"วิษณุ เครืองาม" เหลียวหลังมองการพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมาก้าวสะเปะสะปะ
เวลาที่ผ่านมาแม้ไทยจะก้าวเดินมาโดยตลอด แต่วันนี้ไม่ได้แล้ว เพราะกระแสโลกเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยจำเป็นต้องก้าวเดินอย่างมีเป้าหมายชัดเจน ไม่เดินสะเปะสะปะ
วันที่ 5 พฤศจิกายน คณะกรรมการสวัสดิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดกิจกรรมดินเนอร์ทอล์ก (Dinner Talk) หัวข้อ “ก้าวต่อไปของประเทศไทย” ณ ห้องเพลนารี 2-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาตอนหนึ่งถึงการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาไทยเดินสะเปะสะปะ ขาดจุดหมาย ขาดเป้าประสงค์ ไม่แน่ชัดจะเดินไปทางไหน อย่างไร เวลาเราออกเดิน หรือขับรถจะสะเปะสะปะไม่ได้ การก้าวต่อไปของประเทศไทยก็เช่นกันจะก้าวสะเปะสะปะไม่ได้อีกแล้ว
"ผมนึกถึงปีที่แล้ว ปลายปี เลขาธิการโออีซีดี เดินทางเยือนไทย และได้แนะนำประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกโออีซีดี ด้วยเห็นว่า บ้านเรามีเป้าหมาย มียุทธศาสตร์ชาติ เห็นอนาคต และกำลังมีการปฏิรูปประเทศ "
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ไทยจะก้าวเดินมาโดยตลอด แต่วันนี้ไม่ได้แล้ว เพราะกระแสโลกเปลี่ยนแปลงไป ช่วงที่ผ่านมาเราเดินสะเปะสะปะไม่มีเป้าหมายชัดเจน ถือเป็นการก้าวเดินที่ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศเท่าที่ควร ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัย 4 ประการ
1. การยึดอำนาจทำให้คนหวาดระแวง ไม่มั่นใจ ความเชื่อมั่นลดลง
2.ความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ ซึ่งทำให้การลงทุนชะงักงัน
3.การไม่ตอบสนองพันธกิจระหว่างประเทศ ไม่ทำตามสิ่งที่ได้พูดได้ จากเหตุภายในประเทศ เช่น รัฐบาลบางยุคเข้าทำเนียบรัฐบาล เข้าสภาฯ ไม่ได้ เป็นต้น ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ได้แก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร การครอบครองงาช้าง กฎหมายป้องกันการฟอกเงินที่เกี่ยวกับการค้าอาวุธสงคราม ยาเสพติด ออกฎหมายประมง เดินเรือ แรงงาน การต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมถึงเรื่องการเดินอากาศ นี่คือพันธกรณีระหว่างประเทศที่สำคัญสำเร็จเสร็จสิ้นสมัยนี้
4.ความไม่มั่นใจในอนาคตประเทศไทยก้าวเดินไปอย่างไร
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งคือเป้าหมายการพัฒนาประเทศว่าจะพัฒนาเรื่องใด อย่างไร ในทิศทางใด 20 ปีเป็นตัวเลขจากวันนี้ประกาศใช้ ใครมาเป็นรัฐบาลสามารถเปลี่ยนได้ ไม่มีอะไรห้าม หรือจะรื้อ เปลี่ยน ปรับ เพิ่ม ตัดออกก็ได้ เพียงแต่เราต้องการบอกให้โลกรู้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ฉะนั้น ในภาพรวมบ้านเมืองเรามีความสงบเรียบร้อย เราปฏิบัติตามพันธกิจระหว่างประเทศหลายเรื่อง ขณะที่เป้าหมายในอนาคตเราก็ออกยุทธศาสตร์ชาติ 61 หน้ากระดาษ A4 ออกมาให้เห็น ซึ่งจะมีแผนแม่บทรายละเอียดกำหนดต่อไป
"การก้าวต่อไปข้างหน้าจำเป็นที่เราต้องยืนบนพื้นฐานที่มั่นคง 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลทำให้ฐานที่มีอยู่ในวันนี้มั่นคง รองรับที่เราจะก้าวเดินต่อไปได้อย่างสง่างามด้วยความร่วมมือแม่น้ำ 5 สาย 2 สาย (สายปฏิรูป และร่างรัฐธรรมนูญ) ทำงานจบแล้ว เหลือสายคสช. ครม.และสนช."
นายวิษณุ กล่าวว่า 4 ปี สนช.ได้ออกกฎหมายประมาณ 300 ฉบับ เป็นกฎหมายที่บ้านเมืองรอคอยมานานแสนนาน หากจำแนกก็เป็นกฎหมายออกเพื่อตอบสนองพันธกรณีระหว่างประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ (กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ) และกฎหมายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งเด็ก สตรี คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง การตั้งครรภ์ก่อนวันอันสมควร กฎหมายความเสมอภาคทางเพศ และกฎหมายคุ้มครองสัตว์ เป็นต้น รวมถึงกฎหมายจัดระเบียบราชการให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นงานชิ้นโบว์แดง นั่นก็คือ พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกฯ ที่นับวันจะออกฤทธิ์แรงขึ้นทุกที
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เมื่อแม่น้ำ 5 สายเข้ามาในปี 2557 ย้อนกลับไป 7 ปี เรามีรัฐบาลหลายชุดทั้งยุบสภาและเลือกตั้ง แต่ช่วงเวลานั้น 2551-2557 เป็น 7 ปีที่มีกฎหมายออกมา 120 ฉบับ หรือเฉลี่ยปีหนึ่งออกมา 17 ฉบับ จึงไม่แปลกเมื่อคสช.เข้ามา กระทรวง ทบวง กรม เข้าคิวให้ออกกฎหมาย
"ปัจจุบันถือว่า เรามีฐานกฎหมายพอสมควรแล้ว วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2561 จะเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีเสนอกฎหมายเข้าสู่สนช.เป็นวันสุดท้าย โดยสนช.ทำงานพิจารณากฎหมายถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 (7 วันก่อนเลือกตั้ง) เสร็จก็คือเสร็จไม่เสร็จก็หยุดการพิจารณาอยู่แค่นั้น"
ส่วนโครงสร้างพื้นฐานนั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลนี้ได้เริ่มไว้ให้ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางเดี่ยว ทางคู่ รวมถึงถนนหนทาง เหล่านี้มีความจำเป็นที่เราจะก้าวเดินต่อไป รวมถึงเขตพัฒนาพิเศษ หรืออีอีซี ครอบคลุม 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีมหาวิทยาลัย มีสนามบิน มีมอเตอร์เวย์ มีทางด่วนไปถึง เติมอีกนิดเดียวก็เติบโต และเป็นแม่เหล็กดึงดูนักลงทุนได้
สำหรับการหยดน้ำมันไปที่เอสเอ็มอี หรือวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เอสเอ็มอีเบี้ยน้อยหอยน้อย แรงน้อย ทุนน้อย รัฐจำเป็นต้องช่วยเขาให้มาก รัฐบาลทำไปหลายเรื่อง ซึ่งก็จะเป็นฐานหนึ่งที่สำคัญ
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงช่วงเวลาการเลือกตั้ง การปลดล็อกทางการเมือง และการหาเสียงของพรรคการเมืองว่า มีการกำหนดวันเลือกตั้งแล้วน่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามคำแนะนำของ กกต.ส่วนการปลดล็อกทำกิจกรรมทางการเมืองต้องรอหลังวันที่ 11 ธันวาคม 2561 เมื่อมีการออกพระราชกฤษฎีกา เรื่องที่ต้องระวัง คือไม่ให้ภาวะสะเปะสะปะกลับมาอีก ซึ่งคงอยู่ที่ความสามารถของรัฐบาลชุดต่อไป เดินตามครรลองที่ควรจะเป็น
"ความสามัคคีปรองดอง ความสงบร่มเย็น ยาเหล่านี้เท่านั้นจะทำให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ แม่น้ำ 5 สายไม่มีอีกต่อไปแล้ว เหลือพลังประชาชนเท่านั้น"