โชว์หนังสือ ปปง.ทวงเงินจนท.ใช้คืนกองทุนฯ โยงคดี ป.ป.ช. สอบ 'บิ๊ก' ทอนสินบนปริศนา?
"...พันตำรวจโทรายนี้ ที่ถูก ปปง. ทวงเงินคืนจำนวน 3 หมื่นกว่าบาท เป็นบุคคลคนเดียวกับที่เข้ายื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวหาว่า อดีตผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งใน สำนักงาน ปปง. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยใช้อำนาจสั่งการพนง.นำของกลางจากการใช้อำนาจสั่งยึด/อายัด ส่งให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งสั่งให้ทรัพย์สินเหล่านั้น ตกเป็นของแผ่นดินแล้วมาทอนเงินให้โดยผ่านระเบียบเงินสินบนรางวัล และหน่วยงานที่ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ได้ส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. รับไปสอบสวนต่อ พร้อมนำเงินสดจำนวน 1.7 หมื่นบาท ที่ได้รับจัดสรรมาไปมอบให้ป.ป.ช. เป็นของกลางในการสอบสวนด้วยนั้นเอง..."
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranws.org นำข้อมูลเชิงลึกกรณี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาจำนวน 2 ครั้ง เพื่อหารือข้อกฎหมาย กรณี ปปง. ได้รับหนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่า ให้พนักงานและข้าราชการของสำนักงาน ปปง. ที่ได้รับเงินจากกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเรียกเงินค่าตอบแทนที่จ่ายให้สำนักงาน ปปง. เพื่อจัดสรรให้แก่ข้าราชการและพนักงานราชการของสำนักงาน ปปง. จำนวน 5 ล้านบาท คืนแก่กองทุนฯโดยเร็ว เนื่องจาก สตง. เห็นว่า ข้าราชการและพนักงานของสำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากกองทุนฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา 2 คณะ คือ คณะที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 คณะที่ 11 และคณะที่ 12) รวมถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยว่า สำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธินำเงินกองทุนดังกล่าวจัดสรรให้กับบุคลากรในสำนักงาน ปปง. แต่อย่างใด
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวใน ปปง. ว่า ภายหลังจากที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยว่า สำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธินำเงินกองทุนฯ จัดสรรให้กับบุคลากรในสำนักงาน ปปง. ดังกล่าว ในช่วงปลายเดือนต.ค.2561 ที่ผ่านมา ผู้บริหารสำนักงาน ปปง. ได้ทำหนังสือแจ้งให้ พนักงานและข้าราชการ ที่ได้รับจัดสรรเงินไป นำเงินมาส่งคืนให้แก่สำนักงาน ปปง. ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งหนังสือเป็นทางการ โดยมี พนักงานและข้าราชการ บางราย ถูกเรียกเงินคืน ตั้งแต่ช่วงปี 2558 ด้วย
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา จะวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการจ่ายเงินกองทุนฯดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง.รายหนึ่ง ได้ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวหาว่า อดีตผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งใน สำนักงาน ปปง. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยใช้อำนาจสั่งการพนง.นำของกลางจากการใช้อำนาจสั่งยึด/อายัด ส่งให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งสั่งให้ทรัพย์สินเหล่านั้น ตกเป็นของแผ่นดินแล้วมาทอนเงินให้โดยผ่านระเบียบเงินสินบนรางวัล เบื้องต้น หน่วยงานที่ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปสอบสวนต่อ ซึ่งในขั้นตอนการสอบสวน เจ้าหน้าที่ ปปง.รายนี้ ได้นำเงินสดจำนวน 1.7 หมื่นบาท ที่ได้รับจัดสรรมาไปมอบให้ป.ป.ช. เป็นของกลางในการสอบสวนด้วย
แต่ล่าสุด ในช่วงปลายเดือน ส.ค.2561 ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือแจ้งถึง เจ้าหน้าที่ ปปง. รายนี้ ถึงผลการสอบสวน โดยระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าการจ่ายเงินค่าตอบแทนในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ ได้จ่ายโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว กรณีการประเมินการปฏิบัติราชการเพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่รายนี้ ผู้บังคับบัญชาได้ประเมินตามหลักเกณฑ์การให้คะแนน ตามที่กำหนดในตัวชี้วัด และมีการนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น พยานหลักฐานในชั้นนี้ ยังไม่อาจระบุชี้ชัดว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงมีมติไม่รับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ ปปง. รายนี้มารับเงินสด จำนวน 1.7 หมื่นบาท ที่นำมามอบให้ไว้ประกอบคดีคืนกลับไป
แต่ที่น่าสนใจสำหรับกรณี คือ เงินจำนวน 1.7 หมื่นบาท ที่สำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งให้ เจ้าหน้าที่ ปปง.รายนี้ไปรับคืนกลับมา เป็นเงินก้อนเดียวกับ ที่สำนักงาน ปปง. แจ้งขอเรียกเงินคืนจาก เจ้าหน้าที่ ปปง. ที่ได้รับการจัดสรรมาจากกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ณ ปัจจุบัน ปปง. ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีนี้ต่อสาธารณชนให้เกิดความชัดเจน ว่าที่มาที่ไปของเงินจำนวน 1.7 หมื่นบาท ก้อนนี้ มีปัญหาความไม่ชอบมาพากล เรื่องระเบียบเงินสินบนรางวัลหรือไม่ (อ่านประกอบ : ผ่าปมร้อน ปปง.ไล่บี้ทวงเงินจนท.คืนกองทุน-โยงคดีร้องป.ป.ช.สอบ 'บิ๊ก' ทอนเงินสินบน?,ปปง.ต้องคืนเงินกองทุนฯ 5 ล.! กฤษฎีกาชี้ตาม สตง.ท้วง ยันไว้จ่ายคนสนับสนุน, ชัด ๆ ปปง.ถาม-กฤษฎีกาตอบ ทวงเงินกองทุนฯ 5 ล. เบิกจ่ายแล้วเอาคืนยังไง?)
อย่างไรก็ดี ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้การยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวใน ปปง. ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่หลายรายที่ถูก ปปง.ออกหนังสือทวงเงินคืนเข้ากองทุนฯ จริง
ยืนยันได้จากหนังสือ ปปง. ที่ส่งถึง พันตำรวจโทรายหนึ่ง ระบุเนื้อหาว่า "สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( ปปง.) ได้จัดสรรเงินค่าตอบแทนตามมาตรา 59/6 แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2552 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อจ่ายให้แก่ท่าน ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสํานักงาน ปปง. แล้ว จํานวน 3 ครั้ง รวมเป็นเงินจํานวน 33,693.47 บาท
โดยมี รายละเอียดดังนี้
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 เป็นเงินจํานวน 17,543.85 บาท
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 เป็นเงินจํานวน 15,974.44 บาท
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 เป็นเงินจํานวน 175.18 บาท
แต่เนื่องจากสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการพิจารณาข้อหารือของคณะกรรมการ กฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ตามบันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ขอทบทวนกรณีผู้มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่าย หรือค่าตอบแทนจากกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามมาตรา 59/6 แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 (เรื่องเสร็จที่ 1105/2561)
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีความเห็นว่า สํานักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสํานักงาน ปปง. ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจําเป็นต้องจ่ายตามมาตรา 59/6 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่กองทุนการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยลาภมิควรได้
สํานักงาน ปปง. จึงขอให้ท่านนําส่งคืนเงินค่าตอบแทนที่ได้รับข้างต้น รวมเป็นเงินจํานวน 33,693.47 บาท (สามหมื่นสามพันหกร้อยเก้าสิบสามบาทสี่สิบเจ็ดสตางค์) ให้แก่สํานักงาน ปปง. (สํานักงาน เลขานุการกรม ส่วนการคลัง) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ท่านได้รับหนังสือฉบับนี้ เพื่อที่สํานักงาน ปปง. จะได้ นําส่งคืนกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป" (ดูหนังสือประกอบ)
แหล่งข่าวจาก ปปง. กล่าวยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า พันตำรวจโทรายนี้ ที่ถูกปปง.ทวงเงินคืนจำนวน 3 หมื่นกว่าบาท เป็นบุคคลคนเดียวกับที่เข้ายื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวหาว่า อดีตผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งใน สำนักงาน ปปง. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยใช้อำนาจสั่งการพนง.นำของกลางจากการใช้อำนาจสั่งยึด/อายัด ส่งให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งสั่งให้ทรัพย์สินเหล่านั้น ตกเป็นของแผ่นดินแล้วมาทอนเงินให้โดยผ่านระเบียบเงินสินบนรางวัล และหน่วยงานที่ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ได้ส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. รับไปสอบสวนต่อ พร้อมนำเงินสดจำนวน 1.7 หมื่นบาท ที่ได้รับจัดสรรมาไปมอบให้ป.ป.ช. เป็นของกลางในการสอบสวนด้วยนั้นเอง
ส่วนพันตำรวจโท รายนี้ เป็นใคร? และมีข้อมูลสำคัญอะไรอยู่ในมือ ที่จะเปิดเผยต่อสาธารณชนบ้าง? คงจับตาดูกันต่อไป