โรคหัดระบาดไม่หยุด เด็กปัตตานีเสียชีวิตเพิ่มอีก 2
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการระบาดของ "โรคหัดในเด็ก" อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์แค่ 2 วัน มีเด็กเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน ที่น่าสลดใจก็คือ เป็นเด็กที่อายุยังไม่ถึง 1 ขวบทั้งคู่ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโรคหัดรอบนี้ สูงถึง 14 คนแล้ว
เด็กที่เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน คนแรกสิ้นใจช่วงเกือบๆ ตี 3 ของวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน โดยเจ้าหน้าที่จากงานระบาดวิทยา โรงพยาบาลปัตตานีรายงานว่า ผู้เสียชีวิตเป็นเด็กหญิงอายุเพียง 9 เดือน น้ำหนักตัว 5 กิโลกรัม โดยก่อนเป็นโรคหัด เด็กมีภาวะทุพโภชนาการ หรือขาดสารอาหารอยู่แล้ว ครอบครัวของเด็กอยู่ที่ตำบลระแว้ง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคหัดหนักที่สุดของจังหวัด
เด็กผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน ด้วยอาการหายใจหอบ และหน้าอกบุ๋ม แม้แพทย์จะทำการรักษาอย่างสุดกำลัง แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตเอาไว้ได้ โดยเด็กหญิงคนนี้มีประวัติได้รับวัคซีนช่วงแรกคลอดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ต่อมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน คือเมื่อวาน มีเด็กเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน ที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เป็นเด็กชายอายุเพียง 10 เดือน บ้านอยู่ที่ตำบลลางา อำเภอมายอ ก่อนเสียชีวิต ครอบครัวพาเด็กส่งโรงพยาบาลมายอ เด็กมีอาการเป็นไข้ ตัวร้อน และมีผื่นขึ้นตามลำตัว ทั้งยังมีอาการหายใจหอบ และหน้าอกบุ๋ม ระหว่างเข้ารับการรักษา มีอาการแทรกซ้อนคือปอดบวม ทำให้ทางโรงพยาบาลมายอตัดสินใจส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลปัตตานี แต่เนื่องจากอาการหนักมากแล้ว ทำให้เสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 12.50 น.
การเสียชีวิตของเด็กทั้ง 2 คน ทำให้ยอดความสูญเสียจากการระบาดของโรคหัดรอบนี้สูงถึง 14 คนแล้ว แยกเป็นจังหวัดยะลา 10 คน ปัตตานี 4 คน แต่การระบาดของโรคยังกระจายไปที่จังหวัดนราธิวาสด้วย ปัจจุบันมีผู้ป่วยรวมทั้งสามจังหวัดมากกว่า 1,000 คน และจำนวนผู้ป่วยอาจสูงกว่านี้ เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอมที่เด็กต้องไปโรงเรียนและทำกิจกรรมด้วยกันอย่างใกล้ชิด จึงเสี่ยงต่อการติดโรคหัดมากขึ้น
สำหรับอันตรายของโรคหัดที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ เชื้อหัดจะติดต่อสู่บุคคลอื่น ช่วงก่อนปรากฏอาการ 5 วัน และหลังปรากฏอาการแล้วอีก 5 วัน จุดนี้ทำให้สังเกตยากมาก โรงพยาบาลต่างๆ จึงต้องวางมาตรการตั้งแต่รับผู้ป่วยนอกเข้ามา หากใครที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหวัด ต้องแยกจุดตรวจให้ชัดเจน ไม่ให้ปะปนกับคนอื่น หลายโรงพยาบาลต้องแยกไปอยู่ในห้องคัดกรอง โดยให้นั่งรถยนต์ที่ปิดมิดชิด ไปส่งถึงหน้าห้องคดัดแยก เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น เนื่่องจากผู้ป่วยโรคหัด 1 คน สามารถแพร่เชื้อได้ 18 คน
ขณะที่ นายแพทย์ สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า การฉีดวัคซีนหรือเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว ต้องรอ 2 สัปดาห์จึงจะได้ผล หมายถึงร่างกายมีภูมิต้านทาน ฉะนั้นหากใครหรือผู้ป่วยรายใดที่เพิ่งรับวัคซีนไป ช่วงสัปดาห์แรกจะยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้
นี่คือความน่ากลัวของโรคหัด ซึ่งยังคงมีระบาดอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งมีอัตราการรับวัคซีนของเด็กต่ำมาก ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของวงการสาธารณสุขไทย เพราะไทยมีแผนประกาศให้ประเทศปลอดจากโรคหัด 100% ในปี 2563 ตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับนานาชาติ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"โรดหัด"ระบาดลามปัตตานี ยอดตายพุ่ง 11 ชีวิต!