เปิดข้อบังคับวิทยาลัยแพทย์BritishColumbia กับความเสี่ยงของแพทย์ใช้กัญชารักษาโรค-คนไข้
"...การใช้กัญชาเพื่อการรักษา ผู้ที่เป็นแพทย์จะต้องคำนึงถึงจำนวนส่วนผสมที่จะใช้ในกัญชาเป็นสำคัญ และจะต้องคำนึงว่าที่มาและการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวกัญชาที่จะใช้นั้นเป็นอย่างไร แพทย์ผู้ทำการรักษาจะต้องคำนึงว่าไม่ควรที่จะสั่งจ่ายกัญชาให้กับคนไข้ โดยที่ไม่รู้ในด้านปัจจัยความเสี่ยง ประโยชน์ และภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา หากต้องใช้กัญชาเพื่อการรักษา เพราะมีความเสี่ยงว่าแพทย์เองก็อาจจะตกเป็นจำเลยหรือถูกครหาได้ ถ้าหากพบว่าการสั่งจ่ายกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาคนไข้ ส่งผลกระทบในแง่ลบตามมาในอนาคต..."
กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชน! สำหรับข่าวการใช้กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ในประเทศไทย
เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ตราเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ในรายละเอียดในส่วนของยาเสพติดประเภทที่ 5 (กัญชา กระท่อม) อันเนื่องมาจากบทบัญญัติบางประการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะกัญชานั้นปรากฏผลวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ หลายประเทศทั่วโลกได้มีการผ่อนปรนโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย อนุญาตให้ประชาชนใช้พืช กระท่อมและกัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อการนันทนาการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่สําหรับประเทศไทย ปัจจุบันพืชกระท่อมและกัญชายังคงเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีการกําหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครอง ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริงพบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค มานานหลายปีแล้ว ทั้งผลิตใช้เองและมีผู้ผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นผลให้มีราคาแพงและอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์และตํารับยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติด ให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนํากัญชาและพืชกระท่อมไปทําการศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนําไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุม ของแพทย์ได้ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ (อ่านประกอบ : ครม.ปลดล็อค กัญชาเพื่อการแพทย์แล้ว คาด กม.ใหม่มีผลบังคับใช้ไม่เกินสิ้นปี)
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนคนไทย มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลการใช้ยาเสพติดประเภทที่ 5 เพื่อประโยชน์การแพทย์ในต่างประเทศ พบว่า ในเว็บไซต์วิทยาลัยการแพทย์และการศัลยกรรม บริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย ที่ได้ออกหลักการและคู่มือว่าด้วยการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค เพื่อบังคับใช้กับบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดของวิทยาลัย ทบทวนหลักการเดิมไปล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา
ระบุสาระสำคัญของหลักการว่าด้วยการใช้กัญชาที่สำคัญไว้หลายประการดังต่อไปนี้
การใช้กัญชาเพื่อการรักษา ผู้ที่เป็นแพทย์จะต้องคำนึงถึงจำนวนส่วนผสมที่จะใช้ในกัญชาเป็นสำคัญ และจะต้องคำนึงว่าที่มาและการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวกัญชาที่จะใช้นั้นเป็นอย่างไร แพทย์ผู้ทำการรักษาจะต้องคำนึงว่าไม่ควรที่จะสั่งจ่ายกัญชาให้กับคนไข้ โดยที่ไม่รู้ในด้านปัจจัยความเสี่ยง ประโยชน์ และภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา หากต้องใช้กัญชาเพื่อการรักษา เพราะมีความเสี่ยงว่าแพทย์เองก็อาจจะตกเป็นจำเลยหรือถูกครหาได้ ถ้าหากพบว่าการสั่งจ่ายกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาคนไข้ ส่งผลกระทบในแง่ลบตามมาในอนาคต
โดยการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์นั้น ไม่เหมาะกับคนไข้ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1.อายุต่ำกว่า 25 ปี
2.มีประวัติไม่ว่าจะเป็นทั้งส่วนตัวหรือมีเครือญาติว่าป่วยเป็นโรคทางจิต
3.มีประวัติว่าเคยมีอาการผิดปกติจากการใช้กัญชา
4.มีอาการผิดปกติจากการใช้สารกัญชา
5.มีประวัติว่ามีโรคความผิดปกติที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดส่วนปลาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
6. ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างภาวะให้นมบุตร
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจัยการห้ามใช้หรือการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค ก็จะต้องคำนึงถึงภาวะทางการรักษา ณ เวลานั้นเป็นสำคัญ ตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาที่อาจจะมีข้อยกเว้นได้ตามแต่กรณี
ทั้งนี้ในประเทศแคนาดา บุคคลที่ได้รับอนุญาตทางการแพทย์ให้เข้าถึงกัญชาเพื่อการรักษาโรค ด้วยใบอนุญาตที่ออกโดยแพทย์ จะสามารถเข้าถึงกัญชาได้จากการลงทะเบียนกับผู้ผลิตกัญชาที่ได้รับใบอนุญาตจากทางภาครัฐ,หรือไปลงทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขของแคนาดา เพื่อที่จะปลูกกัญชาในจำนวนที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการรักษาอาการป่วยของตัวเอง, หรืออาจจะมอบหมายให้บุคลลอื่นปลูกกัญชาให้เพื่อรักษาอาการของตัวเอง
โดยเอกสารทางการแพทย์เพื่อจะอนุญาตให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาเพื่อการรักษาได้นั้นจะประกอบไปด้วย
1.ข้อมูลของแพทย์ผู้ให้การรักษา ได้แก่ ชื่อและนามสกุล ที่อยู่ที่ทำงาน (คลินิกหรือโรงพยาบาล) เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลติดต่ออื่นๆ
2.ชื่อ นามสกุลคนไข้ และวันเดือนปีเกิด
3.สถานที่ที่คนไข้ได้ทำการรักษากับแพทย์
4.จำนวนประมาณกัญชาแห้งที่คนไข้ควรจะได้รับเพื่อจะใช้ในการรักษา เป็นจำนวนกี่กรัมต่อวัน โดยแพทย์จะเป็นผู้ที่กำหนดจำนวนกัญชาดังกล่าว
5.ช่วงเวลาที่จะใช้กัญชาเพื่อการรักษา โดยจะต้องไม่เกิน 1 ปี
ทั้งนี้ ทางวิทยาลัยขอแสดงจุดยืนว่าการใช้การออกเอกสารเพื่อให้คนไข้เข้าถึงกัญชานั้น ตัวเอกสารถือว่ามีความสำคัญเทียบเท่ากับใบสั่งยา โดยแพทย์จะต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มกับทั้งตัวคนไข้และตัวผู้ผลิตกัญชาเพื่อจะให้แพทย์ออกเอกสารเข้าถึงกัญชาดังกล่าว ยกเว้นแต่ว่าจะเป็นกรณีการประเมินตัวคนไข้ทั้งในด้านภาวะสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงในการออกใบสั่งกัญชาให้กับตัวคนไข้เอง ตามหลักการแพทย์ว่าด้วยการใช้กัญชา
ทั้งนี้ ถ้าหากแพทย์มีความเห็นว่าจะต้องใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค ปัจจัยขั้นพื้นฐานที่แพทย์ควรจะกระทำมีดังต่อไปนี้
1.ออกเอกสารที่ครอบคลุมในด้านการประเมินเงื่อนไขการใช้กัญชาที่เหมาสม รวมไปถึงประวัติทางการแพทย์ของตัวคนไข้ตามสมควร
2.ออกเอกสารรายงานผลการรักษาว่ามีการใช้การรักษาโรคด้วยวิธีมาตรฐานแล้วยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร จนเป็นเหตุทำให้มีการสั่งกัญชาเพื่อการรักษาโรคต่อไป
3.ต้องมีการประเมินคนไข้ถึงการเสพติดกัญชาหรือการเสพติดกัญชา โดยต้องมีการทำประวัติอย่างเคร่งครัด
4.ต้องมีการบันทึกว่าแพทย์ได้ย้ำเตือนให้คนไข้ได้ทราบแล้วถึงความเสี่ยงในการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค
5.จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลของคนไข้ผ่าน Pharmanet (ระบบฐานข้อมูลการรักษาโรคของแคนนาดา) อย่างเคร่งครัดก่อนจะมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค
6.ต้องมีการคัดลอกข้อมูลการอนุญาตการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคอย่างเคร่งครัด
7.จะต้องมีกระบวนการเพื่อเก็บข้อมูลการใช้กัญชาของคนไข้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันกรณีที่คนไข้นำกัญชาไปใช้ในทางที่ไม่ชอบนอกเหนือจากทางการแพทย์
8.ห้ามไม่ให้แพทย์ขายหรือจ่ายกัญชาให้กับคนไข้ด้วยตัวเอง
9.ห้ามไม่ให้ออกใบอนุญาตในการเข้าถึงกัญชาโดย
1.แพทย์ที่ไม่ได้มีประวัติว่าได้รักษาคนไข้ที่จะได้รับใบอนุญาตมาอย่างยาวนาน
หรือ 2. แพทย์ที่ไม่ได้ปรึกษากับแพทย์หรือพยาบาลคนอื่นๆที่รักษาคนไข้คนนั้นมาอย่างยาวนานจนกระทั่งมีความเห็นสอดคล้องกันว่าควรจะออกใบอนุญาตในการเข้าถึงกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาโรค
ทั้งนี้ แพทย์ที่ออกใบอนุญาตในการใช้กัญชาให้กับคนไข้จะต้องเป็นผู้ที่คอยกำกับดูแลอาการของคนไข้อย่างใกล้ชิดถ้าหากมีผลกระทบในแง่ลบต่างๆที่ขึ้นกับคนไข้อย่างใกล้ชิด โดยแพทย์จะต้องมีความเข้าใจในผลกระทบแง่ทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับคนไข้นั้นมีความเกี่ยวข้องและสอดคล้องกับการใช้กับการใช้กัญชาและภาวะสุขภาพของคนไข้อย่างไรบ้าง และหลังจากที่พ้นกรอบเวลา 1 ปี ที่กำหนดให้ใช้กัญชาเพื่อการ
รักษาโรคไปแล้ว แพทย์ผู้รักษาจะต้องประเมินผลกระทบการรักษาโดยใช้กัญชาที่มีต่อคนไข้ทุกๆ 3-6 เดือน (ที่มาบทความ:https://www.cpsbc.ca/files/pdf/PSG-Cannabis-for-Medical-Purposes.pdf)
คำถามที่น่าสนใจ ในขณะที่คนในสังคมไทย กำลังตื่นตัวตื่นเต้นกับข่าว ครม.ปลดล็อค กัญชาเพื่อใช้ประโยชน์การแพทย์ดังกล่าว
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักรู้ถึงเรื่องหลักการ กฎเกณฑ์ การใช้กัญชาเพื่อใช้ประโยชน์การแพทย์ที่ถูกต้อง และเร่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ให้คนในสังคมไทยรับรู้รับทราบมากน้อยเพียงใด?
ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่และมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากแบบนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
ครม.ปลดล็อค กัญชาเพื่อการแพทย์แล้ว คาด กม.ใหม่มีผลบังคับใช้ไม่เกินสิ้นปี
การปลดล็อคกัญชาเพื่อใช้ในการแพทย์: ผลกระทบที่เกิดในอเมริกา