สื่อออนไลน์เตือนใช้โซเชียลมีเดีย ต้องระวังลิขสิทธิ์-กลั่นกรองข้อมูล-อ้างอิงที่มา
คนสื่อออนไลน์ ระบุโซเชียลมีเดียเปลี่ยนโลกสื่อสารเป็นสองทาง ข้อมูลหลากหลาย ดึงท้องถิ่นสู่พื้นที่สาธารณะ เตือนไม่มีอะไรเป็นความลับบนโลกออนไลน์ “คนเสพ-คนสร้างข่าว” ต้องกลั่นกรองข้อมูล
วันที่ 7 มิ.ย.55 ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัด “การอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้ Social Media ในงานข่าว” ที่สมาคมฯ โดย นายชวรงค์ ลิปม์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวเปิดการอบรมว่าแนวโน้มการสื่อสารได้เข้าสู่โลกข่าวออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคมีแหล่งข้อมูลหลากหลายมากกว่าเพียงสื่อเจ้าประจำ คนจะเสพข่าวจากการอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง อ่านจากเว็บไซต์เพิ่มขึ้น แต่อ่านจากเฟซบุ๊คมากกว่า ดังนั้นทุกองค์กรข่าวต้องให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะเฟซบุ๊ค หรือ กูเกิลพลัส
นายนิรันดร์ เยาวภาว์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่าข้อมูลบนโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักวิชาการด้านสื่อระบุว่ามีประโยชน์อย่างมากที่จะนำมาใช้ในกระบวนการทำข่าว ตั้งแต่การหาข้อมูล ติดต่อนัดหมาย เป็นพื้นที่นำเสนอ แต่โซเชียลมีเดียมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงต้องมีการปรับประยุกต์ใช้งาน
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณะบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าในอดีตมักเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ผู้บริโภคคอยรับสื่อ แต่ปัจจุบันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารและโฉมหน้าสื่อ เป็นการสื่อสารสองทางมากขึ้น ผู้บริโภคเปลี่ยนเป็นคนส่งสารและสื่อสารกันเองมากขึ้น และทุกคนมีเทคโนโลยีสื่อสารติดตัวที่พร้อมเป็นผู้นำเสนอได้ทันที จึงเกิดข้อมูลที่มากมายหลากหลาย
ดร.มานะ ยังกล่าวว่าโซเชียลมีเดียทำให้เกิดแหล่งข่าวใหม่ๆมากขึ้นอย่างไม่ถูกจำกัดด้วยภูมิศาสตร์ นักข่าวยุคใหม่ต้องทำหน้าที่เป็น Content Curatot (ผู้ดูแลเนื้อหาสื่อ) ซึ่งมีบทบาทเสาะแสวงกลั่นกรองสังเคราะห์รวบรวมข้อมูลนำเสนอสู่ประชาชน และนอกจากการสื่อสารไปสู่ Mass(สาธารณะ)แบบเดิม มีแนวโน้มที่ให้ความสำคัญกับ Local(ท้องถิ่น) มากขึ้น เช่น ภูมิศาสตร์ ภาค ความเชื่อ กลุ่มความสนใจ นักข่าวจึงต้องทำหน้าที่เป็น Community Manager (ผู้จัดการชุมชนสื่อสาร) เช่น เลือกประเภทข่าวสารและกิจกรรมที่เหมาะกับกลุ่ม ต้องทำงานร่วมกับโปรแกรมเมอร์ เว็บดีไซเนอร์ สร้างสรรค์รูปแบบสื่อให้น่าสนใจมากขึ้น
นางสาวเย็นจิตร์ สถิรมงคลสุข บรรณาธิการกลุ่มข่าววิทยุและนิวมีเดีย ไทยพีบีเอส กล่าวว่าข้อดีของสื่อดิจิตอลคือสามารถดูย้อนหลังได้ ผู้เสพข้อมูลไม่จำเป็นต้องอยู่บนหน้าจอแต่อยู่ที่ไหนก็ได้บนโลก สื่อยุคดิจิตอลได้เปลี่ยนโครงสร้างและรูปแบบการทำงานของกองบรรณาธิการข่าวไปจากเดิมมาก และนักข่าวต้องระมัดระวังกลั่นกรองข้อมูลจากโซเชียลมีเดียที่จะนำมาใช้ และระมัดระวังในการคอมเมนต์โดยเฉพาะการแสดงอารมณ์
นางสาวเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารและมวลชนสัมพันธ์ บริษัทกูเกิลประเทศไทย กล่าวว่าสถิติคนไทย 1 ใน 3 เข้าถึงอินเตอร์เน็ต คนไทยมีความคิดเห็นชัดเจนและยินดีจะแบ่งปันให้คนอื่นฟัง โลกออนไลน์ทำให้คนมีทางเลือกบริโภคสื่อมากขึ้น และ Tool(เครื่องมือ) บนโซเชียลมีเดียทำให้สื่อมวลชนสามารถสร้างข่าวได้ไม่จำกัดช่องทางการสื่อสาร รายงานข่าวได้ข้ามพ้นประเภทสื่อของตนเอง แต่มีโจทย์ว่าทำอย่างไรจะดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะการรายงานข่าว แต่หมายถึงการสร้างการมีส่วนร่วมในข่าว ทั้งนี้องค์กรสื่อมวลชนปัจจุบันให้ความสำคัญกับข้อมูลที่มีลักษณะท้องถิ่นมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่คนรู้สึกใกล้ตัว และถ้าสามารถสร้างความแตกต่างในแง่ของความเป็นท้องถิ่นได้ ก็จะสามารถสร้างเอกลักษณ์ของสื่อนั้นๆได้
นายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ที่ปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์ เว็บไซต์พันธุ์ทิพย์ดอทคอม กล่าวว่าไม่ควรคาดหวังมากกับความน่าเชื่อถือของข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งที่จะทำให้ข้อมูลเหล่านี้น่าเชื่อถือคือสื่อมวลชนที่นำข้อมูลไปเจาะและขยายต่อ ทั้งนี้ลักษณะของคนเล่นอินเตอร์เน็ตจะแตกต่างจากคนอ่านหนังสือพิมพ์ เช่น ไม่นิยมอ่านข่าวหรือดูคลิปยาวๆ การเลือกใช้โซเชียลมีเดียยังต้องดูที่ลักษณะเฉพาะและพลังในการเผยแพร่ของแต่ละเครื่องมือซึ่งมีอยู่หลากหลาย เช่น เว็บบอร์ด ยูทูป เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวว่าในโลกออนไลน์ไม่มีความลับ ทุกสิ่งที่ถูกโพสต์บนเว็บไซต์จะสามารถค้นเจอเนื้อหาและเจ้าของโพสต์ และ 80-90% เมื่อมีการโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย ผู้ถูกพาดพิงจะรับรู้ได้ ทั้งนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอบนโซเชียลมีเดีย ได้แก่ 1.กฏหมายลิขสิทธิ์ 2.กฏหมายหมิ่นประมาท 3.พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมีข้อควรระวังในการทำข่าวออนไลน์และนำข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมาใช้ เช่น ข้อมูลใดที่ไม่แน่ใจหรือเสี่ยงไม่ควรจะนำมาใช้ต่อ และเมื่อมีการนำข้อมูลภาพหรือโลโก้มาใช้ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาต้นทางที่น่าเชื่อถือให้ชัดเจน
“สิ่งที่ไม่มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายได้แก่ 1.เนื้อหาข่าวหรือข้อเท็จจริงประจำวันทั่วไป (ไม่รวมรูปแบบการเขียน) 2.คำพิพากษาศาล คำสั่งราชการ 3.กฏหมาย 4.คำสั่งกระทรวงทบวงกรม 5.การรวบรวมเนื้อหาที่ทำขึ้นโดยหน่วยงานรัฐ ถ้านอกจากนี้ถือว่ามีลิขสิทธิ์” นายไพบูลย์ กล่าว