- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- กาง กม.ป.ป.ช.ขรก.-นักการเมืองต้องยื่นทรัพย์สินหมดเปลือก-ปิดประตูถ่ายโอนให้กิ๊ก?
กาง กม.ป.ป.ช.ขรก.-นักการเมืองต้องยื่นทรัพย์สินหมดเปลือก-ปิดประตูถ่ายโอนให้กิ๊ก?
“…เมื่อพิจารณาตามร่างกฎหมายลูก และร่างประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเขียนได้ค่อนข้างครอบคลุมว่า ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย จดทะเบียนสมรส หรือไม่จดทะเบียน หรือแอบอยู่กินกันโดยที่มีภรรยาหลวงอยู่แล้วก็ตาม จะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบด้วย ปิดประตูบรรดา ‘เสี่ย’ ทั้งหลาย ที่แอบไปมี ‘บ้านเล็กบ้านน้อย’ คอยถ่ายโอน หรือกระจายทรัพย์สมบัติให้เก็บไว้แทน ส่วนตัวเองก็แจ้งบัญชีทรัพย์สินแค่ ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ อย่างที่เคยทำมา…”
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังเป็นเป้า ‘ตำบลกระสุนตก’ อย่างต่อเนื่อง
หากไม่นับคดีความเรื่องทุจริตต่าง ๆ ที่ยังคาราคาซัง มีนักการเมืองถูกกล่าวหาหลายขั้ว-หลายรัฐบาล ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ‘สองมาตรฐาน’ ?
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กฎหมายสำคัญของสำนักงาน ป.ป.ช. ก็กำลังถูกพูดถึงอย่างหนาหู
โดยเฉพาะประเด็น ‘ปกปิด’ รายละเอียดทรัพย์สิน และข้อมูลการครอบครองทรัพย์สิน รวมถึงรูปถ่ายทรัพย์สิน โดยอ้างว่าป้องกันการ ‘โจรกรรม’ ข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ สวนทางกับคำพูดของ ‘บิ๊ก’ ใน ป.ป.ช. ที่ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้ เปิดช่องให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น ? (อ่านประกอบ : ประกาศ ป.ป.ช.ให้สิทธิปกปิดทรัพย์สินฉบับใหม่ 'ผูกขาดการตรวจสอบ-อุ้มนักการเมือง'?)
แม้ว่ามุ่งหมายประการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อต้องการขับเคลื่อนคดีให้เกิดความรวดเร็ว และตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐให้รัดกุมขึ้นกว่าเดิมก็ตาม
แต่ไม่อาจพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า กฎหมายฉบับนี้ จะมีส่วนร่วมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนตรวจสอบได้อย่างไร เพราะการปกปิดสารพัดข้อมูล โดยเฉพาะรายละเอียดสำคัญของทรัพย์สินต่าง ๆ ของนักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ที่ถูก ป.ป.ช. ‘ผูกขาด’ ไว้ตรวจสอบอยู่คนเดียว โดยที่ชาวบ้านได้แต่มองตาปริบ ๆ ไม่รู้ว่าขั้นตอนถึงไหน-โปร่งใสหรือเปล่า ?
นี่ยังไม่นับกรณีสำนักงาน ป.ป.ช. จะเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนเข้าไปดูได้ที่สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นเวลา 30 วัน และดูทางออนไลน์ได้แค่ 180 วัน จากเดิมที่ดูได้ตลอดเวลา ?
นอกจากนี้หากเข้าไปดูบัญชีทรัพย์สินที่สำนักงาน ป.ป.ช. จากเดิมสามารถถ่ายรูปเอกสารต่างในบัญชีทรัพย์สินได้ แต่ปัจจุบันถูกสั่งห้ามด้วย
อย่างไรก็ดียังมีบางมาตราที่ถือเป็น ‘คุณูปการ’ อยู่บ้าง เช่น การเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายตำแหน่งต้องยื่นทรัพย์สิน และเปิดเผยต่อสาธารณชน จากเดิมที่เปิดเผยเฉพาะนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และ สนช. เท่านั้น แต่ฉบับใหม่ได้เพิ่มเติมตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องยื่น และเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่กรรมการในองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องยื่นให้วุฒิสภาตรวจสอบ เป็นต้น
ขณะเดียวกันได้เพิ่มเติมตำแหน่งของ ‘บิ๊กลายพราง’ ให้ยื่นทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. อีกอย่างน้อย 79 เก้าอี้ ส่วนใหญ่เป็นระดับ ‘หัวโต๊ะ’ ของแต่ละกรม-กองทั้งนั้น (อ่านประกอบ : เปิด79ตำแหน่ง ป.ป.ช.สั่งยื่นทรัพย์สิน ‘รองปลัด กห.-กก.ช่อง5’-บิ๊กเหล่าทัพอื้อ)
ส่วนจะแค่ให้ยื่นเฉย ๆ หรือเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้หรือไม่ เป็นอีกกรณีหนึ่ง ?
อย่างไรก็ดีประเด็นสำคัญในร่างกฎหมายลูก ป.ป.ช. ฉบับนี้ คือ การกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของคู่สมรส ทั้งที่จดทะเบียนตามกฎหมาย และที่ยังไม่ได้จดทะเบียน
ที่สำคัญคือ ไม่ว่าปัจจุบันจะมี ‘บ้านเล็กบ้านน้อย’ กี่ราย แต่หากพิสูจน์ทราบได้ว่ายัง ‘กิ๊ก’ กันอยู่ ก็จำเป็นต้องยื่นให้หมดทุกราย เพราะหาก ป.ป.ช. ตรวจสอบเจอในภายหลังจะถือว่าจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน หรือยื่นทรัพย์สินเป็นเท็จได้ (อ่านประกอบ : กม.ป.ป.ช.ใหม่ให้ยื่นทรัพย์สินหมดทั้งเมียหลวง-เมียน้อย! สั่ง'บิ๊ก กห.-ทหาร'ด้วย)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงในร่างกฎหมายลูก ป.ป.ช. และร่างประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ในหมวด 4 การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน ส่วนที่ 1 การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และการตรวจสอบ มาตรา 102 กำหนดไว้ชัดเจนว่า คู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. จะต้องรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เบื้องต้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้คลอดร่างประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดลักษณะของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาอันถือว่าเป็นคู่สมรส ตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ออกมาแล้ว โดยกำหนดลักษณะในข้อ 3 ว่า ให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ ถือเป็นผู้อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และเป็นคู่สมรสมที่เจ้าพนักงานของรัฐต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ได้แก่
1.บุคคลที่ได้ทำพิธีมงคลสมรส หรือพิธีอื่นใดกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมีบุคคลภายในครอบครัว หรือบุคคลภายนอกรับทราบการอยู่กินเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย
2.บุคคลที่เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นสมีหรือภริยา
3.บุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยากับเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งการอุปการะเลี้ยงดู แม้จะไม่ได้เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไป และมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) มีพฤติการณ์ในการรับรองบุตร
(ข) มีการทำมาหาได้ร่วมกัน
(ค) มีความสัมพันธ์ทางนิตินัย เช่น เป็นผู้รับมรดก เป็นผู้รับบำเหน็จหรือเป็นผู้รับผลประโยชน์อื่นใด มีการเปิดบัญชีธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน หรือมีการกู้เงินร่วมกัน เป็นต้น
ขณะเดียวกันได้เปิดช่องให้กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้หรือการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นที่สุด
เมื่อพิจารณาตามร่างกฎหมายลูก และร่างประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเขียนได้ค่อนข้างครอบคลุมว่า ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย จดทะเบียนสมรส หรือไม่จดทะเบียน หรือแอบอยู่กินกันโดยที่มีภรรยาหลวงอยู่แล้วก็ตาม จะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบด้วย
ปิดประตูบรรดา ‘เสี่ย’ ทั้งหลาย ที่แอบไปมี ‘บ้านเล็กบ้านน้อย’ คอยถ่ายโอน หรือกระจายทรัพย์สมบัติให้เก็บไว้แทน ส่วนตัวเองก็แจ้งบัญชีทรัพย์สินแค่ ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ อย่างที่เคยทำมา
ท้ายสุดกฎหมายฉบับนี้ จะบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ คงต้องรอติดตามกันในอนาคต !