ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯรอบที่ 54 ปลด "สุคิริน" อำเภอที่ 4 ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ
เมื่อเร็วๆ นี้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ชง ครม.ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งเป็นการขยายเวลารอบที่ 54 พร้อมปลด อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ออกจากพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯแทน นับเป็นอำเภอที่ 4 จาก 33 อำเภอที่เคยประกาศใช้กฎหมายพิเศษฉบับนี้
คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยในรัฐบาลชุดนี้มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน
ภายหลังการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 16 พ.ย.61 พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงว่า พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สรุปสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ที่ประชุมได้รับทราบ ปรากฏว่าภาพรวมดีขึ้น การปฏิบัติงานจะเน้นเกี่ยวกับศูนย์ปฏิบัติการร่วมระดับอำเภอ หรือ ศปก.อำเภอ ซึ่งจะบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลและกองทัพภาคที่ 4 ส่วนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เร่งรณรงค์รักษาโรคหัดที่มีการระบาดในพื้นที่ เนื่องจากมีประชาชนเสียชีวิต
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่ทุกอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.61 สิ้นสุดวันที่ 19 มี.ค.62 ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ที่ได้ปรับลดออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯไปก่อนหน้านี้
การขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 54 นับตั้งแต่ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.ปี 48 ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
นอกจากนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ยังได้เสนอขอปรับลดพื้นที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยนำมาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) มาบังคับใช้แทน เนื่องจาก กอ.รมน.ได้ประเมินตามตัวชี้วัดของแผนการและขั้นตอนการปรับลดพื้นที่แล้ว พบว่า อ.สุคิริน ผ่านเกณฑ์ตามตัวชี้วัดการประเมิน
พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า การปรับลดพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลสถานการณ์ความมั่นคงและเป็นประโยชน์ต่อภาพลักษณ์ของประเทศ รวมถึงช่วยเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ควบคู่กันด้วย โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
เลขา สมช. ให้ข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อีก 4-5 อำเภอ เพื่อบังคับใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งมีดีกรีความเข้มข้นน้อยกว่าแทน แต่ขณะนี้อำเภอที่เหลือยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน
ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พล.อ.ประวิตร ยังได้ฝากให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เร่งดำเนินการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ และให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ความรุนแรง เพราะการปราบยาเสพติดอาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงตามมา รวมทั้งสถานาการณ์การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น อาจมีการต่อสู้ทางการเมืองจนอาจมีความรุนแรงเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเน้นย้ำให้มีการตรวจสอบดูแล โดยเฉพาะมาตรการด้านการข่าว
ส่วนกลุ่มที่เคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ความไม่สงบทั้งในและต่างประเทศนั้น เลขาฯสมช. กล่าวว่า ยังมีการเคลื่อนไหวตามปกติ แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ก็ยังเดินหน้าอยู่ตามนโยบายของรัฐบาล
"ทีมข่าวอิศรา" รายงานเพิ่มเติมว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งสิ้น 33 อำเภอ ตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 ม.ค.47 ที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส มีการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อให้ฝ่ายทหารเข้าควบคุมพื้นที่ ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 33 อำเภอ และอีก 4 อำเภอรอยต่อของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
ต่อมาเมื่อเดือน ก.ค.ปี 48 เกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ที่เรียกขานกันว่า "เหตุดับเมืองยะลา" โดยคนร้ายได้ใช้วิธียิงหม้อแปลงเสาไฟฟ้าแรงสูงเพื่อให้ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง จากนั้นก็เปิดฉากโจมตีเจ้าหน้าที่ ฐานปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง สถานที่ราชการ และบ้านเรือนประชาชนพร้อมๆ กันหลายจุด โดยเหตุการณ์ลักษณะนี้มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสั่งบังคับใช้ควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 33 อำเภอ ควบคู่กับกฎอัยการศึกนับแต่นั้้นมา และขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ทุกๆ 3 เดือนตั้งแต่ปลายปี 48 มาจนถึงปัจจุบัน นับได้ 54 ครั้ง
ส่วนพื้นที่รอยต่อ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นที่ประกาศกฎอัยการศึก และต่อมาในปี 51 เมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็มีการประกาศให้พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นพื้นที่ปรากฏสถานการณ์ความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และขยายเวลาต่ออายุทุกๆ 1 ปีนับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 33 อำเภอ มีการปลด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้วที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เป็นอำเภอแรก ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากนั้นในรัฐบาล คสช. มีการปลดเพิ่มอีก 2 อำเภอ คือ อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ล่าสุดมีการเสนอปลด อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เพิ่มอีก 1 อำเภอ ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบด้วย ก็จะนับเป็นอำเภอที่ 4 ที่ปลด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
สำหรับ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ที่ฝ่ายความมั่นคงเตรียมเอาไว้จัดสรรที่ดินทำกินและสร้างชุมชนรองรับผู้เห็นต่างจากรัฐที่ยอมเข้าร่วม "โครงการพาคนกลับบ้าน" แม้ที่ผ่านมาจะมีมวลชนในพื้นที่ไม่ยอมรับ และเคลื่อนไหวต่อต้าน แต่ภายหลังได้มีการทำความเข้าใจ และเดินหน้าแผนจัดสรรที่ดินและสร้างชุมชนรองรับเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯรอบใหม่่ที่จะมี พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ โดย พล.อ.อุดมชัย คือผู้ที่ริเริ่มโครงการพาคนกลับบ้าน ตั้งแต่ปี 55
-----------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : เตรียมกำลัง ตร.ครึ่งหมื่นคุมชายแดนใต้หลังทยอยเลิก พ.ร.ก.