟรี รวมทั้งชาร์จแบตเตอรี่มือถือได้ด้วย
ทั้งหมดนี้ พูลไท คิดค่าบริการชั่วโมงละ 60 บาท และวันละ 300 บาท เพื่อนำเงินมาปรับปรุงสถานที่ ห้องน้ำ และจัดที่นอนกลางวันให้กับผู้สูงอายุ โดยรับฝากตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้า ถึง 3 โมงเย็น ปัจจุบันมีผู้สูงอายุในพื้นที่มาใช้บริการวันละ 3-5 คน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะมีกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน มีผู้ใช้บริการ 8-10 คน แต่จะไม่รับดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย เนื่องจากตนเองอายุมากแล้ว และกำลังคนที่มาช่วยไม่เพียงพอ การทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุ รองรับสังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ
คุณยายเลี่ยงไกว แซ่เลี่ยง วัย 78 ปี หนึ่งในผู้ใช้บริการ "รับฝาก สว." บอกว่า ชอบเข้ามานั่งพูดคุยกับเพื่อนๆ แก้เหงา และรู้สึกอบอุ่น คลายเครียดเมื่อต้องอยู่ห่างจากลูก อีกทั้งยังได้ถ่ายทอดภาษาจีนให้กับเด็กๆ ในชุมชน รวมทั้งได้ความรู้จากการร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้วย
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ขอร้องให้ พูลไท ขึ้นทะเบียนสถานดูแลผู้สูงอายุให้ถูกต้อง ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าไม่มีเจตนากระทำผิดกฎหมาย และยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เพราะปกติจะรับฝากเฉพาะผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้เท่านั้น ส่วนผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บป่วย หรือผู้ป่วยติดเตียง จะประสานให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เข้ามาดูแล
อนึ่ง ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า จำนวนประชากรสูงอายุในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคนในปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 16.5 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์การเป็น "สังคมผู้สูงอายุ" แล้ว โดยผู้สูงอายุในบ้านเราจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มติดสังคม มีอยู่ประมาณ 8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 78.5 กลุ่มติดบ้าน ราว 2 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 19 และกลุ่มติดเตียง ราว 160,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1.5
และยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือมีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และในปี 2578 จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือ Super Aged Society คือมีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าวัยรุ่นในวันนี้จะกลายเป็นผู้สูงอายุในวันข้างหน้า ฉะนั้นหากเตรียมรับมือไม่ดี สังคมไทยย่อมต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่อย่างแน่นอน
ปัญหาที่ตามมาจากการเป็น "สังคมผู้สูงอายุ" คือ ปัญหาด้านทรัพยากรบุคคล เพราะจำนวนคนวัยทำงานจะลดลง ประกอบกับอัตราการเกิดที่ต่ำ ทำให้สัดส่วนของประชากรวัยเด็กลดลง และจะไม่เพียงพอต่อการทดแทนจำนวนแรงงานที่จะปลดเกษียณในอนาคตในทุกอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน เห็นได้จากปัจจุบันเริ่มมีการขยายอายุเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี ที่สำคัญคนวัยทำงานต้องมีภาระหนักขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ขนาดครอบครัวที่เล็กลง ย่อมหมายถึงผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่ลำพังมากขึ้น
ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กระทรวง พม.) ได้มีมาตรการรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น โดยมีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุจำนวน 878 แห่งทั่วประเทศ โรงเรียนผู้สูงอายุ 1,156 แห่งที่ส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ ทั้งยังมีการจ้างงานผู้สูงอายุ การสร้างที่พักสำหรับผู้สูงอายุ สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ รวมถึงเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันได จำนวน 600 -1,000 บาทที่รัฐสนับสนุนให้ทุกเดือนด้วย
แต่การรองรับปัญหาที่สำคัญ คือการขับเคลื่อนชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อให้ผู้สูงอายุดูแลกันในชุมชน ซึ่งกรณี "บ้านรับฝาก สว." น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการดูแลผู้สูงอายุที่ใช้ชุมชนและภาคประชาสังคมขับเคลื่อนกันเอง