สัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรีครั้งใหม่ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ที่ดีกว่า
ดิวตี้ฟรีวันนี้รายได้เข้ารัฐไทย 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เกาหลีใต้ 3 แสนล้านบาทต่อปี เรามีโอกาสสร้างรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นอีก หากมีหลายเจ้า มีสินค้าหลากหลาย แต่ปัญหา คือ ทั้งในเมือง -สนามบินมีอยู่เจ้าเดียว เลยไปได้แค่นี้ ฉะนั้นดิวตี้ฟรีควรมีการแข่งขัน
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ให้สัมภาษณ์ในรายการพินิจเศรษฐกิจการเมือง ทาง FM.101.5 NHz ถึงสัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรีครั้งใหม่ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ที่ดีกว่าว่า ที่ผ่านมาระบบการประมูลที่ไทยใช้อยู่เดิม ทำให้ธุรกิจนี้ตกเป็นของผู้ประกอบการรายเดียว (master concession)สิ่งที่ดีคือบริหารง่าย แต่ก็ทำให้ขาดความหลากหลายของสินค้า ราคา และไม่มีการแข่งขัน หากเทียบกับการมีดิวตี้ฟรีมากกว่า 1 ราย
สำหรับรายได้เข้ารัฐนั้น ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า หากมีการผูกขาด สินค้าน้อย ราคาสูง คนก็ซื้อน้อย จึงคิดว่ากำไรสูงอยู่แต่รายได้ไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งหากมีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย รายได้เข้ารัฐจะมากขึ้น
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ได้ยกตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ มีรายได้จากการใช้จ่ายต่อหัวมากกว่าไทยถึง 5 เท่า ทั้งที่จำนวนนักท่องเที่ยวใกล้เคียงกันที่ 60 ล้านคนต่อปี และสินค้าไทยไม่ได้ด้อยกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในสนามบินมีสัมปทานร้านดิวตี้ฟรีถึง 12 ราย แบ่งตามพื้นที่ไปตามจุดต่างๆ และแบ่งตามลักษณะสินค้าเพื่อให้เกิดความหลากหลาย กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้มีรายได้เข้ารัฐสูงถึง 40% ไม่ใช่ 17% แบบของไทย
"เราต้องตั้งคำถามแล้วว่า ระบบสัมปทานแบบรายเดียว หรือ master concession ดีจริงหรือ ขณะที่รอบข้างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย หรือมาตรฐานทั่วโลกไม่มี master concession แล้ว"
ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า ในอีก 2 ปี สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิจะหมดอายุลง ข้อเสนอสำคัญที่รัฐควรพิจารณาคือ การเปลี่ยนกติกาการประมูลสัมปทาน ซึ่งมีอีกหลายรูปแบบจากตัวอย่างต่างประเทศ ดิวตี้ฟรีวันนี้รายได้เข้าประเทศไทย 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เกาหลีใต้ 3 แสนล้านบาทต่อปี เราจึงมีโอกาสสร้างรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นอีก หากมีดิวตี้ฟรีหลายเจ้า มีสินค้าหลากหลาย แต่ปัญหาก็คือ ทั้งในเมืองทั้งสนามบินมีอยู่เจ้าเดียว เลยไปได้แค่นี้ ฉะนั้นดิวตี้ฟรีควรมีการแข่งขันทั้งสนามบินและในเมือง ซึ่งดิวตี้ฟรีในเมืองกระทรวงการคลังต้องเข้ามาดูแล กำหนดให้ใบอนุญาตประกอบดิวตี้ฟรีในเมือง และท่าอากาศยานออกแบบ พื้นที่จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในสนามบิน หรือที่เรียกว่า Pick Up Counter
ดร.เดือนเด่น กล่าวถึงดิวตี้ฟรีที่เกาหลีใต้ กระจายไปทั่วเมือง และมีหลายเจ้า แต่ของไทยยังผูกขาดเจ้าเดียว ขณะที่ Pick Up Counter ก็ต้องให้กับทุกรายไม่ใช่รายเดียวแบบที่เป็นอยู่ ในต่างประเทศ Pick Up Counter จะไม่ใช่เป็นของเอกชนรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น หลายประเทศกฎหมายกำหนดผู้บริหารท่าอากาศยานต้องจัด Pick Up Counter ให้กับร้านค้าปลีกทุกร้านอย่างเท่าเทียมกัน เรื่องนี้ยังเป็นจุดอ่อนของเราอยู่
สำหรับข้อเสนอขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เสนอให้การประมูลดิวตี้ฟรีรอบใหม่ ใช้ข้อตกลงคุณธรรม (integrity pact) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการประมูลนั้น ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า การเปิดให้ตัวแทนภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสังเกตุการณ์ มีสิทธิเสนอข้อคิดเห็น ข้อคัดค้านได้นั้น บทบาทผู้สังเกตุการณ์จะเข้าไปดูตั้งแต่กระบวนการร่างทีโออาร์ เสนอข้อคิดเห็นได้ เชื่อว่า จะช่วยให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สัมปทานดิวตี้ฟรีกับเงินแสนล้าน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ชงบิ๊กตู่ ใช้ 'ข้อตกลงคุณธรรม' ประมูลดิวตี้ฟรีรอบใหม่