'นพ.วิทยา' เสนอรัฐเชื่อมฐานข้อมูล 4.0 ในบัตรปชช. บันทึกพฤติกรรมขับขี่-ลดอุบัติเหตุ
ไทยเจ้าภาพจัดประชุมส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 ถกแนวทางแก้ไขอุบัติเหตุ-ความรุนแรง 'นพ.วิทยา' เสนอรัฐเชื่อมฐานข้อมูล 4.0 ในบัตรปชช.ใบเดียว บันทึกพฤติกรรมขับขี่ เชื่อควบคุมได้
วันที่ 5-7 พ.ย. 2561 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ THE 13TH WORLD CONFERENCE ON INJURY PREVENTION AND SAFETY PROMOTION (SAFETY 2018) หรือ “การประชุมว่าด้วย การป้องกัน การบาดเจ็บ และการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13” ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นประเทศที่สองของจากภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รับเกียรติครั้งนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทั่วโลก รับมือและแก้ปัญหา เจ็บ-ตาย จากอุบัติเหตุทางถนน และความไม่ปลอดภัยในชีวิต ยกเวียดนามต้นแบบความสำเร็จยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ เปิดเผยว่า ปัญหาความรุนแรงและการบาดเจ็บ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างเร่งดำเนินการ เพื่อวางมาตรการและนโยบายต่างๆ ในการลดความสูญเสีย โดยเฉพาะในเรื่องอุบัติเหตุทางถนนอันเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ ที่คร่าชีวิตและก่อให้เกิดความพิการ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตประชากรโลก
โดยจากสถิติองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สูงถึง 1.2 ล้านราย ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยยังคงเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดถูกจัดอันดับประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกและมีแนวโน้มขึ้นเป็นอันดับ 1 โดยจากรายงานผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตมากถึง 22,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 3,000 ราย
จากการวิเคราะห์ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลงได้ เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ
1. ระบบจัดการอุบัติเหตุความปลอดภัยทางถนน ยังไม่ได้ถูกจัดตั้งให้เป็นหน่วยงานสถาบันหรือองค์กรที่รับผิดชอบ และขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวโดยตรง แม้ปัจุจบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มีความพยายามผลักดันให้มีหน่วยงานกลางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นรูปธรรม
2. ความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเท่าที่ควร เช่น การสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัย การขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด และเมาไม่ขับ หรือแม้กระทั่งการขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่
“ในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนาม มีความก้าวหน้าและบริหารจัดการได้ดีกว่าประเทศไทย มีการจัดตั้ง National Traffic Safety Committee (NTSC) เป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนและบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราผู้เสียชีวิต โดยในระยะ 10 ปี พบว่าสามารถลดการบาดเจ็บทางสมองลงได้กว่า 5 แสนราย ป้องกันการเสียชีวิต 1.5 หมื่นคน ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจลงได้มูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท หรือ 3,500 ล้าน USD ควบคู่ไปกับนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลด้านการขับขี่เชื่อมโยงทั่วประเทศ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ บังคับใช้กฎหมายและลงโทษผู้ฝ่าฝืน ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 จึงควรบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ด้านการจราจรเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งหากทำได้สำเร็จในอนาคตบัตรประชาชนเพียงใบเดียว จะมีข้อมูลทุกเรื่องซึ่งรวมถึงการบันทึกพฤติกรรมใช้รถใช้ถนน และข้อมูลใบอนุญาตขับขี่ โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องพกบัตรหลายใบ” นายแพทย์วิทยา กล่าว
ด้าน นายแพทย์อีเทียน ครูกก์ ผู้อำนวยการกองการจัดการโรคไม่สามารถติดต่อได้, ความพิการ, การป้องกันความรุนแรงและการบาดเจ็บ องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า นับเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทย ที่เร่งดำเนินงานแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุ โดยมีนโยบายที่ชัดเจน เช่น การป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ความรุนแรงแรงในเด็ก และการป้องกันเด็กจมน้ำ เป็นต้น แต่การขับเคลื่อนยังดำเนินไปค่อนข้างช้า เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ รวมถึงต้องมีการสื่อสารและเพิ่มฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่นทั่วโลก จำนวนกว่า 1.3ล้านคนต่อปี ต้องปรับปรุงระบบการขนส่งให้ดี ประเทศไทยต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะไทยมีอัตราการสูญเสียเป็นอันดับต้นๆของโลก ซึ่งหวังว่าไทยจะได้เรียนรู้จากการประชุมในครั้งนี้ รวมทั้งหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบหลัก ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี การจัดการถึงจะดำเนินการไปได้ด้วยดี ทำยังไงให้เรื่องการตายเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ และต้องสร้างความปลอดภัยกับประชาชนทุกกลุ่ม ย้ำว่าต้องพูดคุยกันให้มากขึ้น ไม่เพียงแต่การบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น
ขณะที่ นางโซเลกา แมนเดลา ทูตรณรงค์ด้านการสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย กล่าวเสริมว่า ในฐานะตัวแทนแม่และเด็กจากแอฟริกา กรณีอุบัติเหตุรถชนเด็กเป็นเรื่องที่ท้าทายในการดำเนินงานเพื่อลดและป้องกันการเกิดเหตุ เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ใครก็รับไม่ได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองที่ลูกเสียชีวิตจากการถูกคนเมาแล้วขับรถชน เช่นเดียวกับหลายครอบครัวทั่วโลกที่ต้องสูญเสียสมาชิกและคนที่รักในครอบครัว ดังนั้น การป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการบาดจากสาเหตุอื่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กทั่วโลกที่ต้องใช้ยานพาหนะจะทำอย่างไรให้เด็กทุกคนสามารถเดินทางไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีนโยบาย และสัญญากับประชาชนว่าจะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง รวมถึงสร้างหรือปรับปรุงถนนให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน
ทั้งนี้ นอกจากประเด็นความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ถนนที่เปราะบาง เช่น ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ จักรยาน คนเดินเท้า เป็นต้น (Road safety focus on vulnerable road users) ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ก่อให้เกิดความรุนแรง การบาดเจ็บ และความสูญเสีย ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ การจัดประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ THE 13TH WORLD CONFERENCE ON INJURY PREVENTION AND SAFETY PROMOTION (SAFETY 2018) หรือ การประชุมว่าด้วย การป้องกัน การบาดเจ็บและการส่งเสริม ความปลอดภัย ครั้งที่ 13 นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะเรียนรู้การแก้ปัญหาด้านต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกหารือร่วมกัน เพื่อหาทางรับมือและช่วยกันแก้ปัญหา
ประกอบด้วย ความรุนแรงในเด็กและสตรี (Violence) การบาดเจ็บในเด็กและความปลอดภัยในชุมชน (Child safety and injury) การป้องกันการจมน้ำ (Drowning) การสนับสนุนเชิงนโยบาย (Evidence/Policy) ชุมชนปลอดภัย (Community Safety) ความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ (Occupational Safety) การป้องกันการล้ม (Fall) ความปลอดภัยจากการกีฬา (Sport Safety) การบาดเจ็บจากการไหม้ (Burn) การป้องกันอื่นๆ (Other Prevention) การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Services : EMS) และการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation) เป็นต้น
โดยผลจากการประชุมหารือกันในครั้งนี้ ผู้แทนจาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ องค์การอนามัยโลก (WHO) จะนำผลจากการประชุมในครั้งนี้จัดทำข้อเสนอต่อประชาคมโลก ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วยนำมากำหนดเป็นนโยบายบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อความผาสุขของคนไทย และตอบสนองตัวชี้วัดของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs.) ต่อไป
ที่มา:https://www.roadsafetynewstizen.com/2018/11/05/safety2018/#.W-AP0yKDLKU.lineme