เสียง “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” : ‘คนกระทรวงทรัพย์ฯ ไม่เอาของดี “โฉนดชุมชน’
ท่ามกลางบรรยากาศไล่รื้อตัดฟันพืชผลในพื้นที่เตรียมออกโฉนดชุมชนเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง คำถามที่ตามมาคือ “เป็นการดิสเครดิตการเมืองพรรครัฐบาลก่อน ผู้ผลักดันนโยบายโฉนดชุมชนหรือไม่?” โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์
มีคำตอบจาก “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐตรี ผู้ที่ได้รับบทบาทสำคัญในการจัดการนโยบายโฉนดชุมชนในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังต่อไปนี้….
อะไรคือสาเหตุที่กรมอุทยานฯ ไล่รื้อชาวบ้านในพื้นที่เตรียมการออกโฉนดชุมชนบนเทือกเขาบรรทัด
ตอใหญ่ที่สุดคือคนส่วนมากในกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไม่เห็นด้วยกับนโยบายโฉนดชุมชนตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เห็นได้ชัดว่าในช่วงที่จัดทำร่างนโยบายโฉนดชุมชนซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ ได้ยินเสียงติติงจากคนในกระทรวงทรัพย์ฯค่อนข้างมาก โดยมองว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้ชาวบ้านที่บุกรุกป่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ หรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องการให้ยึดถือหลักฐานราชการเป็นหลัก ถ้าจะพิสูจน์ว่าอยู่มาก่อนอุทยานฯประกาศทับที่ทำกิน ชาวบ้านต้องมีหลักฐาน ขณะที่ชาวบ้านต่อสู้ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ร่องรอยการทำประโยชน์ต่างๆ ซึ่งมักจะแพ้คดีในศาล
สอง-คนในกระทรวงทรัพย์ฯ กลัวว่าถ้าโฉนดชุมชนจะเปิดทางให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อขอโฉนดชุมชนต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราพยายามอธิบายว่าแนวคิดโฉนดชุมชนไม่ใช่การนิรโทษกรรม ถึงแม้จะออกโฉนดชุมชนไปแล้วที่ดินยังเป็นของรัฐ คนที่เข้าไปครอบครองได้เฉพาะสิทธิ์ทำกิน และคุ้มครองเฉพาะทำเกษตร ที่ดินจะเอาไปจำนองจำนำถ่ายโอนใดๆไม่ได้ ไม่มีกรรมสิทธิ์เป็นส่วนตัว เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน
เจ้าหน้าที่มักแย้งว่ากรมอุทยานฯ กรมป่าไม้มีนโยบายอยู่แล้วคือออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน(สปก.) เราบอกว่ามันล้มเหลว ชาวบ้านได้กรรมสิทธิ์เชิงปัจเจก สุดท้ายเมื่อทำมาหากินไประยะหนึ่งก็จะขายสิทธิ์ เกิดการบุกรุกป่าต่อไปอีก จิตสำนึกการดูแลพื้นที่ไม่มี ขณะที่โฉนดชุมชนบังคับให้ชุมชนดูแลที่ดิน ใครคนใดคนหนึ่งออกจากที่ดินก็เป็นสิทธิ์ของชุมชนที่จะให้ใครเข้ามาทำกินต่อไป แตกต่างกับ สปก.สิ้นเชิง แต่กระทรวงทรัพย์ฯก็คัดค้าน คือปัญหาตั้งแต่เริ่มนโยบายโฉนดชุมชน
เหตุการณ์ครั้งนี้(ไล่รื้อในพื้นที่เตรียมออกโฉนดชุมชน) ผมเข้าใจว่ากลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยอาศัยจังหวะเปลี่ยนรัฐบาลทำให้นโยบายโฉนดชุมชนเกิดความไม่แน่นอน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องโฉนดชุมชนก็เปลี่ยนมาแล้ว 2 คน จากนายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เป็นนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ออกปฏิบัติการตัดฟันผลอาสินของชาวบ้าน ตอนหาเสียงเลือกตั้งนายวรวัจน์ ออกมาคัดค้านนโยบายโฉนดชุมชน แต่ปัจจุบันมาเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน นายวรวัจน์เคยประกาศว่าควรออกเป็นโฉนดที่ดินให้กับปัจเจก ผมคิดว่าเขาไม่เข้าใจหลักการโฉนดชุมชน เท่าที่ผมทราบคือประชุมมาหลายครั้งรัฐมนตรีไม่รู้เรื่องนี้ ต้องให้ชาวบ้านให้ความรู้อยู่เป็นประจำ
จังหวะนี้อุทยานฯ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโฉนดชุมชน ฉวยโอกาสเปิดเกมรุก นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานฯ มีท่าทีที่แข็งกร้าวในการจัดการกับคนที่อยู่กับพื้นที่ป่ามาตลอด
ทำไมเป้าหมายการปราบปรามขบวนการบุกรุกป่าของกรมอุทยานฯ จึงเล็งมาที่เทือกเขาบรรทัด
เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะชาวบ้านที่อยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด เป็นแกนนำของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.) ซึ่งมีบทบาทมากในการเรียกร้องนโยบายโฉนดชุมชน และเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง ร่วมกับเครือข่ายอื่นๆทั่วประเทศ อีกทั้งเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัด มีปัญหากับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดมาตลอด จนกระทั่งความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในช่วงดำเนินนโยบายโฉนดชุมชน สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
เทือกเขาบรรทัดมีการบุกรุกป่ากันมาก การเลือกไปตัดฟันยางพาราในพื้นที่เตรียมการโฉนดชุมชน ทั้งที่เคยมีข้อตกลงในคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า “พื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศเขตป่าอนุรักษ์ให้ยุติการจับกุมไว้ก่อน จนกว่าจะจัดการได้ด้วยนโยบายโฉนดชุมชน” การเข้าไปจัดการในพื้นที่เตรียมการโฉนดชุมชน ผมมองว่าเป็นการละเมิดข้อตกลง ที่ผมเป็นห่วงคือการนำนายเจิม เส้งเอียด อดีตจอมโจรมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ มองแบบผิวเผินอาจดูว่าดี เป็นการรณรงค์ให้คนรักษาป่า แต่ในทางกลับกันเหมือนกับการจัดตั้งมวลชนขึ้นมาปะทะกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านกลัวและหยุดยั้งการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทำกิน ผมว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิชุมชน
เป็นไปได้ไหมว่าโฉนดชุมชนเกิดขึ้นในยุคประชาธิปัตย์ ตรังก็เป็นเมืองหลวงของพรรค จึงเป็นเป้าหมาย
ผมไม่เห็นคำสั่งชัดๆว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือว่าเพราะผมเป็นคนผลักดันโฉนดชุมชน เป็นพื้นที่ทางการเมืองของสาทิตย์ ของประชาธิปัตย์ ต้องรีบจัดการ เท่าที่ผมรู้ชัดเจนก็คือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลพยายามเปลี่ยนชื่อนโยบายโฉนดชุมชนเป็นชื่ออื่น แต่ชาวบ้านไม่ยอม ผมว่ากระทรวงทรัพย์ฯ และกรมอุทยานฯ ต้องเป็นผู้ตอบว่าเป็นนโยบายเอาใจนายหรือนายสั่งให้ทำหรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร มันไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน เพราะนโยบายโฉนดชุมชนของรัฐควรมีความต่อเนื่อง เพราะการเกิดมาของนโยบายผ่านการกลั่นกรอง ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จนออกมาเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตราบใดที่ยังไม่ยกเลิกระเบียบนี้ รัฐบาลจะต้องปฏิบัติ ผมคิดว่าชาวบ้านฟ้องศาลปกครองได้นะว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มิชอบ เนื่องจากมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับนโยบายโฉนดชุมชนชัดเจน เป็นข้อผูกมัดหน่วยงานรัฐ มีการตกลงความร่วมมือลงนามเอ็มโอยูแล้วระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรีกับกระทรวงต่างๆ
นอกจากนี้คณะกรรมการระดับชาติในการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ เป็นคณะกรรมการด้วย ยังมีมติให้พื้นที่ที่มีความขัดแย้งกันอยู่และขอทำโฉนดชุมชน ต้องยุติการดำเนินการใดๆจนกว่าจะดำเนินการโฉนดชุมชนแล้วเสร็จ
ทำไมรัฐบาลชุดก่อนจึงทำโฉนดชุมชน ทั้งที่รู้ว่ากระทรวงทรัพยฯ ไม่เห็นด้วย
บอกได้ 2 แนวทาง 1. ปัญหาเชิงหลักการ รัฐบาลเห็นว่าความยากจนความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญที่สุด ต้องแก้ไขด้วยเรื่องที่ดินทำกินเพราะเป็นสังคมเกษตร งานวิจัยพบว่าปัจจัยการผลิตคือที่ดินร้อยละ 90 อยู่ในมือคนไม่เกิน 10% ที่ดินอีกร้อยละ 10 กระจายอยู่ในคน 90% ปี 2547 สมัยรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร มีการลงทะเบียนคนจนพบว่าประมาณ 4 ล้านกว่าครัวเรือนไม่มีที่ทำกินของตัวเอง ปัจจัยนี้สอดคล้องกับคนที่อยู่ในพื้นที่ป่า ไม่ว่าในเขตอุทยานฯ เขตป่าไม้ฯ ที่ดินของกระทรวงต่างๆ รวมถึงที่ดินรัฐวิสาหกิจ อันเนื่องมาจากไม่มีที่ดินทำกินประมาณ 10 ล้านไร่ 1 ล้านครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 10 ไร่
ในจำนวนนี้รวมทั้งประกาศพื้นที่ป่าบุกรุกที่ดินทำกินของคน เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ประกาศเขตป่า กับพื้นที่ที่คนไร้ที่ทำกินบุกเข้าไปอยู่ในที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์ในเชิงป่าไม้แล้ว หรือทำกินมายาวนานแล้ว เช่น อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า ก็มีชุมชนทับเขือ–ปลักหมู ที่เห็นร่องรอยทำกินมานานแล้วชัดเจน จะเอาคนพวกนี้ไปไว้ที่ไหน ถึงจะขับไล่ออกมาได้ก็ไม่มีพื้นที่ใหม่ให้เขาไปอยู่ สุดท้ายก็กลับมาเป็นภาระรัฐ เรามาคิดต่อว่าถ้าใช้นโยบายแก้ปัญหาแบบเดิมคือให้สิทธิกับปัจเจก สุดท้ายรัฐก็ไม่ได้เข้าไปส่งเสริม เมื่อไปไม่รอดเจ้าของสิทธิ์ในที่ดินก็จะขาย แล้วกลับบุกรุกป่ากันต่อ เพราะฉะนั้นกรรมสิทธิ์ร่วมในรูปของโฉนดชุมชน เลยเป็นแนวทางที่คิดว่าน่าจะแก้ไขปัญหาได้
2.ในทางประวัติศาสตร์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เคลื่อนไหวเรื่องที่ดินทำกินมานานแล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ พูดว่าในเมื่อพวกเขาเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล ไม่ต้องปิดประตูทำเนียบฯ เปิดประตูพูดคุยกัน จัดตั้งกรรมการระดับชาตินายกรัฐมนตรีเป็นประธานพูดคุยกัน มีปัญหาหลากหลายมาก ที่สุดเราก็ยกแนวทางโฉนดชุมชนขึ้นมาใช้แก้ไขปัญหา แต่งตั้งให้ผมเป็นอนุกรรมการไปจัดทำ เป็นที่มาของการศึกษา และที่สุดก็ยกระดับขึ้นเป็นนโยบาย ประกาศเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
เรายังจะมีธนาคารที่ดินเป็นเครื่องมือสนับสนุนเงินทุนให้กับคนที่อยู่ในที่ดินรัฐ เพราะที่ดินไม่สามารถนำไปจำนองจำนำได้ ธนาคารที่ดินจะต้องมีเงินไปจัดซื้อจัดหาที่ดินทำเป็นโฉนดชุมชน ปลายสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ เรายกธนาคารที่ดินให้เป็นองค์การมหาชน รวมทั้งกฎหมายภาษีทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าสำหรับคนมีที่ดินแล้วไม่ใช้ประโยชน์ นำเงิน 2% ดังกล่าวไปไว้ในธนาคารที่ดิน เสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรแล้วในรัฐบาลก่อน แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่หยิบขึ้นมาพิจารณา ล่าสุดนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังยับยั้งกฎหมายภาษีทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่นำเข้าพิจารณาในสภาฯ
ส่วนธนาคารที่ดินเราผลักดันเป็นองค์การมหาชน จัดตั้งเสร็จออกเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยปลายรัฐบาลก่อน แต่แต่งตั้งคนขึ้นมารับผิดชอบไม่ได้เพราะติดช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก่อน เรื่องนี้รัฐบาลปัจจุบันจะต้องไปจัดตั้งผู้รับผิดชอบตามพระราชกฤษฎีกาภายในเวลาที่กำหนด แต่บัดนี้เลยเวลาไปแล้ว เท่าที่ทราบเรื่องถูกเสนอไปยังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และถูกเก็บดองเอาไว้จนบัดนี้
ดูเหมือนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับนโยบายโฉนดชุมชนของชาวบ้านยังมีหนทางอีกยาวไกล
ผมว่าภายใต้รัฐบาลชุดนี้โฉนดชุมชนไม่มีอนาคต แต่ถ้าพูดให้เป็นธรรมกับชาวบ้านรัฐบาลชุดนี้ควรประกาศให้ชัดว่ามีนโยบายต่อคนกลุ่มนี้อย่างไร เมื่อโฉนดชุมชนเป็นนโยบายสาธารณะออกมาแล้วรัฐก็ต้องเดินต่อ บัดนี้รัฐบาลยังไม่ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องโฉนดชุมชน ยังไม่ยกเลิกสำนักงานโฉนดชุมชน ไม่ยกเลิกงบประมาณซึ่งตั้งเอาไว้ในการจัดจ้างบุคลากรในสำนักงานโฉนดชุมชน ยังไม่มีงบประมาณดำเนินการโฉนดชุมชนที่ตั้งเอาไว้ในปีงบประมาณปี 2554 และ 2555 ผมจะคอยดูงบประมาณปี 2556 ว่า รัฐบาลจะตั้งงบประมาณไว้อีกหรือไม่
สำหรับพื้นที่โฉนดชุมชนที่ประกาศไปแล้วมี 2 แห่ง สถานะทางกฎหมายครบถ้วนคือ คลองโยง จ.นครปฐม กับชุมชนแม่อาว จ.ลำพูน มีงบประมาณที่อนุมัติให้ซื้อที่ดินต่อเนื่องอีก 150 ล้านบาท สำหรับทำโฉนดชุมชนแม่อาว และมีเงินอีก 1,000 กว่าล้านบาทที่อนุมัติไว้แล้วสำหรับซื้อที่ดินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) 25 แห่ง เพื่อนำมาจัดสรรเป็นโฉนดชุมชน ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในรัฐบาลนี้
สังคมหล่อหลอมให้คนยอมรับสิทธิเชิงปัจเจก อาทิ โฉนดที่ดิน สปก. เมื่อให้สิทธิร่วมเป็นโฉนดชุมชน จะไม่ขัดแย้งในชุมชนหรือ
ตัวอย่างจากพื้นที่โฉนดชุมชนทั้ง 2 แห่ง ยังไม่พบความขัดแย้งภายในชุมชน ผมไปร่วมงานวันครบรอบ 1 ปีที่ได้โฉนดชุมชนสหกรณ์คลองโยง นครปฐม เขาผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กระบวนการชุมชนมีความรักสามัคคี คิดโครงการธนาคารพันธุ์พืช สำหรับให้ทุกครัวเรือนจัดสรรปันส่วนรับมือน้ำท่วมปีต่อไป ส่วนชุมชนแม่อาว ถือว่าเป็นต้นแบบพื้นที่โฉนดชุมชนไทย การรับโฉนดชุมชนมาจากการยินยอมพร้อมใจเป็นเอกฉันท์ของชุมชน มาจากคนที่จนตรอกเรื่องที่ดินทำกิน
หลักเกณฑ์ข้อหนึ่งคือชุมชนต้องเข้มแข็ง ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็งเราจะไม่ให้โฉนดชุมชน และถ้าภายหลังาเกิดความขัดแย้งภายในชุมชน จะถูกยึดโฉนดชุมชนคืน กลับสู่สถานะผู้บุกรุก นี่คือข้อตกลง ประเด็นที่เห็นได้ชัดว่าโฉนดชุมชนเป็นที่ยอมรับอย่างมากก็คือ มีการยื่นขอโฉนดชุมชนจากทั่วประเทศเกือบ 600 ชุมชน คิดเป็นเนื้อที่นับหมื่นไร่ กว่า 4 แสนครัวเรือน
ในฐานะฝ่ายค้านจะดำเนินการเรื่องโฉนดชุมชนอย่างไร
สิ่งที่ผมพยายามทำ 1.สร้างความเข้าใจกับฝ่ายนโยบาย มีโอกาสคุยกับคนวงในรัฐบาลหลายคน ชี้ให้เห็นข้อดีของโฉนดชุมชน ดูเหมือนเขาเข้าใจแต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ผมไม่รู้ว่าใครมีอำนาจตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก 2.เผลักดันผ่านทางกรรมาธิการฯ พูดคุยในกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาที่ดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯก็นั่งอยู่ แต่ท่านไม่เคยแสดงความคิดเห็นอะไรเลย
มีคนในกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาที่ดินเข้าใจเรื่องนี้ แต่เสียงคนจากรัฐบาลบางคนไปไกลกว่านั้น บอกว่าอย่าออกโฉนดชุมชน ให้โฉนดที่ดินไปเลย ผมไม่เห็นด้วยกับการเอาที่ดินรัฐไปออกเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินให้คนบุกรุกป่า ในเมื่อที่ดินตรงนั้นรัฐไม่สามารถเอาคืนมาได้ ก็ให้ชาวบ้านทำการเกษตรให้เขาทำกิน โดยมีเงื่อนไขจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม จำกัดเขตการใช้ประโยชน์ ไม่ให้บุกรุกป่าเพิ่ม สร้างชาวบ้านให้เป็นมวลชนที่มีจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติ รักษ์ป่าไม้ ถ้าขับไล่ชาวบ้านออกไปก็ไม่มีที่ให้เขาอยู่ เจ้าหน้าที่รัฐใช้เวลาที่รัฐมาไล่จับชาวบ้าน ขณะที่ขบวนการตัดไม้ทำลายป่าไม่เคยหยุด ขบวนการใหญ่ๆทั้งนั้น
จะแนะนำชาวบ้านให้ต่อสู้เรื่องโฉนดชุมชนอย่างไร
ผมจะพยายามไปพบชาวบ้าน เพราะเห็นว่ามีที่พึ่งอยู่ 3 กระบวนการคือ 1.การรุกไปทำความเข้าใจกับคนของรัฐ กับฝ่ายนโยบาย เช่น นางสาวยิ่งลักษณ์ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินระดับชาติ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลนโยบายโฉนดชุมชน และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ ผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องไปยื่นหนังสือไปขอพบทำความเข้าใจชี้แจง
2.ถ้ามีการละเมิดข้อตกลง ละเมิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ละเมิดเอ็มโอยูที่ลงนามร่วมกับกระทรวงต่างๆ ระหว่างรัฐต่อรัฐ ชาวบ้านต้องพึ่งศาลปกครอง มีบางคดีที่ศาลให้ชะลอการลงโทษกรณีที่จำเลยถูกฟ้องบุกรุกป่า อ้างว่ากำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการขอโฉนดชุมชน ศาลก็ชะลอให้เพื่อรอผลการสืบข้อเท็จจริง 3.ผมคิดว่าชาวบ้านต้องรวมตัวกันผลักดันผ่านช่องทางที่จำเป็น เช่น กรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร ผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐสภา และช่องทางอื่นๆ
พัฒนาการของโฉนดชุมชนมาถึงวันนี้ เป็นอย่างไร
ที่คลองโยง เราถึงขั้นไปริเริ่มไว้เลยว่าถ้าให้ชุมชนอยู่กันเองแล้วรัฐไม่ส่งเสริม เช่น สาธารณูปโภคก็ดี อาชีพก็ดี ช่องทางการตลาดของภาคเกษตรก็ดี เขาอยู่ไม่ได้ วันที่เราไปเยี่ยมพื้นที่จึงจัดสัมมนาร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดให้นำแผนพัฒนาพื้นที่โฉนดชุมชนมาร่วมกับแผนพัฒนาจังหวัด เนื่องจากมีงบพัฒนาจังหวัดอยู่แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมขณะนั้นก็เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น
คลองโยงวางตัวเองเป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์ เขาต้องการตลาดขายพืชผัก วันนี้เขาเดินได้ดี พื้นที่แม่อาวก็เช่นกัน ผมเสียดายที่พื้นที่อื่นๆไม่ทันได้เดินเต็มรูปแบบ ถ้าได้เดินเต็มรูปแบบทุกจังหวัด ทั้งแผนพัฒนาชุมชน แผนพัฒนาโฉนดชุมชน แผนพัฒนาจังหวัด จะมีส่วนเกื้อหนุนกันและกัน ตรงนี้จะตอบโจทย์ได้ว่าเมื่อได้ที่ดินไปแล้วชาวบ้านจะไม่ทิ้งที่ดินทำกินก็ต่อเมื่อที่ดินทำกินตรงนั้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเขา ถ้ารัฐบาลทอดทิ้งชาวบ้านตามยถากรรมเหมือนกับที่ให้เอกสารสิทธิ์ สปก. วันหนึ่งที่ดินก็หลุดมือ ป่าก็หมด
พื้นที่ที่ได้โฉนดชุมชนไปแล้วมีความก้าวหน้าในการจัดการที่ดิน ที่วางเอาไว้คือโฉนดชุมชนควรเป็นแค่วิธีการ แต่เป้าหมายจริงๆคือการรวมตัวกันของชุมชนในการจัดการพื้นที่ของตัวเอง ทั้ง 2 แห่ง ได้ผลลัพธ์ที่ลงตัวในการรวมตัวของชุมชนจัดการพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งหลักการนี้เมืองไทยไม่เคยปรากฏมาก่อน.