ครม.ปลดล็อค กัญชาเพื่อการแพทย์แล้ว คาด กม.ใหม่มีผลบังคับใช้ไม่เกินสิ้นปี
ครม. ปลดล็อคกัญชาแล้ว ชี้ ปชช. ใช้ยาเสพติดประเภท 5 เพื่อการแพทย์ไม่เป็นความผิด คาดอาทิตย์หน้า ส่ง สนช.ตรากม. ก่อนมีผลบังคับใช้ไม่เกินสิ้นปี
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ครม.เห็นชอบในหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ตราเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ในรายละเอียดในส่วนของยาเสพติดประเภทที่ 5 (กัญชา กระท่อม)ดังต่อไปนี้
(1) เพิ่มเติมบทบัญญัติ ห้ามมิให้ผลิต นําเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 เว้นแต่ได้รับ ใบอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
(2) เพิ่มเติมบทบัญญัติ ห้ามมิให้ผู้ใดจําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต และกําหนดให้การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครอง คํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อ จําหน่าย
(3) เพิ่มเติมบทบัญญัติ ในกรณียกเว้นให้มียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองไม่เกินจํานวนที่จําเป็นสําหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือสําหรับใช้ประจําในการปฐมพยาบาล หรือ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ
(4) เพิ่มเติมอํานาจของผู้อนุญาตที่จะอนุญาตให้จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 2 (ฝิ่น มอร์ฟีน) หรือประเภท 5 แก่ผู้ขออนุญาต
(5) เพิ่มเติมให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีอํานาจกําหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผลิตและทดสอบยาเสพติด ประเภท 5 หรือกําหนดเขตพื้นที่ให้เสพหรือครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่ กําหนด โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและต้องมาตรการควบคุมตรวจสอบ
(6) ตัดยาเสพติดประเภท 5 ออกจากบทบัญญัติห้ามผลิต จําหน่าย นําเข้า ส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง รวมถึงการกําหนดปริมาณยาเสพติดประเภท 5 ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อ ครอบครองจําหน่ายออก โดยใช้เนื้อหาเดียวกันนี้ไปกําหนดเพิ่มเติมในมาตราอื่น
สำหรับเหตุผลที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้นเป็นมีการระบุว่า บทบัญญัติบางประการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ในปัจจุบัน ในส่วนของกัญชานั้นปรากฏผลวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ หลาย ประเทศทั่วโลกได้มีการผ่อนปรนโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย อนุญาตให้ประชาชนใช้พืช กระท่อมและกัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อการนันทนาการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่สําหรับประเทศไทย ปัจจุบันพืชกระท่อมและกัญชายังคงเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีการกําหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครอง ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริงพบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค มานานหลายปีแล้ว ทั้งผลิตใช้เองและมีผู้ผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นผลให้มีราคาแพงและอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์และตํารับยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติด ให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนํากัญชาและพืชกระท่อมไปทําการศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนําไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุม ของแพทย์ได้ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า หลังจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการให้แก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดแล้ว ก็จะส่ง หลักการให้แก้ไขพ.ร.บ.ยาเสพติดดังกล่าวไปให้กันสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาหลักการและให้ความเห็นชอบและตราเป็น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับ พ.ศ..... ต่อไปภายในกรอบระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน โดยคาดว่าไม่เกินสิ้นปี 2561 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ น่าจะมีผลบังคับใช้