เจอม.รัฐผูกรับหลายโครงการ! สตง. ตรวจงานจ้างที่ปรึกษาจว.ปทุมฯ 244 ล. พบปัญหาใช้เงินเพียบ
เผยผลสอบ สตง.ตรวจงานจ้างที่ปรึกษาจว.ปทุมธานี ช่วงปี 55 – 60 จำนวน 35 โครงการ วงเงิน 244.81 ล้าน พบปัญหาเพียบไม่ตรงตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องไร้ประสิทธิภาพ ไม่ประหยัด ระบุเจอแทรกงานจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพียบ มหาวิทยาลัยรัฐบางแห่งผูกรับงานหลายโครงการ ไม่สอดคล้องสภาพความเป็นจริงศักยภาพทีมงาน ส่วนการจัดกิจกรรม อบรม/สัมมนา ตั้งค่าอาหารไว้สูงถึง 800บาท/คน เหมาจ่ายไม่ระบุจำนวนผู้เข้าอบรม ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถึง 9,677.42 บาท วิทยากรรับค่าตอบแทน3,000 บาท/ชม. จี้ผู้ว่าฯ สั่งตรวจสอบด่วน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบโครงการจ้างที่ปรึกษาโดยใช้งบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ของจังหวัดปทุมธานี พบว่า นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 – 2560 มีการดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษาจำนวน 35 โครงการ งบประมาณจำนวน 244.81 ล้านบาท
จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการจ้างที่ปรึกษา พบว่า การจ้างที่ปรึกษาบางโครงการมีการดำเนินการไม่ตรงตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างที่ปรึกษา ทั้งในส่วนของการกำหนดราคากลางการจ้างที่ปรึกษา หรือกำหนดให้มีการจัดหาวัสดุ/อุปกรณ์ รวมไว้ในสัญญาจ้างที่ปรึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ตรงกับหลักการของระเบียบการจ้างที่ปรึกษา อีกทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งรับงานจ้างที่ปรึกษาจำนวนหลายโครงการ โดยมีระยะเวลาดำเนินการในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและศักยภาพของทีมงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพของงานจ้างที่ปรึกษา และอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ที่มารับงานเป็นที่ปรึกษา
นอกจากนี้ยังพบว่าโครงการจ้างที่ปรึกษายังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ หรือยังไม่มีการนำความรู้ทางวิชาการไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งอาจทำให้การใช้จ่ายงบประมาณในการจ้างที่ปรึกษาเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ประหยัด พิจารณาได้จากมีการกำหนดค่าใช้จ่ายบางรายการไม่เข้าลักษณะค่าใช้จ่ายตรง โดยพบว่า โครงการจ้างที่ปรึกษาจำนวน 10 โครงการ มีมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ มีการกำหนดรายการค่าบำรุงมหาวิทยาลัยไว้ในค่าใช้จ่ายตรง โดยมีการกำหนดอัตราค่าบำรุงมหาวิทยาลัยของแต่ละโครงการประมาณร้อยละ 10 – 15 ซึ่งปกติมหาวิทยาลัยจะได้รับการสนับสนุนการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลอยู่แล้ว จึงไม่ควรนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาคิดเป็นค่าใช้จ่ายตรง ค่าใช้จ่ายตรงบางรายการสูงกว่าที่ควรจะเป็น เช่น ค่าอาหารและค่าอาหารว่าง
สตง. ยังตรวจสอบพบว่า มีโครงการจ้างที่ปรึกษาที่มีการกำหนดกิจกรรม อบรม/สัมมนา บางโครงการกำหนดค่าอาหารและอาหารว่างไว้สูงถึง 800บาท/คน หรือมีการกำหนดค่าใช้จ่ายในลักษณะเหมาจ่าย โดยไม่ระบุจำนวนผู้เข้าอบรม ทำให้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนสูงถึง 9,677.42 บาท/คน รวมทั้งมีการกำหนดอัตราค่าตอบแทนวิทยากรสูงถึง 3,000 บาท/ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีการคิดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน เช่น มีการกำหนดค่าใช้จ่ายเป็นค่าวิทยากรสำหรับการ อบรม/สัมมนา แต่วิทยากรที่มาดำเนินการกลับเป็นผู้เชี่ยวชาญในทีมที่ปรึกษา ซึ่งได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานตาม คน – เดือน อยู่แล้ว จึงไม่ควรได้รับค่าตอบแทนวิทยากรอีก หรือมีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับการสำรวจ และจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว แต่ยังมีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลในลักษณะเหมาจ่ายอีก เป็นต้น
เบื้องต้น สตง.ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งให้หน่วยงานที่จัดทำโครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินการตรวจสอบผลการดำเนินการของที่ปรึกษา กรณีตรวจพบว่าที่ปรึกษาดำเนินการไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ที่ปรึกษาไม่สามารถดำเนินการได้ครบถ้วน หากปรากฏหลักฐานว่าเกิดจากความบกพร่องของคณะกรรมการตรวจการจ้าง ในการตรวจรับงานจ้างให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาให้พิจารณาลงโทษแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามควรแก่กรณี พร้อมทั้งหาแนวทางการแก้ไขเพื่อมิให้เกิดปัญหาในการดำเนินการเช่นนี้อีก
สตง. ยังระบุว่า “การจ้างที่ปรึกษา”เป็นการจ้างบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจหรือสามารถให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางวิศวกรรม สถาปัตยกรรม เศรษฐศาสตร์ หรือสาขาอื่น รวมทั้งให้บริการด้านศึกษา สำรวจ ออกแบบและควบคุมงาน และการวิจัย แต่ไม่รวมถึงการให้บริการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างอาคารด้วยเงินงบประมาณ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน หน่วยงานราชการส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีการจ้างที่ปรึกษา เพื่อทำภารกิจบางประการของหน่วยงานให้บรรลุผลสสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งการว่าจ้างที่ปรึกษาภายนอกมาดำเนินการในบางเรื่องก็ได้ผลดีและคุ้มค่า แต่ก็มีหลายเรื่องที่จ้างและจ่ายเงินไปแล้ว ปรากฏว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้มาไม่เกิดความคุ้มค่า และไม่สามารถนำข้อมูลจากที่ปรึกษาไปดำเนินการต่อได้
ดังนั้นในขั้นตอนการดำเนินการจ้างที่ปรึกษา เริ่มตั้งแต่การประเมินความจำเป็นในการจ้างที่ปรึกษา การกำหนดขอบเขตงานที่จะจ้าง การคัดเลือกที่ปรึกษา รวมทั้งการควบคุมกำกับการดำเนินงานของที่ปรึกษา จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณในการจ้างที่ปรึกษาเป็นไปอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ในการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีหนังสือสั่งการ และแนวทางที่กำหนดไว้