สนช.เห็นชอบประกาศใช้ ร่างพ.ร.บ.ป.วิ.อาญา ช่วยคุ้มครองสิทธิของจำเลย
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบประกาศใช้ ร่างพ.ร.บ.ป.วิ.อาญา ช่วยคุ้มครองสิทธิของจำเลย -หนีคดีอาญาที่ทำให้คดีหยุดชะงัก ถูกแก้ไขโดยกม.ฉบับนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 167 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 172 คน และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ
สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวมีจำนวน 9 มาตรา มีความสำคัญเป็นการแก้ไขกฎหมายเดิมเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องที่ยังไม่เอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิของจำเลย เนื่องจากจำเลยที่อาจไม่มีทนายและไม่สามารถแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ศาลควรสั่งว่า คดีไม่มีมูล รวมถึงในชั้นพิจารณาคดี หากจำเลยไม่มาศาล ศาลไม่สามารถสืบพยานต่อไปได้ หรือจนกว่าจำเลยจะมา ทำให้คดีล่าช้า ส่งผลกระทบต่อหลักการอำนวยความยุติธรรมที่รวดเร็วและเป็นธรรม จึงมีการเพิ่มข้อกำหนดต่าง ๆ เพิ่มเติม อาทิ กรณีที่ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ดำเนินกระบวนการพิจารณากรณีจำเลยหลบหนีหรือไม่มารับฟังโดยไม่มีเหตุอันควร และครอบคลุมไปถึงกรณีจำเลยที่เป็นนิติบุคคลที่ถูกออกหมายจับ แต่ยังจับตัวไม่ได้ รวมทั้งกำหนดเรื่องการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการส่งสำเนาฟ้องและหมายเรียกให้แก่จำเลยด้วยจำนวนไม่สูงเกินสมควร
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ด้านนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. กล่าวถึงการที่สภาผ่านร่างพ.ร.บ.ป.วิ.อาญา (แก้ไขเพิ่มเติม) คุ้มครองสิทธิของจำเลยว่า จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตั้งทนายความช่วยเหลือจำเลย เพื่อให้สามารถแถลงให้ศาลทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่า คดีไม่มีมูล และให้อำนาจศาลสืบพยานลับหลังจำเลยได้ กรณีที่จำเลยหนีคดีและไม่มีผู้แทนอื่นของนิติบุคคลมาดำเนินการแทน อันทำให้เกิดความล่าช้าและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่มีต่อระบบศาลยุติธรรม และโดยเป็นการสมควรให้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่จำเลยที่มีจำนวนไม่สูงเกินสมควร และการหนีคดีอาญาที่ทำให้คดีหยุดชะงักจึงถูกแก้ไขโดยกม.ฉบับนี้
ที่มาภาพ:http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=10147#.W9v67B9tfIU