Digital Distrust: เศรษฐกิจดิจิทัลบนความแคลงใจของสังคม
"ความคลางแคลงใจของประชาชนต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศที่ทำการศึกษา เป็นการชี้ให้เห็นว่า "ความเชื่อมั่น" ต่อเทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาของโลกนั้นยังไม่ส่งผลในทางที่น่าพอใจ สิ่งที่ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยเองควรตระหนักจึงมิใช่เรื่องของการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรเน้นเรื่องของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบายการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานควบคู่กันไป "
โลกกำลังอยู่ในกระแสของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คนให้ได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้นและควรจะส่งผลให้ปัญหาของโลกลดน้อยลงจากมาตรการ นำเทคโนโลยี ดิจิทัล มาแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลก
อย่างไรก็ตามกลับมีผลการศึกษาแสดงถึงผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม โดยพบว่า เทคโนโลยีดิจิทัลยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือในบางแง่มุม รวมทั้งยังไม่เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดิจิทัล จะสามารถแก้ปัญของโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน ความหิวโหย ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาอื่นๆที่กำลังรุมเร้าโลกนี้อย่างรุนแรงได้
การที่คนทั่วไปยังไม่มั่นใจว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทั่วโลกได้อย่างที่คาดหวัง เราจึงต้องกลับมาถามตัวเองว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น ทำให้โลกนี้ดีขึ้นจริงหรือ
จากข้อมูลที่เผยแพร่โดย World Economic Forum อ้างอิงถึงดัชนีชี้วัดสังคมดิจิทัล (Digital Society Index) ของปี 2018 ที่ บริษัท Dentsu Aegis Network และบริษัท Oxford Economics ร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนถึงปัจจัยสำคัญ 3 ประการของเศรษฐกิจดิจิทัล คือ ความเข้มแข็งของเทคโนโลยีดิจิทัล
การเข้าถึงและผลประโยชน์ที่จะได้รับของประชาชนและความเชื่อมั่นเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยรวมทั้งความเชื่อทั่วไปเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลจากประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สเปน อีตาลี ญี่ปุ่น และ รัสเซีย ร่วมกับข้อมูลการสำรวจทัศนคติและความเชื่อมั่นจากประชาชนจำนวน 20,000 คน ของประเทศดังกล่าว เพื่อวัดความมีประสิทธิภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลใน 3 เรื่อง คือ
(1) ความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมดิจิทัล
(2) การเข้าถึงและผลประโยชน์
(3) ความเชื่อมั่น ของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในแต่ละประเทศ
ผลการจัดอันดับพบว่า ทั้ง 10 ประเทศมีดัชนีชี้วัดสังคมดิจิทัลในภาพรวมและปัจจัยอื่นๆอีก 3 ปัจจัย เรียงลำดับได้ดังนี้
ดัชนีชี้วัด ในภาพรวม (Overall) สามอันดับแรก สหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับที่ 1 ตามด้วยสหรัฐอเมริกาและจีน ส่วนญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 9 และรัสเซียอยู่รั้งท้ายอันดับ 10
ดัชนีชี้วัด ความเข้มแข็งของเทคโนโลยีดิจิทัล (Dynamism) สามอันดับแรก สหรัฐอเมริกา อยู่ในอันดับที่ 1 ตามด้วย สหราชอาณาจักรและเยอรมัน ส่วนอันดับ 9 และ 10 คือ อิตาลีและรัสเซีย
ดัชนีชี้วัด การเข้าถึงและผลประโยชน์ (Inclusion) สามอันดับแรก สหราชอาณาจักร อยู่ในอันดับที่ 1 ตามด้วย จีนและสหรัฐอเมริกา ส่วน อีตาลีและญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 9 และ 10
ดัชนีชี้วัด ความเชื่อมั่น (Trust) สามอันดับแรก จีน อยู่ในอันดับที่ 1 ตามด้วย เยอรมันและสหราชอาณาจักร ส่วนรัสเซียและญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 9 และ 10
จากตารางดัชนีจะเห็นได้ว่า ในภาพรวม สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกาและจีน มีความพร้อมอยู่ในสามอันดับต้นของทั้ง 10 ประเทศ
ส่วน ดัชนีความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงและผลประโยชน์ รวมถึงความเชื่อมั่นนั้น แต่ละประเทศมีความเข้มแข็งในแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป
ที่น่าสนใจคือประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลกลับมีดัชนีด้านการเข้าถึงและผลประโยชน์ รวมทั้งความเชื่อมั่นเป็นอันดับสุดท้าย
ผู้วิจัยยังได้นำเสนอประเด็นเรื่อง การมีส่วนร่วมต่อเศรษฐกิจดิจิทัล(Digital engagement) ของประชาชน ในแง่มุมของ (1) การสร้างงาน (2) ความท้าทายต่อปัญหาทางสังคม (3) ผลในเชิงบวก ของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ประชาชนของประเทศต่างๆ สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลของประชาชน แต่ละประเทศในแง่มุมที่กล่าวถึง ดังนี้
ประเทศจีน 73 เปอร์เซ็นต์ รัสเซีย 50 เปอร์เซ็นต์ สเปน 48 เปอร์เซ็นต์ อีตาลี 46 เปอร์เซ็นต์ ฝรั่งเศส 44 เปอร์เซ็นต์ สหรัฐอเมริกา 41 เปอร์เซ็นต์ ออสเตรเลีย 41 เปอร์เซ็นต์ สหราชอาณาจักร 40 เปอร์เซ็นต์ เยอรมัน 38 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่น 32 เปอร์เซ็นต์
และตัวเลขเฉลี่ยการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศทั้งหมด เท่ากับ 45 เปอร์เซ็นต์
จะเห็นได้ว่า จีนคือประเทศเดียวที่มีความเชื่อมั่นต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อเศรษฐกิจดิจิทัลสูงที่สุด รัสเซียมีความเชื่อมั่นเพียงครึ่งเดียว ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เหลือต่างแสดงความเชื่อมั่นในทางที่ไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้นมีความเชื่อมั่นต่อการมีส่วนร่วมเพียง 32 เปอร์เซ็นต์
ในมุมมองของการมีส่วนร่วม ผู้วิจัยพบว่า ยังมีช่องว่างระหว่างเพศชายและหญิง โดยในภาพรวม ผู้ชายมีเปอร์เซ็นต์ของการมีส่วนร่วม 49 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้หญิงอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์ และพบว่า สหราชอาณาจักรมีช่องว่างระหว่างเพศมากที่สุด โดยผู้หญิงอยู่ที่ 36 เปอร์เซ็นต์และผู้ชายอยู่ที่ 45 เปอร์เซ็นต์
ประเด็นสำคัญที่ผู้วิจัยได้หยิบยกมานำเสนอ ได้แก่ ดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถแก้ไขปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ปัญหาโลกร้อน ปัญหาความยากจน ปัญหาสุขภาพ และปัญหาอื่นๆ ได้หรือไม่ ผลการศึกษาในภาพรวมชี้ว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายของโลกเพียง 42 เปอร์เซ็นต์
หากดูรายละเอียดของแต่ละประเทศพบว่า ประเทศจีนมีความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสามารแก้ไขปัญหาของโลกได้สูงถึง 71 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อีก 9 ประเทศมีดัชนีความเชื่อมั่นไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกนั้นกลับมีดัชนีความเชื่อมั่นต่ำที่สุดเพียง 22 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ตัวเลขความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาของโลกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจากผลการศึกษานี้ จึงน่าจะยังห่างไกลจากเป้าหมายของ โครงการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อโลกที่ยั่งยืน (Global e-Sustainability Initiative) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งตั้งใจใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ไขปัญหาของโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals) 17 ข้อ ภายในปี 2030
ข้อมูลการศึกษาดังกล่าวข้างต้นสะท้อนถึงความคลางแคลงใจของประชาชนต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศที่ทำการศึกษา เป็นการชี้ให้เห็นว่า "ความเชื่อมั่น" ต่อเทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาของโลกนั้นยังไม่ส่งผลในทางที่น่าพอใจ
สิ่งที่ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยเองควรตระหนักจึงมิใช่เรื่องของการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรเน้นเรื่องของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบายการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานควบคู่กันไป เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นเป็นงานที่รัฐบาลเป็นผู้ตั้งต้น แต่ประชาชนคือกลไกในการขับเคลื่อน
ผลการศึกษานี้จึงเป็นบทเรียนหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ ดีเลิศ ล้ำยุค เร็ว แรง และมีเสถียรภาพ มากเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะประสบความสำเร็จ หากประชาชนยังไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
อ้างอิงจาก : https://www.weforum.org
หมายเหตุ : ภาพประกอบ distrust จาก https://www.information-age.com
ภาพประกอบตารางและแผนภูมิ จาก Dentsu Aegis Network
อ่านประกอบ :