พระมหากษัตริย์สยาม-ไทย กับ โลกกว้าง
มีข้อสรุปที่ผมอยากเสนอ สำคัญ คือพระมหากษัตริย์สยาม-ไทยเรานั้น ท่านไม่เคยล้าหลัง หรือ ไม่ทันโลก ตรงข้ามทรงทันสมัย ทันโลก และทันมานานแล้ว ทันมาตั้งแต่โลกเมื่อหกร้อยปีมาแล้ว
เรามักจะเข้าใจว่า สยามหรือไทยนั้นเพิ่งจะมารู้จักโลก เริ่มทันสมัย เริ่ม อารยะ เริ่มก้าวหน้า ไม่นานนี้เอง ที่สำคัญก็เมื่อฝรั่งมาบีบบังคับเราให้ปรับตัวตั้งแต่สมัย ร.4 - ร. 5 เท่านั้นเอง
การคิดเช่นนี้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก
สยามนั้นเริ่ม ”ทันโลก” แม้จะไม่ใช่ “นำโลก” ตั้งแต่ 600 ปีมาแล้วก็ว่าได้ ด้วยเหตุที่เมืองหลวงของเรานั้นอยู่ที่อยุธยาใกล้ทะเล เกือบติดทะเล พระมหากษัตริย์สยามกว่าสามสิบพระองค์ทรงยืนหยัดว่าราชการอยู่ที่นี่ถึง 417 ปี ครั้นเมื่อเราเสียกรุงให้พม่า อยุธยาล่มลงแล้ว พระมหากษัตริย์ต่อๆ มาแทนที่จะทรงย้ายราชธานีขึ้นสู่บกให้มากขึ้นกลับทรงย้ายให้มาอยู่ใกล้ทะเลขึ้นอีก ที่กรุงธนฯและกรุงเทพ ฯ
อยุธยาไม่เป็นเพียงเมืองหลวงของสยาม แต่ยังเป็นเมืองท่านานาชาติเชื่อมโยงการค้าในอ่าวไทย ขยายการค้าไปสู่จีน ญี่ปุ่น ริวกิว ในทางตะวันออก และไปสู่อินเดีย เปอร์เชีย ออตโตมาน (ตุรกี) ในทางทิศตะวันตก ที่ต้องทราบกันคืออยุธยา-กรุงธนฯ-กรุงเทพฯ นั้น ไม่เพียงอยู่ “ติดทะเล” แต่ยัง “กุม” ได้ทั้งสองทะเลคือ อ่าวไทย และอันดามัน แห่งสองมหาสมุทร คือ ปาซิฟิก และก็ในยุคอยุธยานั้น อินเดีย และจีน ยังเป็นชาติที่ร่ำรวยรุ่งเรืองที่สุดในโลกด้วย
พระมหากษัตริย์ของเรามิใช่ทรงเป็นเพียงนักปกครองและนักรบ แน่นอนเราทราบกันดีว่า ทรงนำทัพทรงออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับขุนศึกและไพร่ราบ แต่ที่เราไม่ตระหนัก คือแทบทุกพระองค์ทรงมีสายตาระดับโลก ค้าขายระหว่างประเทศ ระหว่างทวีป เป็นราชันย์ที่เป็นผู้ประกอบการใหญ่ด้วย มีกองเรือเดินทะเลที่ใหญ่ยิ่งกว่าใครในแผ่นดิน ทรงสนิทสนมคุ้นเคยและแลกเปลี่ยนข่าวสารกับพ่อค้าวานิชต่างชาติ ทรงมี “เจ้ากรมท่า” ที่มักเป็นจีนกับเปอร์เซียผู้ดูแลเรือเดินทะเลและดูแลการค้าให้
กล่าวอีกนัยหนึ่ง พระมหากษัตริย์ของสยาม มิใช่เจ้านาย”ศักดินา” แบบฝรั่ง ในระบอบที่เรียกกันว่า feudalism คือสะสมทุนและสะสมโภคทรัพย์จากแรงงานไพร่ทาสและสามัญชนแห่งภาคเกษตรเท่านั้น ก็ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์สยามจึงไม่ทรงเป็น”อุปสรรค”ต่อการพัฒนาทุนนิยมสมัยใหม่
พระมหากษัตริย์โบราณที่ทรงรอบรู้โลกมาก มากกว่าที่คนปัจจุบันจะนึกขึ้นได้ คือ พระนารายณ์ ผู้ทรง”อ่าน” การเมือง ”ยุโรป” ได้ทะลุปรุโปร่ง ทรงตระหนักว่าในเวลานั้น ชาติที่สยามเราต้องใกล้ชิดมากที่สุด คือ ฝรั่งเศส เพราะเข้มแข็งรุ่งเรืองที่สุด มิใช่โปรตุเกส มิใช่สเปน สองมิตรเก่าแก่ มิใช่อังกฤษ ซึ่งผงาดขึ้นมาเช่นกัน ซึ่งก็ถูกต้องที่สุด ทรงโปรดเกล้าฯให้ท่านโกษาปานไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งคนไทยชั้นนี้ควรทราบ แทบไม่มีจักรพรรดิและกษัตริย์อื่นใดของเอเชียทรงทำเช่นนั้น
ยิ่งกว่านั้น พระนารายณ์ยังทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ถึงขั้นที่ทรงคิดจะขุดคอคอดกระเสียด้วยซ้ำ ทรงดำริขึ้นมาเมื่อสามร้อยกว่าปีมาแล้ว ถามว่า ใครกันแน่ที่ “ทันโลก” กว่า: -เราคนไทยในทุกวันนี้ ? หรือ พระมหากษัตริย์และคนไทย เมื่อ หลายร้อยปีที่แล้ว ?
ไม่เพียงสมเด็จพระนารายณ์เท่านั้นที่ทรงมีพระปรีชาญาณในการต่างประเทศ ก่อนหน้านั้นอีก สมเด็จพระนเรศวร ก็ทรงเป็นผู้นำที่ ”ทันโลก” มากกว่าที่เราในปัจจุบันคิด เรารู้กันดีว่าทรงกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ชนช้างเอาชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่า แต่ที่เราไม่ค่อยรู้คือท่านทรงสันทัดการใช้ปืนด้วย ทรงใช้ทหารฝรั่ง ทหารญี่ปุ่นที่ชำนาญปืน ทรงยิงปืนแม่นยำข้ามแม่น้ำสะโตงสังหารแม่ทัพพม่าตามที่เล่ากันมา และโปรดทราบกัน กองทัพสยามนั้นใช้ปืนและปืนใหญ่มานานมาก ตั้งแต่ปืนฝรั่งยังไม่เข้ามา
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมไทยเราไม่เรียกปืนว่า “กัน “ (gun) แบบชาวอังกฤษ หรือ ไม่เรียกปืนใหญ่ว่า “แคนนอน” (cannon) เราเรียกมันว่า “ปืน ปืนใหญ่” ซึ่งสองคำนี้ก็เป็นภาษาไทยมาแต่โบราณ และไทยทุกภาคก็ล้วนใช้สองคำนี้
เช่นเดียวกับที่พระนารายณ์ เมื่อกว่าสามร้อยปีที่แล้วทรงเข้าใจการเมืองยุโรปอย่างแตกฉาน พระนเรศวร เมื่อกว่าสี่ร้อยปีที่แล้วก็ทรงทราบว่า ในเอเชียตะวันออกในขณะนั้น จีนขัดแย้งกับญี่ปุ่นในกรณีเกาหลี และญี่ปุ่นกำลังรุกรานเกาหลีอยู่ พระเจ้าเหนือหัวของสยามจึงทรงเสนอว่าจะส่งกองทัพ พร้อมช้างศึกจากอยุธยาไปช่วยจีนตีญี่ปุ่น ไม่น่าเชื่อ แม้ว่าในที่สุดการไม่ได้เป็นไปตามพระราชดำริ แต่พระปรีชาญาณรอบรู้ช่างน่าพิศวง เป็นไปได้ไหมว่าทรงตระหนักถึงว่าดุลอำนาจในเอเชียตะวันออกกำลังกระทบกระเทือนจากการตีเกาหลีของญี่ปุ่น เรานั้นมักไม่คิดว่าพระมหากษัตริย์ในอดีตจะรอบรู้เรื่องราวของมหาอำนาจและของโลกกว้างได้มากขนาดนี้
แต่สิ่งเหล่านี้ปรากฏชัดในบันทึกของจีนและเกาหลี ความจริงที่ผมเล่ามานี้น่าจะทำให้เราท่านต้องทบทวนความคิดใหม่ มีข้อสรุปที่ผมอยากเสนอ สำคัญ คือพระมหากษัตริย์สยาม-ไทยเรานั้น ท่านไม่เคยล้าหลัง หรือ ไม่ทันโลก ตรงข้ามทรงทันสมัย ทันโลก และทันมานานแล้ว ทันมาตั้งแต่โลกเมื่อหกร้อยปีมาแล้ว