กางประกาศ ป.ป.ช.ใหม่ ไฉนตัดทิ้ง ‘กิ๊กลับ’ ไม่ต้องยื่น-เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน?
“…คำจำกัดความของ ‘กิ๊กลับ’ ที่อยู่กินโดยไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปนั้น เข้าข่ายอยู่ในประเภทเดียวกับ ‘บุคคลอื่น’ ที่หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า มีการนำทรัพย์สินไปซุกไว้ที่บุคคลอื่นโดยไม่แจ้ง ป.ป.ช. จะมีความผิดฐานจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือยื่นบัญชีเป็นเท็จอยู่แล้ว…”
จากกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส พ.ศ.2561
ระบุสาระสำคัญในข้อ 3 ว่า บุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐ และมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นคู่สมรสตามมาตรา 102 วรรคสอง และมาตรา 126 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2561 หรือมีหน้าที่ต้องยื่น และเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
(1) ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประเพณี
(2) เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว
ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐและต่อมาได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่า มีสถานะเป็นสามีหรือภริยากัน (อ่านประกาศฉบับเต็ม ที่นี่)
อย่างไรก็ดีตามร่างประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส ที่เคยร่างไว้ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น มีการระบุถึง (3) ให้นับรวมว่า บุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยากับเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งการอุปการะเลี้ยงดู แม้จะไม่ได้เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไป และมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) มีพฤติการณ์ในการรับรองบุตร
(ข) มีการทำมาหาได้ร่วมกัน
(ค) มีความสัมพันธ์ทางนิตินัย เช่น เป็นผู้รับมรดก เป็นผู้รับบำเหน็จหรือเป็นผู้รับผลประโยชน์อื่นใด มีการเปิดบัญชีธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน หรือมีการกู้เงินร่วมกัน เป็นต้น
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ ตาม (3) ของร่างประกาศเดิม เขียนให้ครอบคลุมไปถึง บุคคลที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาแต่มิได้จดทะเบียนสมรส และแม้ไม่ได้เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไป หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘กิ๊กลับ’ ก็จำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบด้วย
แต่ต่อมาในประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องดังกล่าวที่ลงในราชกิจจานุเบกษากลับตัด (3) ออกไป ?
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. ถึงสาเหตุในการตัด (3) ของร่างประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวออกไปว่า เบื้องต้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้บุคคลที่อยู่กินกันฉันสามีภริยา แม้ไม่ได้รับรู้โดยทั่วไปจากสังคมก็จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินส่วนนี้ด้วย
ต่อมาในชั้นรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานรัฐ และบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี สนช. และผู้เข้ารับฟังความเห็นบางรายทักท้วงว่า การกำหนดดังกล่าวค่อนข้างขยายขอบเขตเกินไป ที่สำคัญคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะใช้บรรดทัดฐานอะไรมาวินิจฉัยว่า บุคคลที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่เป็นที่รับรู้ของบุคคลทั่วไป คือ ‘กิ๊กลับ’ ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงนำมาปรับปรุงแก้ไขจนกลายเป็นประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว
“บางคนเขาอาจไปหาผู้หญิงคนหนึ่งปีละ 1-2 ครั้ง ตรงนี้ถือว่าเข้าข่ายบุคคลที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่เป็นที่รับรู้ของบุคคลทั่วไปหรือไม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะนำสืบจากอะไร มันขยายความกว้างมาก ตรงนี้เป็นคำถามจากหลายฝ่ายในการรับฟังความคิดเห็น” แหล่งข่าว ระบุ
ทั้งนี้คำจำกัดความของ ‘กิ๊กลับ’ ที่อยู่กินโดยไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปนั้น เข้าข่ายอยู่ในประเภทเดียวกับ ‘บุคคลอื่น’ ที่หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า มีการนำทรัพย์สินไปซุกไว้ที่บุคคลอื่นโดยไม่แจ้ง ป.ป.ช. จะมีความผิดฐานจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือยื่นบัญชีเป็นเท็จอยู่แล้ว
ส่วนคำถามที่ว่า ถ้า ‘กิ๊กลับ’ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้ว ป.ป.ช. จะตรวจสอบได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาการซุกทรัพย์สินไว้ที่บุคคลอื่น ย่อมตรวจสอบค่อนข้างลำบากอยู่แล้ว ?
แหล่งข่าวระดับสูงรายนี้ ยืนยันว่า อยู่ที่ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินที่ผู้ยื่นส่งมาให้ หากตรวจสอบพบว่า มีการซุกทรัพย์สินไว้กับ ‘กิ๊กลับ’ หรือบุคคลอื่น สามารถดำเนินการเอาผิดได้เลย และกระบวนการตรงนี้มันสามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งนักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแบบใหม่ มีการเพิ่มเติมตำแหน่งหลายร้อยตำแหน่ง จึงมีส่วนช่วยเราอย่างมาก
แหล่งข่าวระดับสูงรายนี้ ระบุด้วยว่า ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการกำหนดให้ผู้อยู่กินกันฉันสามีภริยาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงเหมาะสมแล้ว เพราะที่ผ่านมาปรากฏปัญหาว่า มีบางรายหย่ากับภรรยา แต่ยังคงอยู่กินกันอยู่ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบทรัพย์สินได้ ตรงนี้จึงเป็นการแก้ปัญหา ส่วนกรณี ‘กิ๊กลับ’ เข้าข่ายเดียวกับ ‘บุคคลอื่น’ หากมีการนำทรัพย์สินไปซุกโดยผู้ยื่นไม่แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน จะถูกดำเนินการไต่สวนเช่นเดียวกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : กาง กม.ป.ป.ช.ขรก.-นักการเมืองต้องยื่นทรัพย์สินหมดเปลือก-ปิดประตูถ่ายโอนให้กิ๊ก?