3 ชั่วโมง สนช.เลื่อนลงมติวาระ 2-3 ร่างกม.ภาษีที่ดินฯ ไปวันที่ 16 พ.ย.เวลา 10 โมงเช้า
ผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง ที่ประชุม สนช. เลื่อนการลงมติ 2 - 3 ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ไปเป็นวันที่ 16 พฤศจิกายน ช่วง 10:00 น.
วันที่ 15 พฤศจิกายน เวลา 14.43 น. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการประชุมวาระเร่งด่วน ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... กล่าวถึงร่างกฎหมายนี้ มีทั้งหมด 89 มาตรา คณะกมธ.วิสามัญฯ แก้ไข 37 มาตรา และมีมาตราเพิ่มเติม 9 มาตรา
สาระสำคัญของร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า กฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ บังคับใช้มาเป็นเวลานาน ไม่เหมาะกับสถานการณ์ รัฐบาลชุดนี้พยายามปฏิรูประบบภาษีให้เป็นสากล จึงรวบรวมข้อด้อย และปรับปรุงให้การจัดเก็บภาษีโปร่งใส สะดวก และเป็นธรรม เป็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทรัพย์สินให้ทันสมัย
"วันนี้ภาษี 100 ส่วน 60% เป็นภาษีทางอ้อม 40% ภาษีทางตรง และเป็นภาษีทรัพย์สินแค่ 1.25% กฎหมายภาษีที่ดินฯ วัตถุประสงค์หลักต้องการให้เป็นรายได้ให้กับท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งและโปร่งใสในการบริหารการคลังของท้องถิ่น และเพื่อให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอเพื่อพัฒนาพื้นที่ในระยะยาว"
นายวิสุทธิ์ กล่าวถึงอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ กมธ.พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบจากหลายประเทศ ลงพื้นที่ 4 ภาค รับฟังความคิดเห็นจาก 16 องค์กร ปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย จึงมีการปรับลดเพดานภาษีจากร่างเดิม 40% เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถ ความเต็มใจของพี่น้องประชาชน เช่น ที่ดินเกษตรของบุคคลธรรมดามูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น (3 ปีแรกไม่เก็บ) ที่ดินเกษตรนิติบุคคลเสียตั้งแต่บาทแรก ปีแรก
"ที่อยู่อาศัยบ้านหลักแรก และหลังรอง เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีชื่ออยู่ในทะเบียนได้รับการยกเว้น 50 ล้านบาท หากเป็นบ้านเช่าเขาอยู่ ได้รับสิทธิยกเว้น 10 ล้านบาท คาดว่าฐานภาษีตรงนี้จะไม่มี แต่ต้องเขียนไว้ในกฎหมาย"
นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนบ้านหลังรอง เก็บตั้งแต่บาทแรก หรือล้านละ 200 บาท หากมีบ้านราคา 10 ล้านบาทก็เสีย 2 พันบาทต่อปี เราไม่หวังผลในระยะแรก แต่อยากให้มาอยู่ในระบบ และระยะยาวลดภาระรัฐบาล เชื่อว่า กฎหมายภาษีที่ดินฯ ส่งผลกระทบไม่มากเพราะมีการผ่อนปรนมาก ยกเว้นตาม (มาตรา 8) ลดหย่อนในกลุ่มพาณิชยกรรม โรงเรียนเอกชน (มาตรา 51) เป็นต้น
นายวิสุทธิ์ กล่าวถึงผลกระทบในภาคเกษตร สำหรับเกษตรกรรายย่อย 3 ปีแรกไม่เสียภาษี ที่ดิน เกษตรที่เป็นนิติบุคคลจัดเก็บบาทแรกปีแรก เชื่อระยะยาวจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการดูแลกลุ่ม SMEs ที่บอกว่า บางแห่งได้รับผลกระทบเชื่อว่า เสียภาษีเท่าเดิม หรือน้อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ ส่วนตึกแถวในย่านที่เจริญ เราเก็บตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์
"รายได้จากท้องถิ่นทุกวันนี้ประมาณปีละ 7.5 แสนล้านบาท เป็นรายได้ที่ท้องถิ่นเก็บเองได้ 14.5% ที่เหลือเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และรัฐบาลจัดเก็บให้ เรามองระยะยาว ระบบภาษีไม่ถูกบิดเบี้ยวและบิดเบือนไป"นายวิสุทธิ์ กล่าว และเน้นย้ำว่า อัตราเพดานมาตรา 34 เป็นอัตราที่เผื่อไว้วันข้างหน้า อัตราเก็บจริงอยู่มาตรา 90
จากนั้นที่ประชุมสนช.มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมาตรา 34 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างให้จัดเก็บภาษีตามอัตราเพดาน มีการแปรญัญติ โดยนายวรพล โสคติยานุรักษ์ ตั้งคำถามถึงการปรับลดเพดานภาษี มาตรา 34 (1) (2) และ (3)
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ กล่าวถึง มาตรา 34 (1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม อนาคตอยากให้มีการเก็บภาษีแบบขั้นบันได เพื่อให้คนมีมากจ่ายสูงขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ด้านนายเจน นำชัยศิริ สมาชิกสนช.กล่าวแสดงความเป็นห่วงภาระภาษี ที่จะกระทบต่อ SMEs และโครงสร้างคณะกรรมการน่าจะมีการปรับปรุง รวมถึงอัตราเพดานภาษี มาตรา 34 (3)น่ามีการปรับปรุงได้เชื่อว่าจะได้รับการยอมรับมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง ที่ประชุม สนช. เลื่อนการลงมติวาระ 2-3 ไปวันที่ 16 พฤศจิกายน ช่วง 10:00 น.