‘จาตุรนต์’ เชื่อเลือกตั้ง ปี 62 ส่อไม่เป็นธรรม เหตุปลดล็อกพรรคช้า-ฝาก กกต. หาเสียงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย
กกต. เชื่อมั่น เลือกตั้ง ปี 62 ไร้อุปสรรค ไม่มีอะไรน่าห่วง หาก คสช. เป็นผู้เล่น ต้องอยู่ในกรอบเดียวกับผู้สมัครพรรคการเมือง “จาตุรนต์” ชี้จะไม่เสรี-เป็นธรรม เหตุยังไม่ปลดล็อกทำกิจกรรม สื่อสารนโยบายกับ ปชช.
วันที่ 4 พ.ย. 2561 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ร่วมกับกลุ่มต่างๆ ในนามเครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (FFFE) และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จัดเวทีเสวนา “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม สถานการณ์ในสังคมไทย” ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายเมธา ศิลาพันธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มองว่า บทบัญญัติของกฎหมายไม่แตกต่างจากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งกกต. จัดมาแล้ว 5 ครั้ง และสามารถจัดการภายใต้ข้อจำกัดหรือสถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะปี 2557 แม้กฎหมายไม่เปลี่ยนแปลง แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก กลายเป็นอุปสรรค อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ เชื่อว่า สถานการณ์เช่นนั้นจะไม่มีแนวโน้มเกิดขึ้น ดังนั้น ถ้ามองในแง่อุปสรรคคิดว่ายังไม่มีอะไรน่าห่วง
ส่วนการมีอยู่ของ คสช.สามารถออกกติกาและแก้ไขได้ และมีแนวโน้มเป็นผู้เล่นเลือกตั้งนั้น รองเลขาธิการ กกต. ระบุ การมีอยู่ของคสช. เป็นไปตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เพราะฉะนั้นคสช.ไม่ได้เป็นองค์กรที่ไม่มีอะไรรองรับ แต่มีฐานอำนาจเหมือน กกต.
“จะบอกว่า กกต.ใหญ่กว่า คสช. คงพูดไม่ได้ เพราะคสช.เคยเอา กกต.ออกไปท่านหนึ่งแล้ว ดังนั้น เป็นการอยู่ด้วยกันตามเงื่อนไขที่รธน.กำหนด” นายเมธา กล่าว และว่า กกต.ทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายเขียน ฉะนั้นโอกาสที่จะส่งผลให้มีความไม่อิสระของกกต. ยังไม่เกิด แต่ถ้า คสช.เป็นผู้เล่น ต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาเดียวกันกับผู้สมัครในพรรคการเมืองอื่น ๆ
ขณะที่ รศ.ดร.โคทม อารียา อดีต กกต. เเละที่ปรึกษามูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงข้อกังวลในการเลือกตั้งจะมีความเสรีและเป็นธรรม โดยตีความ “เสรี” คือ เราต้องปลอดพ้นจากความกลัว ทำอะไรได้ตามธรรมชาติ ฉะนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความกลัว มาตรา 44 ก็กลัว อย่าให้มีบรรยากาศความหวาดกลัว ส่วน “เป็นธรรม” คือ การปฏิบัติเสมอกัน เท่าเทียม ซึ่งกังวลจะเกิดความไม่เท่าเทียมกัน เพราะผู้เล่นค่ายหนึ่งดูเหมือนว่าจะมีเอี่ยวกับอำนาจรัฐ พรรคการเมืองพรรคหนึ่งดูเหมือนว่าจะมีเอี่ยวกับผู้อ้างตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และยังเห็นว่า กกต. จะไม่มีความเสรี อาจอยู่ในความกลัว
“กกต.ต้องจับตาคนที่มีอำนาจรัฐว่า จะไม่เอาเปรียบ คนที่มีอำนาจเงิน ใครก็แล้วแต่ให้ยอมลดตัวลงมา อย่าหาเสียงด้วยวิธีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่สำคัญ กกต.พึ่งอำนาจรัฐไม่ได้ พึ่งผู้สมัครหาเสียงอย่างมีจรรยาบรรณคงยาก ดังนั้น ต้องพึ่งประชาชนสนับสนุนอยากเลือกตั้งให้สุจริตอย่างเที่ยงธรรม จึงจะเกิดความเสรี”
รศ.ดร.โคทม ยังกล่าวเรียกร้องให้ ยกเลิกรายการของ คสช. ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2561 แล้วยกเวลาให้ กกต. คุยเรื่องการเลือกตั้งและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแทน พร้อมตั้งคำถามว่า การโฆษณาฝ่ายเดียวจะเกิดความเที่ยงธรรมหรือไม่
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีข้อน่ากังวลมากมายทำให้เห็นชัดเจนแล้วว่า การเลือกตั้งครั้งนี้กำลังจะไม่เสรีและไม่เป็นธรรม เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมสำคัญได้ โดยเฉพาะการเตรียมทำนโยบาย เพื่อสื่อสารกับประชาชน หรือรับฟังความเห็นประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย ทำให้การเลือกตั้งด้อยความหมายไปมาก สิ่งที่ทำได้มากที่สุด เท่าที่เห็นมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พรรครวมพลังประชาชาติไทยกับพรรคพวก ได้แค่เดินทักทาย ยกมือไหว้ตอบรับหรือไม่ตอบรับ แต่จริง ๆ ควรให้ทำมากกว่านั้น และพรรคการเมืองอื่น ๆ ไม่ค่อยกล้าทำ ทั้งที่ความจริงถือเป็นเรื่องไร้สาระ ที่ให้พรรคการเมืองแค่แนะนำตัว แต่ควรต้องให้พูดเรื่องนโยบายที่เป็นสาระมากกว่านี้
นอกจากนี้คำสั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามชุมนุมทางการเมือง ห้ามหาเสียง สิ่งเหล่านั้นชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งไม่เสรี และเป็นธรรม เรามักได้ยินการพูดว่า จะห้ามพรรคการเมืองทำอะไร แต่ไม่เคยได้ยินว่าจะส่งเสริมอย่างไร จึงตั้งคำถามว่าเป็นการเลือกตั้งแบบไหน ความเข้าใจเรื่องหาเสียงจึงเกิดความเข้าใจผิดกันหมด ดังนั้นฝาก กกต. ทำความเข้าใจด้วยว่า การหาเสียงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ด้วยเหตุนี้การเลือกตั้งต้องให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ตลอดเวลา
“สิ่งที่ควรเป็นห่วงต่อพรรคการเมือง ไม่ใช่ห่วงว่าพรรคการเมืองจะทำอะไรผิด ควรเป็นห่วงว่า พรรคการเมืองจะทำสิ่งถูกกฎหมาย สิ่งที่ดี ทำไมจึงห้าม เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองยินดีจะทำตามกฎหมายทุกอย่าง เวลานี้ปัญหาคือจะทำตามกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งไม่ได้ เพราะขัดคำสั่งคสช. เพราะฉะนั้นหากจับประเด็นให้ถูกต้อง ไม่ต้องห่วงพรรคการเมืองส่วนใหญ่ แต่ขอให้ห่วงพรรคการเมืองที่เตรียมจะสนับสนุนผู้มีอำนาจให้สืบทอดอำนาจต่อไป ดังนั้นเป็นหน้าที่ของกกต.ช่วยดูว่า อย่าให้ผู้มีอำนาจไปใช้อำนาจให้พรรคการเมืองบางพวกหรือให้ประโยชน์พรรคการเมืองที่จะสนับสนุนตนเองให้สืบทอดอำนาจ” นายจาตุรนต์ กล่าว .