อานันท์ ปันยารชุน:คุณค่าสื่อสาธารณะในศตวรรษที่ 21
"...สิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนสื่อสาธารณะไม่ใช่กำไร ไม่ใช่หน้าที่ต้องรับใช้รัฐ รับใช้กลุ่มพรรคการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นบริการเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างแท้จริง ดังนั้น เสรีภาพและการปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองจึงเป็นเงื่อนไขในการทำให้สื่อสาธารณะปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ..."
วันที่ 15 พ.ย. 2561 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดงาน Thai PBS Media Conference and Mini-INPUT2018 โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถา เรื่อง คุณค่าของสื่อสาธารณะในศตวรรษที่ 21 ณ สำนักงานใหญ่ไทยพีบีเอส คอนเวนชั่น ฮอลล์ อาคารดี กรุงเทพฯ
นายอานันท์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ก่อตั้งสื่อสาธารณะ หลังจากการปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2535 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งในวิกฤติครั้งนั้นคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะถูกปิดกั้น ไม่มีการรับรู้ข้อมูลหรือความเป็นไป เราไม่รู้ด้วยว่าเกิดความเสียหายมากมายขนาดไหนต่อประเทศ เพราะสาธารณชนไทยไม่สามารถเข้าถึงสื่อ
ขณะที่ข้อมูลจากสื่อที่ปลอดจากการแทรกแซงของรัฐในยุคนั้น ผมเป็นหนึ่งในอภิสิทธิ์ชนที่สามารถเข้าดูและบริโภคข่าวผ่านดาวเทียมและทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หนักหนาสาหัสขนาดไหนสำหรับประเทศชาติ และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อประเทศชาตินั่นคืออะไร รวมถึงการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการได้เรียนรู้ข่าวสารความเป็นไปของบ้านเมืองจากบีบีซีและซีเอ็นเอ็น ดังนั้น เมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สองหลังจากเหตุการณ์พฤกษภาทมิฬ จึงตั้งใจไว้เลยว่า จะวางรากฐานสำหรับการก่อตั้งสื่อสาธารณะขึ้นมาในประเทศไทย เพื่อสร้างหลักประกันว่าพลเมืองไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีสถานภาพทางสังคม รายได้ความรู้ ขนาดไหน จะสามารถเข้าถึงข่าวและข้อมูลที่เป็นกลาง
ด้วยวิสัยทัศน์ของเราในขณะนั้น คือ ส่งเสริมบทบาทของสื่อสาธารณะในฐานะที่เป็นเสียงของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในการสร้างก่อกระแสความเห็นสาธารณะเพื่อสร้างสังคม เราต้องการมีสื่อให้ความรู้ ให้การศึกษา และมีส่วนร่วมในการพูดคุยสาธารณะในประเด็นที่เป็นประโยชน์สำหรับพลเมืองทุกคน รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล
เราจึงหาโมเดล ซึ่งไม่เหมือนกับสื่อเชิงพาณิชย์ และสื่อที่รัฐครอบงำ เพื่อให้บรรลุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ ได้รับข้อมูลที่ปลอดจากอคติ และมีบริการที่หลากหลาย มีอิสรภาพ และเสรีภาพในการทำงาน โดยเชื่อว่าหลักการและค่านิยมที่เรารณรงค์และผลักดันในตอนนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ในภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน
ขณะที่ความเป็นสากล ความหลากหลาย ความเป็นเสรี เราต้องตระหนักเช่นกันว่า ธรรมชาติและหน้าที่ของสื่อทุกวันนี้เปลี่ยนผันไปอย่างมาก สืบเนื่องมาจากผลของเทคโนโลยี
@สื่อดั้งเดิมไม่ใช่คนเฝ้าประตูข่าวอีกต่อไป
ถามว่าในยุคดิจิทัลปัจจุบันนี้ประเด็นท้าทายมีอะไรบ้าง
นายอานันท์ ขยายความสื่อดั้งเดิมไม่ได้เป็นคนเฝ้าประตูสำหรับข่าวสารแบบเดิมอีกต่อไป อันที่จริงถ้าจะฟันธงกันตรง ๆ ประชาชนไม่มีศรัทธาอีกต่อไปแล้วในยุคนี้ ยุคของความไม่ซื่อสัตย์ ยุคของการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ยุคของข่าวลวงข่าวเท็จ ยุคของการโกหก และภาวะเสื่อมศรัทธาในมุมประชาชนนี้ไม่ใช่เฉพาะพูดถึงโซเซียลมีเดียเท่านั้น แต่กลายเป็นประเด็นท้าทายเป็นจริงสำหรับสื่อดั้งเดิมด้วยเช่นกัน
อินเทอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งข่าวของประชาชนส่วนใหญ่ และปัจจุบันวัฒนธรรมของสื่อเปลี่ยนไป ในอดีตเป็นโมเดลแบบลำดับชั้น กลายเป็นโมเดลที่ผู้ใช้เป็นผู้สร้างวิธีการบริโภคข้อมูลข่าวสารใหม่ คือ ข้อมูลข่าวสารมีอยู่ตลอด 24 ชม. ขณะเดียวกันมีด้านมืดเช่นกัน
ด้านมืดซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่พวกเรายังไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือจัดการกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพหรืออย่างครอบคลุม มีทั้งเรื่องโฆษณาชวนเชื่อ ปลอมมาในคราบของข่าว เผยแพร่อย่างร้ายกาจ กว้างขวาง รวดเร็ว
ประเด็นข้อกังวล
"ผมคุยกับเพื่อนชาวตะวันตกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นที่ผมกังวลอย่างยิ่งว่า ในขณะที่เราเห็นคุณค่าของค่านิยมและหลักการประชาธิปไตย ในขณะที่เราให้ความสำคัญต่อรากฐานของความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เรื่องความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อประชาชน การมีส่วนร่วมของทุกคนอย่างถ้วนหน้า หลักการที่ฟังดูดีนี้ หลายปีที่ผ่านมา ผมมีความรู้สึกว่าเรากำลังเคลื่อนตัวไปอาจโดยไม่ตั้งใจ โง่เขลา หรือไม่รู้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะในประเทศที่ประชาธิปไตยเชื่อกันว่ามีรากฐานแข็งแกร่ง คือ ความพยายามที่จะบั่นทอนเส้นใยหรือสายใยที่ประกอบกันเป็นประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล เราเห็นประชาชนในหลายประเทศที่เสื่อมศรัทธาหรือศรัทธาล่มสลายแล้วโดยสิ้นเชิงต่อระบอบประชาธิปไตย
เสื่อมศรัทธา ไม่มีศรัทธาในรัฐบาล เสื่อมศรัทธาในกลไกสถาบันการเมือง แน่นอน ความเสื่อมศรัทธานี้มีที่มาที่ไป อธิบายได้ แต่กังวลว่า ถ้าภาวะความเสื่อมศรัทธาไปไกลกว่านั้น จนกู่ไม่กลับ เเละมีคนจำนวนมากขึ้นทุกที คิดว่า สิ่งที่เคยดำรงอยู่ในปัจจุบัน เราต้องไปทำลาย และต้องถอนรากถอนโคนออกไป แน่นอนตัวที่เป็นพาหะนำพาภาวะนั้นคือสื่อมวลชน"
@หวั่นเสรีภาพไร้ขีดจำกัด เสี่ยงเป็นภัยคุกคามบั่นทอน ปชต.
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า พวกเราต่างเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่คิดว่า เราต้องมีความกังวลและห่วงใยในบางวาระด้วยเช่นกันว่า ถ้าไม่มีขีดจำกัดเลยในเสรีภาพนั้น มันสามารถเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อหลักการที่พวกเราพยายามดำรงรักษาไว้
สิ่งที่เรียกว่าข่าวลวงข่าวเท็จทั้งหลายทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ แต่เป็นส่วนหนึ่งของแผนในภาพใหญ่ ที่ไม่ได้เพื่อบิดเบือนความจริงเท่านั้น แต่ไปไกลกว่านั้น ต้องการบั่นทอนระบบการเลือกตั้ง บั่นทอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล
ในท้ายที่สุดแล้ว บั่นทอนคุณค่าที่เป็นคุณค่าหลักของประชาธิปไตยและคุณค่าหลักของสังคม เมื่อสังคมเสื่อมศรัทธาในความจริง และเมื่อสังคมหยุดแสวงหาความจริง และขณะที่สังคมคิดว่าค่านิยมเช่นความเป็นจริง ความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นกลาง ความรู้จักเกรงอกเกรงใจกัน ไม่มีค่าอีกต่อไปแล้ว
"ผมมองว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ และผมหวังว่าท่านจะไม่คิดว่าผมมองโลกในแง่ร้าย แต่นี่คือความจริง และผมไม่สามารถปล่อยไปโดยไม่แสดงความคิดเห็นของผมต่อประเด็นนี้ได้ และโดยที่ผมจะไม่แสดงความห่วงใยต่อภาวการณ์ที่ผมเห็นอย่างนี้ได้"
@"สื่อสาธารณะ" มาตรฐานสูงสุดในการทำหน้าที่สื่อ ปชต.
ถามว่า "สื่อสาธารณะ" มีที่ทางอยู่ตรงไหน ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง
นายอานันท์ เชื่อว่า สื่อสาธารณะยังมีอนาคตที่สดใส ที่ทางของสื่อสาธารณะเป็นที่รับรองแล้วว่าเป็มาตรฐานที่สูงสุดสำหรับการทำหน้าที่สื่อสำหรับประชาธิปไตย และยังสามารถนำมาซึ่งระดับความไว้วางใจ สื่อสาธารณะจะต้องแยกแยกบทบาทของตนเองออกจากสื่อพาณิชย์ ซึ่งการแยกแยะนั้นมากับคุณภาพและลักษณะของเนื้อหา ประชาชนสามารถมองออกว่า แตกต่าง และเห็นคุณค่า เทคโนโลยีและภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปนี้เปิดโอกาสสำหรับสื่อสาธารณะเช่นเดียวกัน
ในยุคดิจิทัล อดีตนายกรัฐมนตรี มองด้วยว่า แหล่งข้อมูลมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ละคนสามารถหาอะไรเข้ากับตนเองได้ ทำให้ผู้ฟังและผู้เสพแตกกระจายตัวเป็นกลุ่มมากมาย นำไปสู่การแตกแยกในสังคม ดังนั้นสื่อสาธารณะจึงสามารถปฏิบัติหน้าที่เหมือนเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงให้ข้อมูลที่เป็นกลาง เสรี รวมทั้งมุมมองแตกต่างเพื่อประชาชนจะสามารถคิด ซึ่งบริการลักษณะนี้เชื่อว่าช่วยเพิ่มคุณค่าให้ประชาธิปไตย
"สิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนสื่อสาธารณะไม่ใช่กำไร ไม่ใช่หน้าที่ต้องรับใช้รัฐ รับใช้กลุ่มพรรคการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นบริการเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างแท้จริง ดังนั้น เสรีภาพและการปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองจึงเป็นเงื่อนไขในการทำให้สื่อสาธารณะปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ" อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่สุด .