ดูชัดๆ คำสั่งอายัด อาคารมหารัตนวิหารคด มูลนิธิธรรมกาย 778.4 ล.
ดูชัดๆ รายละเอียด คำสั่ง ปปง. อายัด อาคารมหารัตนวิหารคด มูลนิธิธรรมกาย 778.4 ล. ตั้งบนโฉนดที่ดิน 4 แปลง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โยงคดี‘ศุภชัย- ธัมมชโย’ กับพวก ฟอกเงิน ฉ้อโกง 1.4 พันล.
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อ 8 ต.ค.2561 คณะกรรมการธุรกรรม ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่ง ที่ ย.206/2561 อายัด อาคารมหารัตนวิหารคด ตั้งอยู่บนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 186,187,188 และ 189 เลขที่ดิน 7,8,9 และ 10 ตำบลคลองซอยที่ 2 ฝั่งตะวันออก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน มูลนิธิธรรมกาย มูลค่า 778,400,000 บาท หลังสอบสวนเส้นทางการเงินพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และวัดธรรมกาย ได้รับไปจากการกระทำความผิด ผ่านเช็คจำนวน 27 ฉบับ รวมวงเงิน 1,458 ล้านบาท ( อ่านประกอบ:ถึงคิว ตึกมหารัตนวิหารคด778ล้าน! ปปง.สั่งอายัดธรรมกายเพิ่มเอี่ยวเส้นทางเช็คศุภชัย1.4พันล.)
มาดูรายละเอียดความเป็นมาของคดีนี้กัน
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามหนังสือที่ ยธ 0805/1863 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2561 เรื่อง ขอส่งเรื่อง เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทํา ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดําเนินการสืบสวน สอบสวนคดีพิเศษที่ 27/2559 โดยผลการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่าวัดพระธรรมกายได้รับเงินตามเช็ค สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จํากัด นําเข้าบัญชีเงินธนาคารของวัดพระธรรมกาย เป็นเงินรวม 778,400,000 บาท และจากการขยายผลการตรวจสอบวิเคราะห์เส้นทางการเงินยังพบว่าวัดพระธรรมกายได้นําเงินดังกล่าวไปใช้ ในการก่อสร้างโครงการมหารัตนวิหารคด โดยในสํานวนคดีพิเศษที่ 27/2559 มีการดําเนินคดีกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้ต้องหาที่ 1 พระเทพญาณมหามุนี หรือพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ในขณะนั้น) หรือพระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 2 นางสาวศรัณยา มานหมัด ผู้ต้องหาที่ 3 นางทองพิน กันล้อม ผู้ต้องหาที่ 4 และนางสาวศศิธร โชคประสิทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 5 ซึ่งได้นําเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จํากัด ไปโอนมอบให้บุคคลอื่นอีกหลายราย เป็นจํานวนหลายครั้ง โดยมีลักษณะของการโอนเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด หลายวิธีการเพื่อซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือปกปิดอําพรางการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดเหล่านั้นในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร พฤติกรรม ของผู้ต้องหา กล่าวคือ
ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ ระหว่างปี พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2555 นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ได้เขียนเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จํากัด จํานวน 27 ฉบับ จํานวนเงิน 1,458,560,000 บาท สั่งจ่ายเงินให้กับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ในขณะนั้น) หรือพระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย และนางสาวศศิธร โชคประสิทธิ์ โดยมีเจตนาทุจริตการกระทําเข้าข่ายความผิด ฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร อันเป็นความผิดมูลฐานตาม มาตรา 3 (3) มาตรา 5 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ที่ประชุม มีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ม.255/2559 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2559 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิด รายนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก (กรณีนําเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จํากัด ไปมอบให้บุคคลอื่นหลายรายเป็นจํานวนหลายครั้ง) และคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ที่ ม.302/2561 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด (เพิ่มเติม) รายคดี นายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก (กรณี วัดพระธรรมกายรับเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จํากัด เกี่ยวกับโครงการอาคารมหารัตนวิหารคด) พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคล ดังกล่าวแล้ว
ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก (กรณีวัดพระธรรมกายรับเงินจาก สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จํากัด เกี่ยวกับโครงการอาคารมหารัตนวิหารคด) มีพฤติการณ์กระทําความผิด เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทํา ความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการ กระทําความผิด
รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการ กระทําความผิด จํานวน 1 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้ เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคาร ตามโครงการอาคารมหารัตนวิหารคด อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทาง ทะเบียนในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง อาจดําเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้ หากมิได้มี การออกคําสั่งให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สิน ดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่ง ให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 17/2561 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 1 รายการ พร้อมดอกผล คือ อาคาร ตามโครงการอาคารมหารัตนวิหารคด ตั้งอยู่บนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 186 ,187, 188 และ 189 เลขที่ดิน 7, 8, 9 และ 10 ตําบลคลองซอยที่ 2 ฝั่งตะวันออก อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน มูลนิธิธรรมกาย ในมูลค่าประมาณ 778,400,000 บาท (เจ็ดร้อยเจ็ดสิบแปดล้าน สี่แสนบาทถ้วน) มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2561 ถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2561
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าวประสงค์ จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกอายัดดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคําสั่งนี้
อนึ่ง การยักย้าย ทําให้เสียหาย ทําลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้สูญหายหรือทําให้ใช้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน อาจมีความผิดทางอาญา และต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
สั่ง ณ วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
แกะรอย‘ธัมมชโย’หนีข้ามโลก!เปิดภาพสาขาวัดพระธรรมกาย11ปท. ก่อนดีเอสไอปูดซุกตัวยุโรป?
เปิดครบพฤติการณ์ฟอกเงิน'ศุภชัย-อนันต์-ธัมมชโย'! ปปง.โชว์หมดคำสั่งอายัดที่ดินฉบับเต็ม
ย้อนวิบากกรรม‘ธัมมชโย’ก่อนถูกถอดสมณศักดิ์-จับตาธรรมกายแก้เกมดีเอสไอ?
INFO: 13 คดียักยอก-ฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่นฯในมือดีเอสไอ-เบ็ดเสร็จ 2 หมื่นล.