นักมวยเด็กตามจารีตประเพณีไทยกับความขัดแย้งต่อหลักสากล
"...มีการชกมวยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อยู่ทั่วประเทศและมีมานานหลายสิบปี เป็นจารีตประเพณีแล้ว แต่จะพบปัญหาว่า เมื่อมีการจัดการให้มีการชกมวยเด็ดที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น การชกมวยที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีการเสียชีวิต นั้นจะได้รับสวัสดิการจากกองทุนมวย หรือไม่ คำตอบ คือ “ไม่ได้รับ”..."
ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันมวยไทยได้เฟื่องฟูสู่สากลเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ศิลปะมวยไทย การต่อสู้ที่น่ากลัวและน่าศึกษา ฝึกฝนในการป้องกันตัว มวยไทยภายใต้พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ได้ให้เสรีภาพในการต่อยมวยไทยที่ไม่จำกัดอายุ ในการต่อยมวยอาชีพ นักมวยเด็ก คือ กลุ่มเสี่ยงกับความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายและเป็นกระทบต่อการดำรงชีพต่อไปในอนาคต กับ ปัญหาขัดแย้งต่อหลักสากลที่ถือเป็นการใช้แรงงานเด็ก ประจวบกับข่างการเสียชีวิตของนักมวยเด็ก อายุ 13 ปี ในขณะขึ้นชกมวย ทำให้สังคมตื่นตัวกับปัญหามวยเด็ก ว่าควรแก้ไขกฎหมายให้มีการห้ามเด็กต่ำกว่า 12 ปี หรือ ห้ามต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นแข่งขันชกมวยไทย นั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือทำลายประเพณีวัฒนธรรมไทยภายใต้กับดักหลักสากลหรือไม่ ผมในฐานะอดีตนักมวยเด็ก ชกมวยไทยตั้งแต่อายุ 10 ขวบจนถึงอายุ 21 ปี ในนาม “รุ่งศักดิ์ ศักดิ์แสง” และในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย มีมุมมองประเด็นปัญหาเกี่ยวกับมวยเด็ก อยู่ 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ ประเด็นกฎหมายฉบับนี้มุ่งส่งเสริมครองมวยเด็กที่ตำกว่า 15 ปี หรือไม่ การดำเนินการเพื่อความปลอดภัยเกี่ยวกับมวยเด็กเพียงพอหรือไม่โดยเฉพาะมวยเด็กที่ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ดังนี้
ประเด็นการส่งเสริมการคุ้มครองมวยเด็ก
เมื่อพิจารณาเนื้อหากฎหมายพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 เกี่ยวกับการส่งเสริมคุ้มครองมวยเด็กที่มีอายุไม่ถึง 15 ปี ภายใต้มาตรา 14 และมาตรา 26 ให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการมวย และคำสั่ง คสช.ที่ 63/2559 เรื่อง การส่งเสริมและการปฏิรูปการกีฬาของประเทศไทย ได้ยกเลิกกองทุนกีฬามวยให้โอนกิจการเกี่ยวกับกองทุนกีฬามวยอาชีพตามพระราชบัญญัติส่งเสริมอาชีพ พ.ศ. 2556 อยู่ภายใต้กรบริหารของคณะกรรมการบริหารกองทุน ตามพระราชบัญญัติกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2538 จะพบว่า เป็นการกล่าวถึงและให้สวัสดิการแก่นักมวยอาชีพที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป แต่นักมวยที่มีอายุไม่ถึง 15 ปี ไม่ได้รับสวัสดิการ เพราะไม่สามารถจดทะเบียนมวยอาชีพได้ เมื่อเกิดกรณีมวยเด็กที่มีอายุ ต่ำกว่า 15 เกิดการเจ็บป่วย หรือมีการตาย เกิดขึ้น ไม่มีกองทุนอะไรรองรับ ซึ่งเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะขัดแย้งในตัวมันเองส่งเสริมมวยเด็กทุกระดับอายุ แต่การคุ้มครองเพียงแต่มวยอาชีพ ที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไปที่ได้จัดทะเบียนมวยไทยอาชีพ มาตรา 29 และจะได้รับ ในเรื่องสวัสดิการภายใต้กองทุนมวยไทยอาชีพ ดังนั้นในกรณีเด็กอายุ 13 ปี ชกมวยเสียชีวิตไม่ได้รับสวัสดิการจากกองทุนมวยและกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ
ประเด็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยกับมวยเด็ก
เมื่อพิจารณาถึงประเด็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยของมวยเด็ก เกี่ยวกับมวยเด็กมีข้อพิจารณา อยู่ 2 เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ 1 การดำเนินการเพื่อความปลอดภัยภายใต้มาตรา 14 ในการจัดการแข่งขันกีฬามวยไทยแต่ละครั้ง นายสนามมวยและผู้จัดรายการต้องจัดให้มีมาตรการเพื่อความปลอดภัย คือ
(1) จัดให้มีแพทย์แผนปัจจุบัน ตรวจสอบสุขภาพของนักมวยแต่ละคนก่อนการแข่งขันกีฬามวยเพื่อรับรองว่านักมวยมีสุขภาพพร้อมที่ทำการแข่งขัน
(2) จัดให้มีแพทย์แผนปัจจุบันหรือพยาบาลวิชาชีพและอุปกรณ์ทางการแพทย์ประจำสนามมวยในขณะที่มีการแข่งขัน
(3) จัดให้มีการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬามวยสำหรับนักมวย
เรื่องที่ 2 มาตรา 26 วรรค 2 พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ได้กำหนดนักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้มีการแข่งขันชกมวยได้และจะมีการกำหนดเฉพาะเมื่อมีอุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัยในการแข่งขัน ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับให้มีอุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัยในการแข่งขันสำหรับมวยเด็กที่ตำกว่า 15 ปี อย่างที่ดีและเพียงพอและมีความชัดเจน เพียงแต่กำหนดกรอบกว้างๆไว้ในมาตรา 14 นั้นได้มีการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยเพียงพอ
ในกรณีเด็ก 13 ปี ที่ชกมวยไทยเสียชีวิตผู้จัดรายการมวยได้ดำเนินการเพื่อความปลอดภัยในทั้ง 2 เรื่องข้างต้นหรือไม่ ปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเวทีมวยภูธรและเป็นเวทีมวยชั่วคราวเพราะจะมีการจัดให้มีการชกมวยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อยู่ทั่วประเทศและมีมานานหลายสิบปี เป็นจารีตประเพณีแล้ว แต่จะพบปัญหาว่า เมื่อมีการจัดการให้มีการชกมวยเด็ดที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น การชกมวยที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีการเสียชีวิต นั้นจะได้รับสวัสดิการจากกองทุนมวย หรือไม่ คำตอบ คือ “ไม่ได้รับ” เพราะไม่ได้เป็นนักมวยที่ได้จดทะเบียนไว้ จึงไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับการได้รับสวัสดิการ ของ พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ที่ให้ เด็กมีอายุ 15 ปี ขึ้นไปสามารถจดทะเบียนมวยได้
ผมเห็นว่าปัญหาเหล่านี้เราควรจะพูดถึงกันให้มากที่สุดมากกว่า “การพูดถึงการเสนอแก้ไขกฎหมายห้ามเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี ชกมวยไทย” ที่บอกว่าเป็นการใช้แรงงานเด็กขัดต่อกฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หรือ ขัดหลักสากลสิทธิมนุษยชนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือแม้กระทั่งหลักการทางการแพทย์ มาใช้เป็นเหตุผลในการแก้ไขปัญหามวยเด็ก ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการทำลายประเพณีวัฒนธรรมในสังคมบริบทไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะผมเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้องนัก กับการแก้ไขปัญหามวยเด็กที่ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในวงการมวยทั่วประเทศ ซึ่งได้แก่ นักมวย ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน ผู้จัดการแข่งขันมวย หัวหน้าค่ายมวย นายสนามมวย ผู้จัดรายการมวย ผู้ปกครองมวยเด็ก และคนดูมวย ให้เกิดผลึกที่มีความคิดเห็นร่วมกันภายใต้มาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ดังนั้นผมเห็นว่าการแก้ไขปัญหามวยเด็ก จะต้องประกอบด้วย 2 ระยะ คือ ระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
ระยะสั้น เป็นการแก้ไขปัญหาภายใต้บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติ กีฬามวย พ.ศ. 2542 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ ในเรื่องของบทบาทคณะกรรมการกีฬามวย “มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกีฬามวย” ประกอบด้วย รัฐมนตรีซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงแรงงาน* นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคน และให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยคำแนะนำของประธานกรรมการและกรรมการโดยตำแหน่งตามวรรคหนึ่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับกีฬามวย ในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีภูมิลำเนาในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอย่างน้อยสี่คน” ที่ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ออกระเบียบเกี่ยวกับมาตรการกีฬามวยเด็กตาม “มาตรา 9 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ และเผยแพร่กีฬามวย
(2) วางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับกีฬามวย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักมวย
(3) พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่และจรรยาบรรณของบุคคลในวงการกีฬามวย
(4) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
(5) ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนออกข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการ
(6) ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
(7) ปฏิบัติการอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย”
ในการส่งเสริมและคุ้มครอง และควบคุมให้มีความเข้มข้นและจริงจัง ภายใต้มาตรา 14 มาตรา 26 เกี่ยวการมาตรการเพื่อความปลอดภัย เช่น เด็กที่ มีอายุ ไม่เกิน 12 ปี ต้องสวมใส่เฮดการ์ด ป้องกันการกระทบเทือนของสมองตามที่ แพทย์บอกว่าส่วนใหญ่มวยเด็กมีผลกระทบกระเทือนต่อสมองทำให้พัฒนาการทางสมองมีปัญหาต่อการดำรงชีพต่อไปในอนาคต ภายใต้บังคับมาตรา 26 ในการมีอุปกรณ์การป้องกันเฉพาะสำหรับเด็กหรือการออกระเบียบบังคับให้มีการทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬามวยโดยเฉพาะนักมวยเด็ก และรวมไปถึงการกำหนดเวลาในการแข่งขัน จำนวนยก ระยะเวลาการพักของนักมวยเด็ก ที่แตกต่างไปจากนักกีฬามวยทั่วไป
ระยะยาว เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ที่ต้องมีการถกเถียงกันว่าควรกำหนดอายุมวยเด็กหรือไม่ อายุเท่าไหร่สามารถแข่งขันชกมวยได้ เพื่อเป็นการป้องกัน ส่งเสริม คุ้มครองกีฬามวย โดยประเด็นเหล่านี้ต้องมีการการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในวงการมวยทั่วประเทศ ซึ่งได้แก่ นักมวย ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน ผู้จัดการแข่งขันมวย หัวหน้าค่ายมวย นายสนามมวย ผู้จัดรายการมวย ผู้ปกครองมวยเด็ก และคนดูมวย ให้เกิดผลึกที่มีความคิดเห็นร่วมกันภายใต้มาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมองถึงหลักประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เกิดดุลภาพกัน มากกว่าการมองถึงปัญหาด้านการใช้แรงงานเด็กหรือหลักกฎหมายสากลอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หลักกฎหมายสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศเหล่านั้นไม่มีประเพณีเกี่ยวกับมวยเด็ก หลักกฎหมายเหล่านี้มาใช้กับประเทศไทยที่บริบทของสังคมที่ตกต่างกัน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์