ความตายของคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา จะนำไปสู่การเปลี่ยนใหญ่ประเทศไทยได้อย่างไร
ถ้ากลุ่มคิงพาวเวอร์เริ่มต้น 1 จังหวัด เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ต่อไปก็จะมีกลุ่มบริษัทอื่นตามจนครบ 76 จังหวัด “อนาถบิณฑิกเศรษฐีไทยกับการลดความเหลื่อมล้ำ” ก็จะเป็นความจริงให้โลกเห็นว่า หัวใจแห่งความเป็มนุษย์เป็นธรรมชาติที่มีอยู่จริง และการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอันเป็นศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างสังคมสันติสุข ที่มีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล ระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับธรรมชาติแวดล้อมได้
ความตายของคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ และทั่วไปในโลก ก่อให้เกิดความสลดใจโดยทั่วกัน ถ้าเราสามารถทำให้ความสูญเสียเศร้าสลดเป็นจุดเปลี่ยนของบางสิ่งบางอย่างที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติและมหาชน ก็จะเป็นกุศลอันใหญ่หลวง
เมื่อเร็วๆ นี้ คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ปรารภกับผมว่า จากรายงานของนิตยสารฟอร์บส์ ประเทศไทยมีมหาเศรษฐีที่มีเงินเกิน 1 พันล้านดอลล่าห์ (33,000 ล้านบาท) ขึ้นไปอยู่ 28 คน คนเหล่านี้มีศักยภาพสูง เราน่าจะคิดถึงเรื่อง “อนาถบิณฑิกเศรษฐีไทย กับการลดความเหลื่อมล้ำ”
“อนาถบิณฑิกเศรษฐี” ชื่อนี้ติดมาในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรเป็นจำนวนมากที่เริ่มต้นว่า “สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ณ เชตวัน อันเป็นอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี สมญานามอนาถบิณฑิกะก็มาจากการที่ชอบสงเคราะห์คนอนาถาไร้ที่พึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงเป็นมงคลนาม
ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของไทยและของโลก ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่นำโดยสหรัฐอเมริกา กำลังเกิดความเหลื่อมล้ำสุดๆ ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นที่ 2 หรือที่ 3 ในโลก ความเหลื่อมล้ำที่มากเกินไปคือความไม่เป็นธรรมทางสังคม นำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพและปัญหาทางสังคมนานัปการ เช่น อัตราตายในทารก อายุขัย การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปัญหาสุขภาพจิต ยาเสพติด อาชญากรรม ความรุนแรง รวมทั้งปัญหาทางการเมือง เช่น ปรากฎการณ์ทรัมป์ในสหรัฐอเมริกา ปัญหาต่างๆ เหล่านี้แก้ไขไม่ได้ถ้าไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำ แต่ความเหลื่อมล้ำก็แก้ได้ยากสุดๆ
การพัฒนาเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ อย่างเดิม แก้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ แต่ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ฉะนั้นการลดความเหลื่อมล้ำจึงเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศที่ท้าทายความสามารถของประเทศไทย
ในสังคมปัจจุบันคนเก่งๆ ไปอยู่ในภาคธุรกิจมากที่สุด ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ หรือมหาวิทยาลัยอีกต่อไป ยังมองไม่เห็นว่าระบบราชการ หรืออุดมศึกษา หรือการเมือง โดยลำพังตัวเองจะมีศักยภาพในการลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร นี้เป็นเหตุผลว่าทำไมภาคธุรกิจควรเข้ามามีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำ
หลายสิบปีมาแล้วผมเคยปรารภกับเพื่อนชาวอินเดียชื่อแบเนอจี ซึ่งเป็นนักวิชาการสายมาร์กซิสม์ ถึงความคิดเรื่องบทบาทของภาคธุรกิจกับการพัฒนา แบเนอจีตอบผมว่า “ดร.ประเวศ you can never train tiger to be vegetarian !” – คุณไม่สามารถฝึกเสือให้เป็นมังสวิรัติได้หรอก แต่ผมไม่เคยเชื่อแบบแบเนอจี เพราะผมไม่เชื่อว่าอะไรมีธรรมชาติที่ตายตัว
อนาถบิณฑิกเศรษฐีไทยกับการลดความเหลื่อมล้ำทำได้อย่างไร ?
อาจทำได้ดังนี้
1. กลุ่มบริษัทส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ถ้าคิด 28 กลุ่มบริษัท ต่อ 76 จังหวัด ก็เท่ากับ 1 กลุ่มบริษัทต่อ 3 จังหวัด แต่กลุ่มบริษัทที่มีทรัพย์สินน้อยกว่า 1 พันล้านดอลล่าห์ ก็สามารถทำเรื่อง “อนาถบิณฑิกเศรษฐีไทยกับการลดความเหลื่อมล้ำ” ได้ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า 1 กลุ่มบริษัทส่งเสริม 1 จังหวัดเท่านั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณวิชัย กลุ่มคิงพาวเวอร์อาจเริ่มต้นก่อน 1 จังหวัด การมีขอบเขตพื้นที่เป้าหมายชัดเจนทำให้ทำงานง่ายขึ้น
2. ใน 1 จังหวัดขนาดกลาง โดยเฉลี่ยประกอบด้วย 100 ตำบล และ 1,000 หมู่บ้าน 1 : 100 : 1,000 คือหน่วยของการส่งเสริม โดย ระดับจังหวัด คือประชาคมจังหวัด ระดับตำบล คือประชาคมตำบล ระดับหมู่บ้านหรือชุมชน คือสภาผู้นำชุมชนหรือองค์กรชุมชน
ประชาคมจังหวัด ประชาคมตำบล และสภาผู้นำชุมชน ควรได้รับการส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการ โดยมีชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง การพัฒนาอย่างบูรณาการ 8 เรื่อง เชื่อมโยงอยู่ในกันและกัน คือ “เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม – วัฒนธรรม – สุขภาพ – การศึกษา – ประชาธิปไตย“ โดยแต่ละเรื่องสามารถตั้งเป้าหมายได้ เช่น ด้านเศรษฐกิจมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ฯลฯ
3. ทรัพยากรเพื่อการพัฒนา ในแต่ละพื้นที่และที่จะดึงมาได้จากนอกพื้นที่นั้น มีมากมายมหาศาล แต่ทรัพยากรเหล่านี้อยู่อย่างกระจัดกระจาย ขาดวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมจึงขาดความมุ่งมั่นร่วมกันจึงไม่มีพลังในการพัฒนา กลไกที่เป็นทางการไม่สามารถรวมพลังเหล่านี้ได้ เพราะความเป็นทางการเน้นกฎหมาย กฎระเบียบ และการควบคุม ภาคธุรกิจมีจุดแข็งที่ความคล่องตัวในการจัดการไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งอาจเรียกว่าสัมฤทธิศาสตร์ สัมฤทธิศาสตร์เป็นส่วนที่ขาดหายไปในระบบที่เป็นทางการ และเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจะมีจุดแข็งเรื่อง สัมฤทธิศาสตร์มากที่สุดที่ภาคอื่นๆ ไม่มี จึงควรใช้จุดแข็งนี้เข้ามาอุดช่องโหว่ของระบบที่เป็นทางการ
กลุ่มบริษัทควรสำรวจทรัพยากรเพื่อการพัฒนาทั้งหมดในจังหวัด และที่จังหวัดจะดึงเข้ามาใช้ได้ และส่งเสริมให้เกิดวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วม และรวมพลังทั้งในระดับจังหวัด ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน เต็มพื้นที่จังหวัด
4. ขณะนี้มีตัวอย่างเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับจังหวัด กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น เรื่องเกษตรพึ่งตนเอง เรื่องวิสาหกิจชุมชน เรื่องการจัดการท่องเที่ยวชุมชน การจัดการขยะ พลังงานชุมชน ธนาคารความดี การจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น การดูแลผู้สูงอายุในชุมชน การมีสถาบันการเงินของชุมชน ฯลฯ
มีตัวอย่างสถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบลที่จัดการได้ดี มีเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท (ใน 1 ตำบล) สถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบลเป็นเครื่องมือของประชาชนในการออม การลงทุน การฝึกอบรม การอาชีพ และสวัสดิการสังคม สถาบันการเงินของชุมชนเช่นนี้ ควรมีในทุกตำบลทั่วประเทศ
กลุ่มบริษัทควรศึกษาสำรวจทั่วประเทศว่าขณะนี้มีชุมชนท้องถิ่นใด มีความเข้มแข็งทำเรื่องดีๆ อะไร แล้วนำ เรื่องดีๆ ทุกเรื่องมาส่งเสริมต่อยอดให้เกิดขึ้นเต็มพื้นที่จังหวัด ที่ตนส่งเสริม ภาคธุรกิจชำนาญเรื่องการต่อยอดความสำเร็จอยู่แล้ว
5. ทรัพยากรทางการศึกษา เป็นตัวอย่างหนึ่งของทรัพยากรมหาศาลเพื่อการพัฒนา แต่ไม่ได้เข้ามาสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการ เรามีโรงเรียนประมาณ 40,000 แห่ง ครูประมาณ 600,000 คน นักเรียนเกือบ 10 ล้านคน มหาวิทยาลัยกว่า 100 นิสิตกว่า 1 ล้าน กำลังทั้งหมดนี้ใช้ไปในการท่องไม่ใช่เรียนรู้จากการทำ ถ้าพลิกจากการท่องเป็นทำจะมีพลังในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมมหาศาล แต่ระบบการศึกษาไม่สามารถพลิกเช่นนี้ได้ด้วยตัวเอง ภาคธุรกิจสามารถหานวัตกรรมในการจัดการ ที่ช่วยให้ระบบการศึกษาในพื้นที่สามารถปรับตัวมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างบูรณาการ ถ้ามีอย่างน้อย 1 มหาวิทยาลัย ทำงานกับพื้นที่ 1 จังหวัด พื้นที่จะเข้มแข็งขึ้น และมหาวิทยาลัยจะเข้มแข็งขึ้น
ุ6. ระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารของพื้นที่ ในการพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการโดยเอาชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้งควรมีข้อมูลข่าวสารเต็มพื้นที่ และสื่อสารให้รู้ถึงกัน รวมทั้งสื่อสารออกไปภายนอก ระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่ดีจะช่วยให้พื้นที่เรียนรู้จากกันและเข้มแข็งโดยรวดเร็ว
7. ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจต่อรองเชิงนโยบาย การมีอำนาจต่อรองเชิงนโยบายจะลดความเหลื่อมล้ำลงไปเรื่อยๆ เพราะต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำก็คือความเหลื่อมล้ำเรื่องอำนาจ เมื่อชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นในการจัดการเรื่องต่างๆ ของตนเองและเชิงนโยบาย ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง และนี้ก็คือสาระของประชาธิปไตย
8. การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ระหว่างทุกฝ่ายในสถานการณ์จริง คือเครื่องมืออันทรงพลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) และความสำเร็จ เพราะในกระบวนการนี้มีการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคนำไปสู่ภารดรภาพ และสามัคคีธรรม คือการรวมพลัง และการเกิดขึ้นของปัญญาร่วม (Collective wisdom) นวัตกรรม และอัจฉริยภาพกลุ่ม (Group genius) ทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ และเกิดปีติสุขร่วมกันอย่างใหญ่หลวง
9. การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) 3 ระดับ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน 3 ระดับ คือ ระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับสังคม การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกในโลกทัศน์ วิธีคิด และจิตสำนึก และเปลี่ยนสัมพันธภาพ จากสัมพันธภาพทางดิ่งหรือเชิงอำนาจ เป็นสัมพันธภาพด้วยความเคารพ ไมตรีจิต และการเรียนรู้ระหว่างกัน (Associational transformation) สัมพันธภาพใหม่จะให้ความสุขอย่างลึกล้ำและพลังของความสร้างสรรค์ สังคมจะเปลี่ยนโครงสร้างจางสังคมทางดิ่งเป็นสังคมเครือข่ายคล้ายสมอง ที่บุคคลและองค์กรเข้ามาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ สังคมเครือข่ายคล้ายสมองจะมีชีวิตของตนเอง ขยายตัวและมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถสร้างการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้ง เศรษฐกิจ - จิตใจ - สังคม - สิ่งแวดล้อม - วัฒนธรรม - สุขภาพ - การศึกษา –ประชาธิปไตย ในทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล และทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย
10. Transformation เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้ฐานมากกว่าการปฏิรูป (Reform) และการปฏิวัติ (Revolution) ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์อยู่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน ถ้าสภาวการณ์เหมาะสมธรรมชาติแห่งความดีงามในตัวมนุษย์จะผุดบังเกิด ดังในกรณีทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงที่เชียงราย คนทั้งมวลล้วนมีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ไม่คิดเชิงปฏิปักษ์ รวมใจก้าวข้ามการแบ่งแยกทุกประเภท ไม่มีซ้ายขวา เหลืองแดง กรมกอง ทางการหรือไม่เป็นทางการ คนมุสลิมเป็นหมื่นๆ คนสวดอ้อนวอนให้ทีมหมูป่ารอดชีวิต ฯลฯ ทั้งหมดนี้คืออาริยพละซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ซึ่งจะผุดบังเกิดออกมาในสถานการณ์บางอย่าง สภาวการณ์นั้นคือเพื่อนมนุษย์ 13 คน อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แท้ที่จริงเราทั้งหมดเหมือนติดอยู่ในถ้ำแต่เราไม่รู้ ถ้ารู้อาริยพละก็จะผุดบังเกิดขึ้นเต็มประเทศ เป็นพลังที่เราทั้งหมดจะออกจากถ้ำไปด้วยกันได้
ภาคธุรกิจที่มีความสามารถสูงมีมากกว่า 76 กลุ่มบริษัท เพราะฉะนั้น 1 บริษัท / 1 จังหวัด จึงมีความเป็นไปได้ ถ้ากลุ่มคิงพาวเวอร์เริ่มต้น 1 จังหวัด เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ต่อไปก็จะมีกลุ่มบริษัทอื่นตามจนครบ 76 จังหวัด “อนาถบิณฑิกเศรษฐีไทยกับการลดความเหลื่อมล้ำ” ก็จะเป็นความจริงให้โลกเห็นว่าหัวใจแห่งความเป็มนุษย์เป็นธรรมชาติที่มีอยู่จริง และการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอันเป็นศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างสังคมสันติสุข ที่มีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล ระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับธรรมชาติแวดล้อมได้ อันเป็นสังคมศรีอาริยะ
คนไทยอาจจะตั้งเป้าว่าภายในปี 2570 หรือ 2575 เราจะล่วงเข้าสู่ยุคศรีอาริยะ
2570 ก็เพราะจะครบ 100 ปี แห่งพระราชสมภพของพระเจ้าอยู่หัว ร.9 สำหรับคนที่อยากจะรำลึกถึงพระองค์
2575 ก็เพราะจะครบ 100 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สำหรับคนที่อยากจะรำลึกถึงประชาธิปไตย
บางคนก็อยากจะรำลึกถึงทั้ง 2570 และ 2575 ซึ่งเราอาจเรียกว่ารำลึกถึงประชาธิปไตย – ธรรมาธิปไตย ก็ได้
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/LeicesterTH/photos/a.555036074535377/2055396654499304/?type=3&theater