มพบ.โต้กรมขนส่ง-สหกรณ์ฯ ยันสัญญา 'สามล้อเอื้ออาทร' เจตนาทุจริต-ร้องกองปราบฯ 19 พ.ย.
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตรียมร้องกองปราบฯ 19 พ.ย. ปมสามล้อเอื้ออาทร สัญญาเข้าข่ายฉ้อโกง ปชช. ซ้ำซ้อน ตั้งข้อสังเกต เหตุผลสหกรณ์ฯ ไม่ยอมเป็นผู้กู้ธนาคารมาปล่อยให้คนขับเเทน หากไร้เครดิต
จากการที่เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2561 กรมการขนส่งทางบกได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีโครงการ “สามล้อเอื้ออาทร” ว่ากรมฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดหารถสามล้อเครื่อง รวมถึงการทำนิติกรรมสัญญาเงินกู้ของสถาบันการเงิน และพร้อมหามาตรการเยียวยาแก่กลุ่มผู้เสียหายที่ยังต้องการประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างสามล้อโดยสุจริตนั้น และทางสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ได้ออกมาให้ข่าว ว่า คนขับรถสามล้อผิดนัดชำระหนี้
ล่าสุด วันที่ 18 พ.ย. 2561 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ยืนยันว่า โครงการสามล้อเอื้ออาทรรอบสองนี้ มีวิธีการดำเนินการแตกต่างจากรอบแรกที่จดทะเบียนไป 1,686 คัน คนขับสามล้อจ่ายคืนหนี้ตรงกับสถาบันการเงิน มีการทำสัญญาตรงไปตรงมา ทำให้ไม่เป็นหนี้สินเกินมูลหนี้ กับธนาคารออมสินและสหกรณ์ฯ ต้องทำสัญญากู้เงินตนเองเหมือนกับครั้งที่ 2 นี้
โครงการสามล้อเอื้ออาทรรอบสอง จำนวน 814 คัน ประชาสัมพันธ์ระหว่างวันที่ 13 – 28 ส.ค. 2558 มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์จดทะเบียน 249 คัน และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 – 30 ธ.ค. 2558 มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์จดทะเบียน 131 คัน รวมทั้งสองครั้งมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์จดทะเบียนเพิ่มเติมจำนวน 380 คันเท่านั้น โดยมีผู้ร้องเรียนที่มูลนิธิฯ มากกว่า 115 คัน
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อว่า โครงการนี้เป็นการดำเนินการครั้งที่ 2 ไม่ควรมีความผิดพลาด แต่มีข้อสังเกตว่า มีการอนุญาตให้สหกรณ์เพียงรายเดียวมาเปิดบูธโฆษณาขายรถสามล้อเครื่องที่กรมการขนส่งทางบก โดยมีรถสามล้อเครื่องมาโชว์ ไม่มีป้ายราคาบอก สอบถามบอกแต่เพียงว่า ราคาไม่เกิน 300,000 บาท ทำให้กลุ่มผู้เสียหายจองซื้อรถสามล้อเครื่องเป็นจำนวนมากเพราะคิดว่า กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้สหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการ
จนกระทั่งเกิดการฟ้องคดีจากธนาคารออมสิน จึงได้รับทราบว่า มีการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำซ้อน และแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่อาจจะตั้งใจทุจริตตั้งแต่แรก จนทำให้ผู้เสียหายเกือบทุกคนต้องเป็นหนี้ มากกว่าเงินกู้ที่ได้รับ ไม่ยอมให้อ่านรายละเอียดสัญญา ไม่ให้สัญญาคู่ฉบับ
"เราแปลกใจมากว่า คนขับสามล้อไม่มีเครดิต ไม่สามารถกู้ได้ด้วยตัวเอง แต่ข้อเท็จจริงทุกคนกู้ธนาคารออมสินด้วยตัวเอง หากสหกรณ์จะช่วยทำไมไม่เป็นผู้กู้แล้วให้คนขับสามล้อผ่อนกับตนเอง"
ทั้งนี้ วันจันทร์ที่ 19 พ.ย. 2561 เวลา 14.00 น. มพบ. จะเป็นตัวแทนผู้เสียหาย ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการกองปราบปราม ในข้อหา ฉ้อโกงประชาชน .
อ่านประกอบ:เเก้ต่าง! สหกรณ์บริการจักรเพชร ยันสัญญา ‘สามล้อเอื้ออาทร’ ไม่พิสดาร หลังมพบ. ร้องเข้าข่ายฉ้อโกง
อ่วม! คนขับสามล้อถูก ‘ออมสิน’ ฟ้อง ฐานเบี้ยวหนี้ซื้อรถ-จ่อร้องกองปราบฯ ฉ้อโกงประชาชน
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ