เปิดบัญชีทรัพย์สิน : อย่ากลัวการส่องไฟ
"...รู้หรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้มีข่าว กรรมการมหาวิทยาลัยบางคนเป็นผู้อุปถัมภ์มหาวิทยาลัย เป็นพ่อค้า ผู้รับเหมา มีผลประโยชน์ทับซ้อน เอาบริษัทของตนเองมาเป็นคู่สัญญากับมหาวิทยาลัยนับสิบสัญญามูลค่านับพันล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีข่าวบริษัทของผู้บริหารบางแห่งเป็นคู่สัญญากับมหาวิทยาลัยด้วย? ..."
กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกประกาศกำหนดตำแหน่ง 'ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง’ ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นไปตามมาตรา 102 ประกอบมาตรา 106 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ตาม ที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา มีปฏิกิริยาจากผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงบางตำแหน่งออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านและเตรียมลาออก เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ขณะที่สังคมจำนวนไม่น้อย (ซึ่งเป็นผู้เสียภาษี) เห็นด้วยการให้ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ต้องรอดูว่าจะออกทางไหน? ป.ป.ช.จะยืนหยัดตามเจตนารมย์หรือไม่?
ความจริงแล้ว การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเป็นมาตรการในตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐว่าใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง พวกพ้อง หรือไม่ ในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐอื่น อาทิ กรรมการรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ จงใจไม่ยื่นและหรือยื่นเท็จ ศาลฎีกาฯได้ระบุถึงความสำคัญดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ
เห็นว่า
1. การกำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงยื่นและเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะชนเป็นสั่งที่ควรทำมานานแล้ว และป.ป.ช. ดำเนินการไปเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2561 ที่ระบุให้ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
2.ผู้ออกมาเคลื่อนไหวในเชิงไม่เห็นด้วยและเตรียมขอลาออกจากจากกรรมการเพื่อไม่ต้องการยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เป็นนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่ง ถือเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่ต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ในอดีตบางคนเป็นกรรมการฯหลายแห่งวนเวียนไปตามวาระจากแห่งนี้ไปแห่งนั้น (คนดี คนเก่งมีน้อย?) มีรายได้ตอบแทนจากงบประมาณของรัฐหรือไม่
3.รู้หรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้มีข่าว กรรมการมหาวิทยาลัยบางคนเป็นผู้อุปถัมภ์มหาวิทยาลัย เป็นพ่อค้า ผู้รับเหมา มีผลประโยชน์ทับซ้อน เอาบริษัทของตนเองมาเป็นคู่สัญญากับมหาวิทยาลัยนับสิบสัญญามูลค่านับพันล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีข่าวบริษัทของผู้บริหารบางแห่งเป็นคู่สัญญากับมหาวิทยาลัยด้วย?
4.ประชาคมในองค์กรหรือสถาบันอุดมศึกษา ควรจะมีสิทธิรู้และหรือตรวจสอบทรัพย์สิน ความโปร่งใสของผู้บริหารและผู้กำกับ (ซึ่งมักจะเป็นพวกเดียวกัน?) หรือไม่?
5.นอกจากตำแหน่ง อธิการบดี และรองอธิการฯ ควรกำหนดให้ ‘คณบดี’ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ทุกแห่งยื่นและเปิดเผยบัญชีฯของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะด้วยหรือไม่?
6.สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดปัจจุบันหลายคนได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยของรัฐต้องยื่นและเปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน บางคนรวยเงียบๆมีทรัพย์สินนับร้อยล้านบาท ไม่เห็นท่านเหล่านั้นมีปฏิกิริยาอย่างไรที่ต้องเปิดเผยทรัพย์สิน
7.ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงบางคนแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ชอบการทุจริตทุกรูปแบบ ต้องปฏิรูปประเทศทุกด้าน สนับสนุนให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง แต่พอกฎหมายในเชิงป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ กระทบต่อตนเองกลับใช้อีกตรรกะหนึ่งในการอธิบายคัดค้าน ทำให้เห็นว่าภายใต้หลักการเดียวกันใช้กับคนกลุ่มหนึ่ง(เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งอื่น)ได้ แต่กำลังจะใช้กลับคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้?
ที่ผ่านมา ประเทศชาติและวงการศึกษา เป็นหนี้บุญคุณท่าน เหล่านี้จริงๆครับ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/