หยุดมาหลายปี! ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จี้ภาครัฐเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 เวอร์ชั่น 2 ได้แล้ว
หยุดเมื่อไหร่แพ้ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จี้ภาครัฐเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 เวอร์ชั่น 2 ได้แล้ว ชี้กัมพูชานำข้าวไทยไปพัฒนาสายพันธุ์ เป็นผกาลำดวน-ผกามะลิ-มาลี อังกอร์ ดีที่หนึ่ง ขณะที่ไทยอยู่กับข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 มานาน
จากกรณีมาลีอังกอร์ ข้าวหอมพันธุ์ดีของกัมพูชา ได้รับรางวัลชนะเลิศอีกครั้งหนึ่งในการประกวดข้าวโลกประจำปี 2018 ที่จัดขึ้นในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม จนทำให้ข้าวกัมพูชาครองตำแหน่ง ข้าวคุณภาพดีที่สุดในโลก นั้น
ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน และผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน ผู้ปรับเปลี่ยนอาชีพจากการรับราชการมาเป็นระยะเวลา 26 ปี มาทำการเกษตร ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ทำให้ข้าวหอม มาลี อังกอร์ของกัมพูชา ครองแชมป์ ข้าวดีที่สุดในโลก ปี 2018 เนื่องจากความพยายามของกัมพูชาในการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้บริสุทธิ์ ขยายพื้นที่ปลูกข้าวและพัฒนาคุณภาพของสายพันธุ์ รวมทั้ง การส่งเสริมการสีข้าวให้ได้มาตรฐาน
"ถ้าข้าวไทยไม่สามารถพัฒนาคุณภาพได้ ข้าวไทยจะร่วงจากเวทีโลก มาลี อังกอร์ มีการพัฒนาคุณภาพสายพันธุ์ เมื่อก่อนเรากินข้าวปิ่นแก้ว ไม่เคยรู้จักข้าวหอมมะลิ แต่เมื่อมีการพัฒนาสายพันธุ์จนเป็นข้าวหอมมะลิ 105 ถามว่า เราหยุดอยู่ที่มะลิ 105 มากี่ปีแล้ว ในขณะที่กัมพูชานำมะลิ 105 ไปพัฒนาสายพันธุ์เป็นผกาลำดวน ผกามะลิ (Phka Malis) กระทั่งเป็นมาลี อังกอร์ พันธุ์ข้าวหอมของเขาเอง คุณภาพได้ที่หนึ่งแข่งกับไทย"
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน กล่าวถึงข้าวหอมมะลิ 105 ควรมีการพัฒนาต่อยอดไปเป็นข้าวหอมมะลิ 105 เวอร์ชั่น 2 และพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น ซึ่งจะอย่างไรก็ได้ นักวิทยาศาสตร์ในศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์เก็บรักษาพันธุกรรมข้าว หรือ gene bank น่าจะรู้ อย่าหยุด เพราะเมื่อหยุดเมื่อไหร่ไทยแพ้ทันที
เมื่อถามถึงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในประเทศไทยควรเป็นหน้าที่ใคร ดร.รณวริทธิ์ กล่าวว่า ต้องรัฐเพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีห้องปฏิบัติการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน หรือศูนย์วิจัยข้าว ปทุมธานี ใหญ่สุดในเอเซีย ตรงนี้ต้องพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ออกมา
"เราได้ข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 แล้วเราก็ดีใจ และไม่ได้มีการพัฒนาต่อตั้งแต่ปี 2502 เราอยู่กับข้าวหอมมะลิ 105 มานาน"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาชี้แจงถึง ข้าวมาลีอังกอร์ได้รับรางวัลข้าวดีที่สุดในโลก ประจำปี 2561 ซึ่งการประกวดข้าวดังกล่าวเป็นการจัดในส่วนของกลุ่มธุรกิจค้าข้าวเท่านั้น ซึ่งจากการประกวดมาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง ปรากฏว่าข้าวหอมมะลิไทยชนะเลิศการประกวดถึง 5 ครั้ง ในขณะที่ประเทศกัมพูชาชนะเลิศการประกวดเพียง 4 ครั้ง และเมื่อดูสถิติการส่งออกข้าวหอมในปี 2560 แล้ว ประเทศกัมพูชาส่งออกข้าวหอมได้เพียง 394,027 ตันข้าวสาร ขณะที่ประเทศไทยส่งออกข้าวหอมได้มากถึง 2.30 ล้านตันข้าวสาร แสดงว่าถึงแม้กัมพูชาจะได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวถึง 4 ครั้ง แต่การส่งออกข้าวหอมของกัมพูชายังมีน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย โดยเฉพาะสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กรมการข้าว ไม่นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการทั้งด้านการพัฒนาการผลิตและการตลาดข้าวหอมมะลิ เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิชั้นเลิศที่ดีที่สุดของโลก ดังนี้
1) เร่งรัดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวหอม รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การจัดการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว การอบลดความชื้น และการเก็บรักษา เพื่อยกระดับคุณภาพและความหอมตามเอกลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทย
2) ผลักดันในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรนาแปลงใหญ่ผลิตข้าวหอมมะลิชั้นเลิศ รวมทั้งให้มีการผลิตข้าวหอมมะลิที่ได้การรับรองมาตรฐาน GAP ที่มีคุณภาพและความหอมด้วย ส่งเสริมระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
3) สนับสนุนเครื่องอบลดความชื้น การสร้างยุ้งฉางให้แก่สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เพื่อรักษาคุณภาพความหอมและทยอยผลผลิตออกสู่ตลาด
4) ประชาสัมพันธ์เชิงรุกสร้างการรับรู้คุณค่า คุณภาพ และเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยทั้งภายในและต่างประเทศให้แพร่หลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการส่งออกข้าวหอมมะลิของประเทศไทยให้มากขึ้น
5) บูรณาการผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยและการส่งเสริมข้าวหอมมะลิไทยอย่างเต็มที่