ผลวิจัยชี้ไทยมี 'นิทาน-อะนิเมชั่น' ปลูกฝังเด็กต้านคอร์รัปชันน้อยกว่าความซื่อสัตย์
นักวิจัยเผยผลศึกษาพบไทยผลิตนิทาน-อะนิเมชั่น ปลูกฝังเด็กต้าน 'คอร์รัปชัน' น้อย เหตุเนื้อหาซับซ้อน ส่วนใหญ่เน้นปูพื้นฐานความซื่อสัตย์ เเนะเพิ่มสื่อใหม่เข้าถึงเเต่ละช่วงอายุ
วันที่ 1 พ.ย. 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย จัดสัมมนา การศึกษาเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน :จากบทเรียนสู่การปฏิบัติ ณ โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน นักวิจัย โครงการพัฒนาศูนย์ทดลองการออกแบบสถาปัตยกรรมและกลไกสร้างสำนึกต่อสังคม หรือ Social Integrity Architectureand Mechanism Design Lab (SIAM lab) กล่าวในหัวข้อ สื่อกับการปลูกฝังความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันในเด็ก :กรณีศึกษาไทย โดยระบุถึงข้อค้นพบจากการศึกษาตอนหนึ่งว่า นิทานและอะนิเมชั่น สำหรับเด็กที่ผลิตขึ้นเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันโดยตรงมีน้อยชิ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการอธิบายเรื่องความซื่อสัตย์ อาจมีสาเหตุจากคอร์รัปชันเป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อนสำหรับเด็ก เพราะฉะนั้นการผลิตสื่อจึงเน้นความซื่อสัตย์เพื่อปูพื้นฐานให้เข้าใจก่อน
ขณะที่รูปแบบของสื่อที่ใช้ อยู่ในรูปของหนังสือ อะนิเมชั่น และสื่อออนไลน์ หรือใช้สื่อหลายรูปแบบผสมผสานกัน ทั้งนี้ นิทานและอะนิเมชั่นเรื่องความซื่อสัตย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างโดด ๆ แต่ต้องผสมไปกับคุณธรรมอื่น ๆ ที่คอยสนับสนุนความซื่อสัตย์ด้วย เช่น ความรับผิดชอบ ความพอเพียง ความเป็นธรรม จิตสาธารณะ
นอกจากนี้กรณีศึกษาของไทย นักวิจัย SIAM lab ยังพบว่า ส่วนใหญ่การผลิตสื่อมุ่งเน้นการสั่งสอนจากบนลงล่าง เช่น ครู พ่อแม่ พระ คอยทำหน้าที่อธิบายสิ่งไหนผิดหรือถูก และมีการนำพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในประเด็นเรื่องความซื่อสัตย์มาใช้มากในระยะหลัง รวมถึงนำเอาชีวประวัติของบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์ เช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาใช้
ตลอดจนนำอะนิเมชั่นที่มีอยู่เดิมและเป็นที่รู้จัก เช่น ก้านกล้วย ชุมชนนิมนต์ยิ้ม มาปรับใช้กับเนื้อหาเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน จะเป็นสื่อที่เข้าถึงเด็ก ๆ ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการสร้างสื่อใหม่เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันโดยเฉพาะ แต่จะเป็นการใช้สื่อที่มีอยู่แล้วแทน
“ไม่น่าจะเป็นข้อด้อย เพราะสื่อที่มีอยู่แล้ว เด็กจะติดตามได้ง่ายกว่าการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ อย่างไรก็ดี สนับสนุนให้มีการสร้างสื่อใหม่ขึ้นมา”
ผศ.ดร.กุลลินี กล่าวถึงความแตกต่างจากในต่างประเทศที่มีการผลิตสื่อนิทานและอะนิเมชั่นใช้ต่อต้านคอร์รัปชัน เน้นให้เด็กมีบทบาทสำคัญในการตั้งคำถาม ไม่อธิบายจากบนลงล่าง ใช้สื่อหลากหลายประเภท เช่น เกมส์คอมพิวเตอร์ ภาพวาดการ์ตูนใช้ร่วมกัน ยกตัวอย่าง ฮ่องกง ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน สร้างตัวแสดงเด็ก 4 คน ขึ้นมาเป็นตัวแทนของเด็กในการต่อต้านคอร์รัปชันและนำเกมส์คอมพิวเตอร์ในรูปแบบที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงอายุตั้งแต่ชั้นอนุบาล เป็นต้น
ท้ายที่สุด มีข้อเสนอแนะว่า สื่อต่าง ๆ เช่น นิทาน และอะนิเมชั่น ที่เป็นสื่อใช้กันเป็นหลักในการปลูกฝังคุณธรรมความซื่อสัตย์และการต่อต้านคอร์รัปชันในไทย ควรเน้นย้ำบทบาทของเด็กในการต่อต้านคอร์รัปชัน สร้างสมดุลของแนวทางในการอบรมสั่งสอนจากบนลงล่าง โดยให้น้ำหนักกับการคิดอย่างวิพากษ์และการแก้ปัญหาของเด็ก จะช่วยให้ได้เรียนรู้จากการใช้วิจารณญาณของตนเอง ผ่านการชี้ให้เห็นถึงสาเหตุ ทางเลือกต่าง ๆ ของการกระทำและผลกระทบของการกระทำที่ไม่ซื่อตรงหรือคอร์รัปชัน และควรเพิ่มเติมสื่อในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้เข้าถึงหรือเหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงอายุมากขึ้น .