ผิดหวังรัฐบาล หมดหวังสภา สิ้นหวังปัญหาใต้
ต้องขออภัยท่านผู้อ่านและแฟนๆ ข่าวภาคใต้ที่เว็บ "ศูนย์ข่าวอิศรา" อยู่ในภาวะนิ่งๆ ไป 1-2 วันช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผมเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประตูสู่ภาคใต้ และปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ตทั้ง 3 จี และ WIFI จนไม่สามารถทำงานได้ถนัดถนี่นัก
ผมไปพำนักที่ประจวบฯ 2-3 วันทำให้ทราบว่าพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนี้ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองมีปัญหาขาดแคลนน้ำประปาอย่างหนัก ถึงขั้นต้องจ่ายน้ำเป็นเวลา และเมื่อถึงเวลาจ่ายน้ำ ชาวบ้านร้านตลาดก็ต้องพากันจัดหาภาชนะเล็กใหญ่มารองน้ำเก็บเอาไว้...แทบไม่น่าเชื่อว่าชาวประจวบฯต้องทนอยู่ในสภาพเช่นนี้มานานกว่า 2 ปีแล้ว!
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนอกจากผู้ประกอบการร้านซักรีดและร้านทำผมซึ่งต้องใช้น้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ก็ยังมี "โรงเรียน" ที่เดือดร้อนค่อนข้างหนัก เพราะเด็กๆ ได้แต่เปิดก๊อกน้ำที่ไม่มีน้ำไหลออกมา ไม่เว้นแม้แต่เครื่องทำน้ำเย็นสำหรับดื่มดับร้อนก็มีเพียงคราบน้ำเป็นสัญลักษณ์ให้ได้ระลึกถึงว่าเคยมีน้ำใสไหลเย็นให้ได้ชุ่มคอชื่นใจเท่านั้น ขณะที่บางโรงเรียนต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมสำหรับซื้อหาภาชนะขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้นักเรียน
ส่วนบรรดาโรงแรมที่ต้องใช้น้ำปริมาณมากสำหรับบริการผู้เข้าพักนั้น ก็ต้องสั่งซื้อน้ำจากบริษัทเอกชน กลายเป็นการเพิ่มต้นทุนประกอบการให้มากขึ้นไปอีก และนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประจวบฯค่อนข้างร้างนักท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอ่าวประจวบฯ อ่าวมะนาว หรือแม้แต่ด่านชายแดนไทย-พม่าที่มีชื่อขลังๆ ว่า "ด่านสิงขร"
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประจวบฯขาดน้ำ ก็คือสถานการณ์ "ภัยแล้ง" ทั้งๆ ที่เป็นจังหวัดในโซนภาคใต้ และจังหวัดใกล้ๆ อย่างชุมพร ระนอง ก็กำลังประสบปัญหาอุทกภัย แต่สำหรับประจวบฯกลายเป็น "พื้นที่เงาฝน" มีแต่เมฆดำทะมึน แต่สายน้ำจากท้องฟ้ากลับไม่มี
เมื่อฝนไม่ตก อ่างเก็บน้ำรอบๆ ตัวจังหวัดก็ขาดน้ำ ปริมาณน้ำต่ำมากจนไม่สามารถผลิตประปาได้ สุดท้ายเมืองประจวบฯก็ไม่มีน้ำประปาใช้ ต้องจ่ายน้ำกันเป็นเวลาจนเป็นที่เอน็จอนาถดังที่ผมเล่าให้ฟัง
ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลถึงการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตประปาน่าจะเกินอำนาจและความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือแม้แต่การปกครองส่วนภูมิภาคที่จะบริหารจัดการได้ งบประมาณที่ทางจังหวัดรับผิดชอบสำหรับแก้ปัญหาภัยแล้งก็เบิกจ่ายไปจนหมดแล้ว น่าแปลกที่ผมไม่เคยได้ยินปัญหาลักษณะนี้ถูกหยิบไปพูดในสภาหรือศูนย์กลางการบริหารประเทศในส่วนกลางเลย โดยเฉพาะในช่วงหลายปีหลังมานี้
ยิ่งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาไทยใช้เวลาหมดไปกับการทะเลาะเบาะแว้งเรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และปัญหาการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ขณะที่วงประชุมของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลทุกพรรค หรือแม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้าน ก็พูดกันถึงเฉพาะ 2 ประเด็นนี้ หากลองอ่านดูเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของการผลักดันกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นผลประโยชน์ของบรรดานักการเมืองและผู้สนับสนุนทั้งสิ้น
แต่ปัญหาจริงๆ ของชาวบ้าน โดยเฉพาะความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน แทบไม่ได้รับการพูดถึง เสมือนหนึ่งประชาชนเป็น "ผู้อาศัย" ในประเทศนี้ มีหน้าที่แค่หย่อนบัตรเลือกตั้งให้ผู้แทนไปใช้อำนาจทำอะไรก็ได้ หาใช่เจ้าของประเทศที่แท้จริงตามนิยามการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่
สถานการณ์ในระยะหลังยิ่งหนักข้อ ในสภามีแต่ภาพของการโต้เถียง ด่าทอ และยกระดับความดุเดือดรุนแรงมากขึ้นทุกที ส่วนนอกสภาก็มีแต่การแถลงข่าวกล่าวหากันไปมา การแจ้งความดำเนินคดีระหว่างกันด้วยข้อหาที่ไร้สาระและรกศาล ไปจนถึงการปลุกระดมมวลชนออกมาปะทะกัน โดยบุคคลที่มีสถานะเป็น "ฝ่ายบริหาร" ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีเรื่อยลงมาจนถึงรัฐมนตรีทุกคนแทบไม่เคยแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะยุติสถานการณ์ร้ายเหล่านี้ด้วยวิธีใด ได้แต่ลอยตัวเรื่อยไปเหมือนเป็น "ครม.พิธีการ" คือมีหน้าที่แค่เดินสายเปิดงาน และกล่่าวปาฐกถาตามที่ต่างๆ เท่านั้น
มิพักต้องพูดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงมีเหตุการณ์ลอบยิง ลอบฆ่า วางระเบิด และวางเพลิงเผาสถานที่ราชการไม่เว้นแต่ละวัน มีคนบาดเจ็บคนตายแทบทุกวัน ทั้งชาวบ้านตาดำๆ ทุกศาสนา รวมไปถึงเจ้าหน้าที่อาสา กองกำลังประชาชน ตลอดจนทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง แต่นั่นดูจะยังไม่มีความสำคัญพอที่รัฐบาลหรือรัฐสภาจะหยิบไปพูดถึง หรือยกเป็นวาระเพื่อพิจารณาแก้ไข ได้แต่ปล่อยให้กลไกรัฐว่ากันไปตามมีตามเกิด
นโยบายยุทธศาสตร์ที่เพิ่งเปิดห้องประชุมในตึกสันติไมตรีวางแนวทางกันใหม่โดยใช้ศัพท์แสงหรูหราอย่าง "เอกภาพ" และ "บูรณาการ" ก็ยังไม่เห็นมีการขยับขับเคลื่อนงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ปากก็บอกให้ส่วนราชการมีเอกภาพ แต่รองนายกฯ 3 คนที่ดูแลงานด้านความมั่นคงกลับพูดจายังไม่ตรงกัน และไม่รู้ว่าคนไหนรับผิดชอบปัญหาภาคใต้กันแน่
นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นจริง ปัญหาของชาวบ้านถูกทิ้ง โดยที่นักการเมืองเอาแต่ "เล่นการเมือง" แถมยังเป็นการเล่นแบบเอาเป็นเอาตาย บ้านเมืองเป็นอย่างไรช่างหัวมัน
ผมถามคนประจวบฯว่าคิดอย่างไรกับสภาพปัญหาที่ต้องเผชิญ พวกเขาบอกว่าชินแล้ว และไม่ได้คาดหวังให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไข ที่ผ่านมาก็อยู่กันไปวันๆ ตามมีตามเกิด
ส่วนที่ชายแดนใต้ ไม่ต้องถามก็รู้ว่าชาวบ้านสิ้นหวังกับสถานการณ์ สิ้นหวังกับรัฐบาลทุกรัฐบาลมากขนาดไหน ถามใครก็พูดตรงกันว่าไมว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่อีกกี่รอบก็คงเหมือนกัน ไม่มีอะไรแตกต่าง หลายเสียงเชื่อว่าภาคใต้บ้านเขาจะไม่มีวันสงบด้วยซ้ำ
ทั้งหมดนี้คือวิกฤติการเมือง วิกฤติของบ้านเมือง และวิกฤติความเชื่อมั่น ท่ามกลางสภาวการณ์ที่กลุ่มการเมืองทุกฝ่ายยังคงเมามันเอาชนะคะคานกันบนความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อ่าวประจวบฯอันสวยงามและเงียบสงบแต่แทบจะร้างผู้คน มีเพียงเรือประมงจอดหลบมรสุมและคลื่นลมแรง
2 ด่านสิงขร จุดผ่านแดนไทย-พม่า ห่างจากตัวเมืองประจวบฯไม่ถึง 20 กิโลเมตร
3 เหตุการณ์วุ่นวายระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงวันที่ 30-31 พ.ค.ที่ผ่านมา