2 ปี ภาษีมรดก รัฐจัดเก็บได้ไม่ถึง 300 ล้านบาท
ก.คลัง รายงานผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ในส่วนที่กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีตัวใหม่ ภาษีการรับมรดก ปี 2560 จัดเก็บได้ 65 ล้านบาท -ปี 2561 จัดเก็บได้ 219 ล้านบาท
หลังจาก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้การรับมรดกที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ผู้รับจะต้องเสียภาษีมรดก ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2559 ไปแล้ว นั้น
สำนักข่าวอิศรา พบว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้รายงานผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลรายปี ในส่วนที่กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีตัวใหม่ โดยเฉพาะภาษีการรับมรดก (ภาษีทางตรง) นั้น ปี 2560 จัดเก็บได้ 65 ล้านบาท และปี 2561 จัดเก็บได้ 219 ล้านบาท รวม 2 ปี จัดเก็บภาษีมรดกได้ 284 ล้านบาท
ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีทางอ้อม) ยังคงเป็นภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บได้มากสุด ตัวเลข 5 ปี ย้อนหลัง (2557-2561) จัดเก็บภาษีได้ไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท ปีล่าสุด 2561 จัดเก็บได้ถึง 7.9 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ภาษีการรับมรดกจะเป็นภาษีที่ดี เพราะเก็บบนความสามารถของคนจ่าย มีมรดกมากจ่ายมาก มีมรดกน้อยจ่ายน้อย แต่ที่ผ่านมา ภาษีการรับมรดกได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเก็บภาษีได้น้อย ซึ่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ผ่านร่างกม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ มีผลบังคับใช้ปี 2563 ซึ่งจะเป็นภาษีตัวใหม่ที่เก็บบนฐานทรัพย์สิน ก็ถูกวิจารณ์เช่นเดียวกันว่า รัฐจะเก็บภาษีได้น้อยไม่ต่างจากภาษีมรดก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โปรดเกล้าฯ กม.ภาษีมรดก ให้เสียภาษีเฉพาะส่วนเกิน 100 ล้านบาท