อ่วม! คนขับสามล้อถูก ‘ออมสิน’ ฟ้อง ฐานเบี้ยวหนี้ซื้อรถ-จ่อร้องกองปราบฯ ฉ้อโกงประชาชน
"มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" เตรียมนำผู้เสียหายร้องกองปราบฯ 19 พ.ย. หลังกู้ซื้อ "สามล้อ" เอื้ออาทร สัญญาเข้าข่ายฉ้อโกง - รถไม่ได้มาตรฐาน โดน ธ.ออมสินฟ้อง ฐานผิดนัดชำระ ทั้งที่จ่ายมาตลอด เพิ่งรู้เซ็นสินเชื่อห้องเเถว ไม่ใช่ไฟเเนนซ์อย่างที่เข้าใจ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 13 พ.ย. 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าวกรณีกลุ่มรถสามล้อเครื่องร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังเจอสัญญาซื้อรถพิสดาร ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ขับรถสามล้อเครื่องกว่า 100 คน ว่า ถูกฟ้องคดีจากธนาคารออมสิน เรื่อง การผิดสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากเมื่อปลายปี 2558 กรมการขนส่งทางบกเปิดโครงการ “สามล้อเอื้ออาทร” โดยให้สิทธิจดทะเบียนรถสามล้อรับจ้างใหม่ 814 คัน ซึ่งผู้มีความประสงค์ต้องมาลงทะเบียน มีสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ไปเปิดบูทโฆษณาขายรถสามล้อเครื่องที่กรมการขนส่งทางบก โดยไม่มีป้ายแสดงราคา สอบถามแจ้งเพียงว่า ราคาไม่เกิน 3 แสนบาท ผู้เสียหายจึงจองซื้อรถกับสหกรณ์ และสหกรณ์ได้ติดต่อกับธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช และพารากอน เพื่อทำสัญญาเงินกู้ที่สหกรณ์
ทางกลุ่มผู้เสียหายเข้าใจว่า เป็นการกู้ไฟแนนซ์ เพื่อนำเงินมาซื้อรถดังกล่าว โดยไม่ทราบว่า ได้กู้เงินไปจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นผู้เสียหายได้รับกระดาษจากสหกรณ์ให้ชำระหนี้เป็นรายสัปดาห์
หลังจากการทำสัญญา กลุ่มผู้เสียหายได้รับเพียงสมุดบัญชีธนาคาร แต่ไม่ได้รับเงินและสัญญากู้เงิน ส่วนทะเบียนรถฉบับจริงสหกรณ์เป็นผู้เก็บ
จากนั้นสหกรณ์ได้แจ้งให้ผ่อนชำระค่างวดกับสหกรณ์โดยตรงหรือชำระที่ธนาคารดังกล่าว สาขาใดก็ได้ แต่ให้ชำระเข้าบัญชีสหกรณ์ และนำใบชำระเงินของธนาคารไปแลกใบเสร็จของสหกรณ์
ผู้เสียหาย ระบุว่า ได้ชำระเงินให้สหกรณ์มาโดยตลอด แต่กลับถูกธนาคารฟ้อง เนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ จำนวนตั้งแต่ 3.5 แสนบาท-5 แสนบาท และเป็นการกู้สินเชื่อประเภทธุรกิจห้องแถวไม่ใช่ไฟแนนซ์ รวมทั้งมีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกลุ่มผู้เสียหายไม่ทราบและไม่เคยทำสัญญาดังกล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นัดเจรจาระหว่างผู้เสียหาย และผู้แทนของธนาคารออมสิน สหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2561 เพราะเห็นว่า เมื่อธนาคารออมสินและสหกรณ์เป็นของรัฐน่าจะดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสมาชิก ดังนั้นเชื่อจะหาทางพูดคุยกันได้ จึงได้ยื่นข้อเสนอไปยังธนาคารออมสินเพื่อขอให้ยุติการดำเนินคดี เพราะผู้เสียหายกู้ แต่ไม่ได้เงิน ดังนั้นธนาคารออมสินไม่ควรทำสัญญาในลักษณะนี้ จึงขอให้ธนาคารออมสินถอนฟ้อง แต่ภายหลังพบว่า ยังไม่ถอนฟ้อง นอกจากได้ชะลอการดำเนินคดีออกไปก่อน ดังนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงให้ผู้เสียหายไปขอขยายเวลาในการดำเนินคดีกับศาลยุติธรรมไว้ และมอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ไปตรวจสอบ
“ทุกคนต้องจ่ายค่าบริการ 5 หมื่นบาท ถามว่า ค้ากำไรและผิดวัตถุประสงค์ของสหกรณ์หรือไม่ และเงินกู้ 4 แสนบาท จากธนาคารออมสิน ไปอยู่ที่ไหน” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว และระบุกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้คำตอบว่า ค่าบริการ 5 หมื่นบาท คือ ค่าดำเนินการ เช่น นำเงินส่วนหนึ่งไปเป็นค่าหุ้นของทุกคนที่มีรถสามล้อเครื่อง 1 ปี ค่าธรรมเนียมของธนาคาร ค่าประกัน ค่าตรวจสภาพ ค่าธรรมเนียมสหกรณ์ และค่าใช้จ่ายมากที่สุด คือ ค่าดูแลรักษารถ 2 ปี 16,500 บาท ส่วนเงิน 4 แสนบาท เป็นเงินฝากของสมาชิกของสหกรณ์ แต่ปรากฎว่า ไม่มีดอกเบี้ย อีกทั้งผู้เสียหายไม่รู้ว่า มีเงินฝากกับสหกรณ์ด้วย
น.ส.สารี กล่าวอีกว่า รอบสอง ผู้แทนธนาคารออมสินระบุจะมีผู้แทนจากสำนักงานใหญ่มาให้คำตอบ ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่สุดท้าย ก่อนจะเจรจาจบ กลับไม่มีตัวแทนมา จึงคิดว่า กรณีนี้อาจเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ด้วยความที่มีสัญญาพิสดาร หลบเลี่ยง ดังนั้นเมื่อเจรจาไม่สำเร็จ โดยหลักกระบวนการที่เราจะฟ้อง เรียกว่า เป็นการทำสัญญาที่ไม่ตรงกับเจตนาของผู้กู้เงิน เพราะผู้เสียหายต้องการได้รถ และหลายคนบอกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตอนแรกให้ข้อมูลเป็นรถสามสูบ ซึ่งรถตุ๊กตุ๊กที่ดีต้องมาจากช่างเกียรตินนทบุรี แต่รถที่นำมาขายในโครงการกลับเป็นระบบสองสูบ และจากอู่ไหนไม่รู้ จึงคิดเป็นปัญหาใหญ่ของโครงการที่พยายามช่วยเหลือคนจน แต่กลายเป็นว่า คนจนต้องเป็นหนี้และถูกฟ้องคดี
ทั้งนี้ ในวันจันทร์ ที่ 19 พ.ย. 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเป็นผู้แทนในการนำผู้เสียหายทั้งหมดไปร้องกับกองบังคับการปราบปรามอีกครั้งหนึ่ง
ด้านนายวันทอง ศรีจันทร์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายรถสามล้อเครื่อง กล่าวว่า ครั้งแรกที่เซ็นสัญญา ได้เซ็นเพียงฉบับเดียว โดยไม่เห็นว่า ตัวเลขการกู้เงินเท่าไหร่ หากไม่มีคนรู้จักมาค้ำประกัน สหกรณ์จะจัดหาคนค้ำประกันให้ และผู้กู้ต้องไปค้ำประกันตอบแทนรายนั้น ในวันรับรถได้รับไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ตกลงกันไว้ มีการชำรุด และให้ใบสรุปการจ่ายสินเชื่อเพียงใบเดียว ทั้งนี้ ยืนยันว่า ได้จ่ายหนี้ตามที่ตกลงกับสหกรณ์มาตลอด
เมื่อได้รับหมายศาลพบว่า ถูกธนาคารออมสินฟ้อง และในเอกสารแนบท้ายคำฟ้องดังกล่าวได้แนบสำเนาสัญญากู้มาด้วย และได้ตรวจสอบยอดกู้ในสัญญากู้ปรากฎว่า มียอดสูงกว่าใบสรุปการจ่ายสินเชื่อ เช่น ในสัญญาระบุกู้ 5 แสนบาท แต่ในใบสรุปสินเชื่อแจ้งว่า 3.6 แสนบาท ส่วนต่างหายไป 1.4 แสนบาท และมีสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งสัญญา โดยไม่ได้ทำ
“หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนัดเจรจา มีเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบกับสหกรณ์แล้ว สหกรณ์แจ้งว่า มีหนังสือยินยอมของผู้เสียหายให้สหกรณ์เป็นผู้รับเงินจากธนาคารแทน แล้วนำไปฝากกับสหกรณ์ โดยพวกผมได้เซ็นชื่อหนังสือยินยอมให้สหกรณ์ถอนเงินที่ฝากไว้กับสหกรณ์ได้ และยังพบว่าในการซื้อรถสามล้อเครื่องดังกล่าว ต้องทำสัญญาเงินกู้กับสหกรณ์ไว้อีกหนึ่งฉบับ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ตอนเจ้าหน้าที่ธนาคารนำเอกสารมาให้เซ็นนั้น ไม่ได้อ่านรายละเอียดในสัญญา” ผู้เสียหายรายนี้ระบุ .