ประเทศกูมี : รอยต่อที่เปราะบาง
เรามักให้ความสำคัญแก่เทคโนโลยีดิจิทัลในแง่มุมของประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งเราก็ต้องยอมรับถึงความล่อแหลมและด้านเปราะบางของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ให้โอกาสและอิสสระแก่ผู้ใช้ทุกคนที่อาจนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองในทางใดทางหนึ่งได้เช่นกัน
หลังจากที่เพลง “ประเทศกูมี” ถูกนำเสนอโดย Rap Against Dictatorship เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพียงไม่กี่วันก็เรียกยอดเข้าชมยูทูปพุ่งขึ้นอย่างล้นหลาม เพราะนอกจากทำนองจะเร้าใจแบบแร็พแล้วเนื้อหายังเสียดแทงใจ ถูกใจและสะใจคนจำนวนมาก ยิ่งมีข่าวกระพือออกไปว่าเป็นเพลงที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายและเพลงถูกปิดกั้นในสื่อบางสื่อยิ่งกระตุ้นให้ผู้คนอยากเข้าไปฟังมากขึ้นและหากไปดูคอมเม้นในยูทูปจำนวนมากกลับกลายเป็นว่าเพลงนี้ได้รับเสียงเชียร์อย่างท่วมท้นสวนทางกับความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของสื่อสังคมออนไลน์ที่ท้าทายต่อการตรวจสอบและควบคุมจากภาครัฐ ซึ่งไม่ว่าประเทศใดก็ตามจะต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพียงแต่เราจะเข้าใจ ยอมรับและปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด
เรามักให้ความสำคัญแก่เทคโนโลยีดิจิทัลในแง่มุมของประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งเราก็ต้องยอมรับถึงความล่อแหลมและด้านเปราะบางของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ให้โอกาสและอิสสระแก่ผู้ใช้ทุกคนที่อาจนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองในทางใดทางหนึ่งได้เช่นกัน ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนในสังคมต่อการใช้เทคโนโลยีและการใช้วิจารณญาณจึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดสำหรับสังคมในยุคนี้
แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาแสดงความเสียใจต่อเพลงที่มีผู้นำเสนอโดยเห็นว่าเป็นการใส่ร้ายประเทศนั้นหากมองด้วยใจที่เป็นธรรมและดูเนื้อหาสาระของเพลงแล้วปุถุชนทั่วไปอาจมีความเห็นต่างจากรัฐบาลไม่ว่าจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาลหรือกองเชียร์ฝ่ายรัฐบาลก็ตามเพราะหลายต่อหลายท่อนของเพลงสะท้อนถึงความจริงที่มาจากสิ่งที่สื่อเคยนำเสนอมาแล้วทั้งนั้นผนวกกับความรู้สึกของผู้นำเสนอเพลงที่กำลังการสะท้อนความจริงที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในประเทศไทยซึ่งรัฐบาลหรือคนบางกลุ่มอาจรับไม่ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่การโทษว่าเป็นการใส่ร้ายประเทศน่าจะเป็นข้อกล่าวหาที่ค่อนข้างแรงเกินไป
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าหลายต่อหลายประโยคในเนื้อเพลงนั้นใช้คำที่ค่อนข้างแรงกว่าเพลงทั่วไปซึ่งจะว่าไปแล้วถ้าร้องกันในวงเหล้าหรือในกลุ่มโดยไม่ได้เผยแพร่ผ่านระบบคอมพิวเตอร์แล้วก็เป็นแค่เพลงเสียดสีประเภทหนึ่งที่ลำตัดการเมืองก็เคยร้องกันมาแล้ว
แต่สิ่งที่ผู้ทำเพลงไม่ควรกระทำคือการใช้คำหยาบคายมากมายเริ่มตั้งแต่เปิดเพลงไปจนถึงคำผรุสวาทต่างๆในเสียงแบคกราวนั้นไม่เหมาะสมต่อการนำเสนอต่อสาธารณะอย่างยิ่งแม้ว่าคำหยาบคายเหล่านี้จะเป็นสไตล์ของเพลงและช่วยสร้างอารมณ์และสีสันแบบแร็พได้มากเพียงใดก็ตาม
การก้าวเข้ามาสู่สังคมดิจิทัลเป็นการก้าวเข้ามาสู่สังคมที่มีความซับซ้อนยิ่งกว่าสังคมในโลกแอนะล็อกหลายเท่าเพราะนอกจากต้องใช้การบริหารจัดการที่เหมาะสมแล้ว ความเข้าใจต่อสภาพแวดล้อมของสังคมคือความละเอียดอ่อนที่มองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด การแสดงออกและการนำเสนอของนักดนตรีกลุ่มนี้และกลุ่มอื่นๆก่อนหน้าเริ่มทำให้สังคมได้เห็นแล้วว่าสิ่งต่างๆที่เราเคยอยากให้เป็นหรืออยากเห็นจะไม่เป็นไปแบบเดิมอีกต่อไปเมื่อสื่อสังคมออนไลน์อยู่ในกำมือของมนุษย์ทุกคน
การตำหนิหรือการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความกำกวมจึงเป็นความเปราะบางและล่อแหลมต่อความขัดแย้งต่อกระบวนความคิดของคนกลุ่มใหม่กับคนกลุ่มเดิมที่ยังมีความภักดีหรือยังสลัดภาพของโลกแอนะล็อกไม่หลุดซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมโลกที่เราคุ้นชินและต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการปรับตัว
ปัจจุบันแม้ว่าคนทุกวัยจะได้ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยมากเท่าใดก็ตามแต่สิ่งที่เราใช้คือเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่เราเท่านั้น แต่การรับรู้และการปรับเปลี่ยนแนวคิดเข้าไปสู่สังคมดิจิทัลยังเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเรียนรู้และต้องปรับแนวคิดให้สอดคล้องกับสังคมที่ยุ่งเหยิงด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดใหม่ที่ผสมปนเปกันไป ที่สำคัญคือเราต้องรู้ตัวเองอยู่เสมอว่าเรากำลังอยู่ในโลกดิจิทัลที่กว้างขวางกว่าโลกแอนะล็อกมากมายนักและเราสามารถสัมผัสความรู้สึกของผู้คนทุกคนในโลกได้เพียงแค่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือ โลกนี้จึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
นอกจากต้องปรับแนวคิดที่จะต้องก้าวให้ทันกับมนุษย์ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว รัฐบาลเองต้องทำใจให้กว้างและยอมรับพฤติกรรมบางประเภทของมนุษย์ในโลกดิจิทัลและต้องกำจัดความหวาดระแวงหรือความกลัวใดๆก็ตามที่อาจมีผลกระทบต่อการจำกัดสิทธิการใช้สื่อในการแสดงออกไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบเพลงหรือรูปแบบอื่นๆก็ตาม ที่สำคัญคือรัฐบาลไม่ควรออกตัว ตื่นตูมและใช้คำตำหนิที่รุนแรงเกินไปเพราะบางเรื่องสังคมรับรู้ได้และสามารถตัดสินถึงความถูก-ผิดและความเหมาะสมได้เช่นกัน
ดังนั้นเรื่องบางเรื่องอาจภาครัฐอาจต้องฝึกหัดใช้กระบวนการตัดสินแบบกระจายอำนาจให้เป็นประโยชน์นั่นคือให้สังคมเป็นผู้ตัดสินโดยรัฐไม่ต้องเปลืองตัวลงมาเล่นเอง เพราะเพลง ”ประเทศกูมี” เป็นแค่การสะท้อนความจริงผสมความรู้สึกด้วยแนวเสียดสีที่ผู้นำเสนอน่าจะเลือกแล้วว่าเป็นช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขามากกว่าการแสดงออกทางความรุนแรงหรือเกลียดชังในรูปแบบอื่น
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://mgronline.com/marsmag/detail/9610000107147